fbpx
Home
|
คลิปข่าวทั่วไป

ปังรึพังกู้หนี้เกินเพดานแก้วิกฤติศก.โควิด

ปังรึพังกู้หนี้เกินเพดานแก้วิกฤติศก.โควิด

คงมีหลายคนสงสัยว่าในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด -19 เศรษฐกิจชะลอตัว ภาคเอกชนดำเนินธุรกิจได้ไม่เต็มที่จากภาวะการล็อกดาวน์ เพื่อยับยั้งการแพร่เชื้อ คงหนีไม่พ้นเครื่องมือจากภาครัฐที่จะเข้ามาผลักดัน ให้เศรษฐกิจเดินหน้าและพยุงภาคธุรกิจรอดพ้นวิกฤติในครั้งนี้ ซึ่งประเด็นที่พูดกันหนาหูมากที่สุดคือเรื่องการกู้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและฟื้นฟูสภาวะเศรษฐกิจรวมไปถึงการเยียวยาภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

หากมองไปถึงวินัยการเงินการคลังที่ระบุไว้ตามกฎหมาย หนี้สาธารณะจะต้องไม่เกินร้อยละ 60 ของ ผลิตภัณฑ์มวลรวมเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี นั่นเอง ซึ่งอาจเป็นข้อกำหนดที่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าสามารถปรับให้ยืดหยุ่นได้ โดยใช้อำนาจของกระทรวงการคลังในการประเมินทุกๆ 3 ปี ว่าระดับหนี้สาธารณะควรจะอยู่ในระดับใดในภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ปกติซึ่งอาจปรับขยายเพดานหนี้สาธารณะได้มากกว่าร้อยละ 60 นั่นเอง

โดยนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เคยออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 คาดว่าอาจมีความยืดเยื้อ และยอมรับว่าปัญหาเศรษฐกิจในครั้งนี้แก้ยากกว่า วิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 เนื่องจากมีผลกระทบเป็นวงกว้างและเกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งการกู้เงินของภาคการคลังที่เป็นสิ่งที่จำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการต่างๆ ดังนั้นหากจะมีการกู้เงินของรัฐบาลจนทำให้มีหนี้สาธารณะขยับขึ้นไปที่ระดับร้อยละ 70 ต่อจีดีพี ก็ไม่น่ากังวล เพราะเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำโดยเร็ว เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจทรุดตัวไปมากกว่านี้ แม้จะมีการกู้ที่สูงในระดับดังกล่าว แต่สภาพคล่องในระบบยังมีเพียงพอรองรับได้ และไม่กระทบกับเสถียรภาพของประเทศ แต่ภาคการคลังต้องมีแผนระยะยาวรองรับเพื่อดูแลหนี้ที่เกิดขึ้น
เนื่องจากการ lockdown รอบล่าสุดยิ่งซ้ำเติมธุรกิจ และภาคครัวเรือน ส่งผลให้ฐานะการเงินมีความเปราะบางสูงขึ้น

ดังนั้นการให้สัมภาษณ์ของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ถือว่ามีความเป็นห่วงภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน แต่การดำเนินมาตรการการคลังต้องมีความรัดกุมในระยะยาว

 

 

ซึ่งอาจมีความเห็นที่แตกต่างจากอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอย่าง นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ที่มองว่า การดำเนินนโยบายการคลังของรัฐบาลปัจจุบัน ที่แก้ไขปัญหาไม่ตรงจุดเท่าที่ควร โดยเฉพาะการกระจายเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากมากจนเกินไป อาจทำให้การกู้เงินของรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาในระยะข้างหน้ามีปัญหาได้ เนื่องจากระดับเพดานหนี้พุ่งสูงขึ้นใกล้ระดับร้อยละ 60 ของจีดีพี ซึ่งอาจทำให้อนาคตการดำเนิน นโยบายด้านการคลังอาจมีปัญหาได้ เนื่องจากอาจไม่มีวงเงินสำหรับการกู้พอดำเนินการแก้ไขปัญหาซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขโดยเร็ว

ซึ่งทั้งสองความเห็นอาจเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องมาชั่งน้ำหนักในการดำเนินนโยบายการคลังในอนาคตเพื่อความรัดกุมตรงจุดและให้เศรษฐกิจไทยผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปได้

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube