Home
|
ไลฟ์สไตล์

วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก วันที่สะท้อนความโหดร้ายของมนุษย์

Featured Image

          วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก (World Wildlife Day) ตรงกับวันที่ 3 มีนาคมของทุกปี จุดประสงค์เพื่อให้เห็นความสำคัญของป่าไม้ สัตว์ป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ เห็นถึงประโยชน์ที่ธรรมชาติได้มอบให้มนุษย์ แต่หากมองลึกลงไปแล้ว วันนี้เป็นอีกวันที่สะท้อนความโหดร้ายของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี 

          ที่มาของวัน  วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก

          วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลก มีชื่อภาษาอังกฤษว่า World Wildlife Day ถูกกำหนดขึ้นจากมติที่ประชุมภาคี อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศเกี่ยวกับสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ 16 หรือ CITES CoP16 ซึ่งจัดที่กรุงเทพมหานคร ประเทศไทยเรานี่เอง 

          เนื่องด้วยครั้งที่ 16 ที่จัดในระหว่างวันที่ 3-14 มีนาคม 2556 เป็นการครบรอบ 40 ปีของการกำเนิดอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือที่เราคุ้นหูคุ้นปากกันว่า ไซเตส(CITES) ตอนนั้นประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพเลยเสนอที่ประชุม ขอความเห็นชอบในการกำหนดให้วันที่ 3 มีนาคม ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่มีการลงนามรับรองอนุสัญญา ไซเตส ที่กรุงวอชิงตัน พอดี 

          ที่ประชุมเลยเห็นชอบแล้วลงมติให้วันที่ 3 มีนาคมของทุกปี เป็นวันสัตว์ป่าและพีชป่าโลก 

          ขยายความ ไซเตส (CITES)

          อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora) หรือเรียกโดยย่อว่า ไซเตส (CITES) และเป็นที่รู้จักในชื่อ อนุสัญญากรุงวอชิงตัน (Washington Convention) 

          สาระสำคัญของสัญญาคือ การอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าและพีชที่ใกล้จะสูญพันธุ์หรือกำลังถูกคุมคาม วิธีการหลักที่นำมาใช้คือ สร้างเครือข่ายทั่วโลกเพื่อควบคุมการค้าระหว่างประเทศ ทั้งสัตว์ป่า พืชป่า ผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยจะมีชนิดระบุไว้ห้ามนำเข้า ส่งออก หรือค้าขาย มีระบบหนังสือรับรองอย่างถูกต้อง ตัวอย่างสัตว์ป่าที่ห้ามค้าขายโดดเด็ดขาด แพนด้าแดง ,กอริลลา ,ช้างเอเชีย ,สิงโตอินเดีย 

          วันนี้สะท้อนความโหดร้ายของมนุษย์ อย่างไร

          หากกล่าวว่าวันนี้เกิดขึ้นเพราะฝีมือมนุษย์ก็คงไม่ผิดเท่าไร ไม่ใช่ว่ามนุษย์เป็นผู้กำหนดวันขึ้น แต่เป็นเพราะการล่าและการรุกล้ำพื้นที่ป่าจนทำให้สัตว์ต้องสูญพันธุ์ไปจำนวนมาก เช่น นกโดโด แรดดำตะวันตก เสือโคร่งชวา หมีกริซลีเม็กซิโก ทั้งหมดล้วนเกิดจากฝีมือมนุษย์ที่ล่าเพราะความต้องการ ความสนุกมากกว่าความอยู่รอด

          นอกจากนี้จากรุกล้ำพื้นที่ป่าก็ทำให้ระบบนิเวศน์เสียและส่งผลกระทบต่อโลกอย่างมหาศาล มีบทความหนึ่งที่เขียนเกี่ยวกับโรคระบาด มีข้อความหนึ่งที่น่าสนใจมากเขาสรุปไว้ว่า วิธีหยุดยั้งโรคระบาดครั้งต่อไป(คือต่อจากโควิด-19) ที่ดีที่สุดคือการหยุดรุกล้ำสัตว์ป่าและป่าไม้ 

          ให้เห็นภาพชัดขึ้นอีกสักนิด หลายคนอาจเคยเห็นภาพ แรดสีขาว ที่มีทหารถือเฝ้าอยู่ตลอดเวลา นั้นคือ แรดซูดาน เป็นแรดขาวเหนือ ที่ถูกล่าจนหมด ทำให้เจ้าแรดตัวนี้เป็นที่ต้องการอย่างมากจากตลาดมืด จนต้องให้ทหารมาเฝ้าตลอดเวลา (ปัจจุบันแรดขาวตัวนี้เสียชีวิตเป็นที่เรียบร้อยด้วยสุขภาพที่ทรุดโทรม) ทำให้แรดขาว เหลือเพียง 2 ตัวบนโลกใบนี้ 

          เจ้าหน้าที่สวนสัตว์ ที่เคยดูแลซูดานกล่าวไว้ว่า 

          “การตายของซูดานเป็นสัญลักษณ์อันโหดร้าย ของความไม่สนใจธรรมชาติของมนุษย์” 

          วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลกในปี 2021 

          วันสัตว์ป่าและพืชป่าโลกในปีนี้มาให้หัวข้อ “Forests and Livelihoods : Sustaining People and Planet” สื่อถึง ป่าไม้และวิธีชีวิตช่วยให้มนุษย์และโลกนี้อยู่ได้ เพราะในช่วงที่ผ่านมาป่าไม้ได้ช่วยให้ระบบนิเวศน์ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตของผู้คนทั่วโลก โดยเฉพาะคนในพื้นที่ คนท้องถิ่น ที่มีประวัติศาสตร์อยู่กับป่าและสัตว์ป่า พันธุ์ไม้ทั้งหลายยังช่วยให้โลกดีขึ้นจากสิ่งที่เรากำลังเจออยู่ไม่ว่าจะเป็น ภาวะโลกร้อนและโรคร้ายโควิด-19 

          อย่างน้อยมนุษย์ก็เริ่มเห็นความสำคัญมากขึ้น และหวังว่าจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่เช่นนั้นจุดจบของมนุษย์เรา อาจมาจากการไม่เห็นความสำคัญของวันสัตว์ป่าและพืชป่าโลกก็เป็นได้ 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก 

กรมป่าไม้

wildlifeday

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube