fbpx
Home
|
ไลฟ์สไตล์

การกลั่นแกล้งในสังคมไทยรับมืออย่างไรดี

Featured Image
  • จากการสำรวจของกรมสุขภาพจิตเผยว่าประเทศไทยมีสถิติกลั่นแกล้งในโรงเรียนปีละประมาณ 600,000 คน สูงเป็นอันดับที่ 2 ของโลก
  • ยูนิเซฟรายงานว่าปัญหาการกลั่นแกล้งนั้นเกิดขึ้นทั่วโลก
  • การกลั่นแกล้งเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ความรุนแรง และท้ายที่สุดอาจนำไปสู่ปัญหาการฆ่าตัวตายได้ 

          น่าตกใจไหมครับกับตัวเลขดังกล่าว โดยเฉพาะตัวเลขของประเทศไทยเราเอง ตัวผู้เขียนเองก็เคยถูกกลั่นแกล้งในวัยเด็กเช่นกัน ปัญหานี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เป็นปัญหาที่เราต้องช่วยกัน อย่างแรกเราต้องทำความเข้าใจกับมันก่อน เข้าใจว่ามันคืออะไร เกิดจากอะไร รับมือยังไง เพื่อสังคมที่ดีขึ้นของตัวเราเองและลูกหลานของเราในอนาคต

          การกลั่นแกล้งคืออะไร 

          การกลั่นแกล้งหรือบูลลี่(Bullying) หากเข้าใจง่ายๆคือพฤติกรรมก้าวร้าวประเภทหนึ่ง การกระทำที่ทำให้อีกบุคคลได้รับอันตรายทางร่างกายหรือความเจ็บปวดทางจิตใจ การกลั่นแกล้งที่พบเห็นได้บ่อยมักจะเกิดขึ้นเมื่อมีความแตกต่างระหว่างบุคคลเช่น เพศ เชื้อชาติ ศาสนา รูปลักษณ์ภายนอก หรือแม้กระทั่งฐานะ 

          จากผลสำรวจพบว่าวัยที่โดนบูลลี่มากที่สุดนั้นคือช่วงอายุ 13-15 ปี แต่ในช่วงวัยอื่นก็สามารถเกิดได้เช่นกัน แม้กระทั่งตอนที่เราโตแล้วการกลั่นแกล้งอาจจะมาในสังคมออนไลน์ที่เราเรียกว่า Cyberbullying จะมาในรูปแบบที่ทำให้เราต้องเสียหาย อับอาย หมิ่นประมาท เพราะฉะนั้นพอสรุปได้ว่าการบูลลี่นั้นเป็นสิ่งที่อยู่เกือบทุกที่ทุกวัย 

          การบูลลี่ส่งผลเสียแค่ไหน

          ขอยกข้อความที่อธิบดีกรมสุขภาพจิตของไทยเคยพูดไว้มาอธิบายผลเสียของการถูกบูลลี่

          “การรังแกกันหรือล้อเลียนกันในโรงเรียน เป็นจุดเริ่มต้นและเป็นการปลูกฝังเด็กเรื่องความรุนแรง การทำร้ายกัน มีผลกระทบต่อเด็กทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งอารมณ์ จิตใจ ร่างกายและคุณภาพชีวิตในระยะยาว นักเรียนที่ถูกรังแกมักเครียด ซึมเศร้า มีปัญหาการเข้าสังคมจนโต หากถูกกดดันรุนแรงหรือเรื้อรัง จะนำไปสู่การทำร้ายคนอื่นเพื่อแก้แค้น หรือทำร้ายตนเอง รุนแรงถึงฆ่าตัวตาย ขณะที่นักเรียนที่รังแกคนอื่น เมื่อทำบ่อยครั้งจนกลายเป็นนิสัยเคยชิน จะมีปัญหาบุคลิกภาพแบบใช้ความก้าวร้าว ความรุนแรงต่อผู้อื่น ความรู้สึกผิดน้อย ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา เป็นอันธพาล หรืออาชญากรได้ สังคมจึงต้องช่วยกันใส่ใจ เร่งสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน เพื่อลดการสูญเสียคุณภาพประชากรในสังคมที่เกิดจากผลกระทบปัญหานี้ในระยะยาว”

          นอกจากนี้ยังขอสรุปรวมจากหลายๆงานที่อ่านมาพบว่า ผลเสียของการที่ถูกบูลลี่คือทำให้หมดความมั่นใจ ไม่กล้าที่จะทำอะไร อยากแก้แค้น การกลั่นแกล้งเองก็เป็นหนึ่งในสาเหตุการฆ่าตัวตายในวัยรุ่น เราอาจเคยได้ยินคำว่า แซวเล่นเอง แค่นี้ ขำๆ ในความมันเป็นจริงแล้วมันไม่ถูกต้อง

          ทำไมถึงเกิดการบูลลี่ 

          ขอสรุปจากเว็บไซต์ schoolofchangemakers ที่อ้างอิงบทความ 7 Reasons Why ทำไมเราถึง Bully คนอื่น 

  1. ความเครียด การบูลลี่เป็นการระบายออกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นการระบายของเชิงลบเช่นเดียวกับการดื่มแอลกอฮอล์ 
  2. พฤติกรรมก้าวร้าว พฤติกรรมนี้อาจเกิดขึ้นเมื่อตัวเองนั้นมีปัญหาแล้วพยายามที่จะทำร้ายความรู้สึกของผู้อื่นเพื่อกลบเรื่องราวที่ตัวเองเผชิญมาจึงทำให้เกิดการแสดงออกโดยผ่านพฤติกรรมที่ก้าวร้าว 
  3. เพิ่มความมั่นใจให้ตัวเอง หนึ่งในสาเหตุของการกลั่นแกล้งผู้อื่นก็เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้ตัวเอง พยายามหาข้อเสียของคนอื่นเพื่อให้ตัวเองรู้สึกเหนือกว่า กลบข้อด้อยในจิตใจ 
  4. เคยถูกแกล้งมาก่อน เพราะเราเคยถูกแกล้งมาก่อน เราจึงต้องแกล้งคนอื่นต่อ นอกจากนี้ยังมีการแกล้งตามเพื่อน เพราะกลัวไม่ได้การยอมรับ
  5. มีปัญหาครอบครัว 1 ใน 3 ของผู้ที่แกล้งผู้อื่น กล่าวว่า ครอบครัวให้เวลาไม่เพียงพอต่อพวกเขา หรือบางคนก็มาจาครอบครัวที่ใช้ความรุนแรง ส่งผลทำให้พวกเขาแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมเชิงลบ 
  6. ความไม่รู้ บางคนที่บูลลี่คนอื่นนั้นไม่รู้จริงๆว่า คำพูด การกระทำดังกล่าวจะสร้างบาดแผล สร้างความเสียใจให้แก่ผู้อื่น สาเหตุนี้มาจากการที่ไม่ได้รับการสอนอย่างถูกวิธี 
  7. รักษาความสัมพันธ์  เพื่อที่จะรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อน จึงต้องกลั่นแกล้งคนอื่นด้วย เพราะไม่อย่างนั้น อาจจะเข้ากับกลุ่มเพื่อนไม่ได้หรือโดนแกล้งเสียเอง 

          เราอาจไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเพื่อน น้อง ลูก หลาน ของเรากำลังถูกบูลลี่ 

          มีงานวิจัยจากศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรรมและการทดลอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ชี้ว่า ผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่มักจะไม่เล่าปัญหาที่เกิดขึ้นให้ใครฟัง มีเพียง 34% เท่านั้นที่จะยอมเล่า โดยจะเล่าให้เพื่อนฟังก่อน รองลงมาเป็น พี่น้อง ครูประจำชั้น สุดท้ายคือพ่อแม่หรือผู้ปกครอง 

          แล้วจะสังเกตอย่างไรดี?

          ในเมื่อน้อยคนที่จะบอกเมื่อถูกกลั่นแกล้ง แล้วเราจะสังเกตอย่างไรดีว่าลูกหลานของเราถูกบูลลี่ ลองดูสัญญาณบางอย่างตามนี้

  • บาดแผลหรือรอยฟกช้ำที่ไม่สามารถอธิบายได้
  • เสื้อผ้า หนังสือ อุปกรณ์การเรียน หรือสิ่งของนั้นมีความเสียหายหรือหายไปแบบไม่มีสาเหตุ
  • ทานอาหารได้น้อยลง เบื่ออาหาร
  • มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ
  • อารมณ์อ่อนไหว
  • หลีกเลี่ยงการไปโรงเรียน 
  • ไม่อยากออกไปเล่นกับเพื่อน
  • ไม่สบายบ่อยๆ มีอาการปวดหัว ปวดท้อง 
  • ลักษณะพฤติกรรมเปลี่ยนไปโดยไม่สามารถอธิบายได้ 

          ลองสังเกตเบื้องต้นดู แน่นอนว่ามันคงไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะมันอาจจะเป็นอาการของอย่างอื่นด้วยก็ได้ ถ้าจะให้ชัวร์ที่สุดก็คือต้องมีการพูดคุยกับเจ้าตัวหรือพบผู้เชี่ยวชาญ 

          รับมืออย่างไรดีกับปัญหาการกลั่นแกล้งในสังคมไทย

          จากที่อ่านมาจากหลายๆงาน เอาจริงๆเป็นปัญหาที่ใหญ่มากเลยนะทุกคน ตั้งแต่ประชาชนจนรัฐบาลต้องช่วยกันแก้ไขกันอย่างจริงจัง แต่แน่นอนคำเดิมที่หลายคนคุ้นชินกัน ยังไงก็คงต้องเริ่มจากตัวเราเองก่อน 

          1.ใส่ใจลูกหลานของเรา 

          ใส่ใจในที่นี้เริ่มตั้งแต่การดูแลเลี้ยงดู มีเวลาให้เขา สอนในสิ่งที่ถูกต้อง ให้เขาเข้าใจว่าการกลั่นแกล้งผู้อื่นไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง สอนให้เขารับมืออย่างถูกวิธี และแน่นอนว่ารวมถึงการใส่ใจสังเกตความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นจากการถูกกลั่นแกล้ง ให้พวกเขาไว้วางใจเราให้มากที่สุด

          2.เป็นแบบอย่างที่ดี

          ไม่ใช้ความรุนแรงในครอบครัว เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกของเรา พวกเขาจะมองและเอาเราเป็นตัวอย่างและพวกเขาก็มีแนวโน้มที่จะนำมันไปใช้กับเพื่อนของเขาเช่นกัน

          3.สนับสนุนการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง

          ในโรงเรียนมักมีการประชุมผู้ปกครอง การเปิดโอกาสให้โรงเรียนทำกิจกรรมอะไรสักอย่าง การเสนอเรื่องการกลั่นแกล้งในโรงเรียนก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้การสนับสนุนด้านวิชาการ โรงเรียนเป็นที่ที่ถูกกลั่นแกล้งมากที่สุด การสนับสนุนให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในโรงเรียนจะช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้ 

          4.รับฟังเด็กที่เกเร

          อย่าลืมว่าเด็กที่ใช้ความรุนแรงหรือกลั่นแกล้งผู้อื่นเขาอาจจะมีปัญหาจากที่บ้านหรือจากสังคมที่เขาอยู่ การตัดสินลงโทษตีตราว่าเด็กคนนี้ไม่ดีและใช้ความรุนแรงกับเขาไม่ได้ช่วยอะไร ทางที่ดีคือรับฟังเขา คอยให้คำปรึกษาและช่วยกันแก้ไขจะดีที่สุด 

          ส่วนในวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่หน่อยการกลั่นแกล้งที่เกิดขึ้นน้อยครั้งที่จะเป็นการกลั่นแกล้งทางร่างกาย ส่วนใหญ่จะมารูปแบบคำพูดที่ทำร้ายจิตใจ อารมณ์แบบแกล้งเล่น ทางที่ดีคือควรพูดคุยกันด้วยเหตุผลว่าเราไม่ชอบ หากทำแล้วไม่เห็นผลก็หลีกเลี่ยงแล้วมาอยู่กับคนที่ดีกับเราจะดีกว่า หากเลี่ยงไม่ได้ก็พยายามอย่าใส่ใจหรือปรึกษาหัวหน้างาน ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

          การกลั่นแกล้งหรือบูลลี่กลายเป็นปัญหาที่ทั่วโลกต้องให้ความสำคัญ ง่ายที่สุดคือเริ่มจากตัวเราเอง และพยายามส่งเสียงให้ดังเพื่อให้มันกลายเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขปัญหาจริงๆจังๆต่อไป

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

ขอขอบคุณข้อมูล 

healthline

กรมสุขภาพจิต 

schoolofchangemakers

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube