fbpx
Home
|
ไลฟ์สไตล์

หรืออิสระของผู้หญิงมาจากผี? ถอดประเด็นพลังหญิงผ่าน ‘ร่างทรง’

Featured Image

          ‘ร่างทรง’ ภาพยนตร์แนวสยองขวัญลูกครึ่งไทย-เกาหลี ถ่ายทอดวิถีชีวิตที่ผูกไว้กับความเชื่ออย่างอาชีพร่างทรง ได้เป็นอย่างดีด้วยความหลอนแบบผีไทยจนกลายเป็นหนังที่ใครต่อใครต่างก็พูดถึงความน่ากลัวของย่าบาหยัน มิ้ง ป้านิ่ม และลูกหลานผู้หญิงตระกูลยะสันเทียะทุกคน ที่เป็นตัวดำเนินหลักในภาพยนตร์

          เส้นทางชีวิตของผู้หญิงตระกูลยะสันเทียะที่ถูกกำหนดให้เป็นร่างทรงย่าบาหยันสืบต่อกันมา พาเราเข้าสู่ความน่ากลัวของภูตผีวิญญาณร้าย หากตัดเรื่องไสยศาสตร์ออกไปแล้วมองใหม่ในมุมเพื่อนหญิงพลังหญิงแบบเฟมินิสต์แล้ว ‘ร่างทรง’ ถ่ายทอดชีวิตความเป็นอยู่ของหญิงไทยใต้สังคมปิตาธิปไตยได้น่ากลัวกว่าผีเสียอีก

เพราะร่างทรงแปลว่าอิสระ

          เปิดมาด้วยป้านิ่มคนทรงประจำหมู่บ้านที่มีย่าบาหยันคอยประทับอยู่ตลอด ช่วงเวลาปกติในเรื่องป้านิ่มก็หากินแบบผู้หญิงทั่วๆ ไปในแถบชนบทด้วยการเย็บปักถักร้อย แต่กลับกันในอีกด้านหนึ่งป้านิ่มก็ถืออาชีพหาทางออกให้กับคนในหมู่บ้านผ่านผีย่าบาหยันที่ด้วยการเข้าทรง

          ชีวิตของลูกผู้หญิงตัวคนเดียวอย่างป้านิ่มนั้นรวมทั้งผู้หญิงคนอื่นๆ ในหมู่บ้านต่างก็ทำมาหากินด้วยการเย็บปักถักร้อยที่ถูกสอนมาตั้งแต่ย่ายาย (ไม่มีปู่ตา) ฝังตัวเองเลี้ยงลูกอยู่ในบ้าน แต่ดันพอผีเข้าประทับเท่านั้น ผู้หญิงธรรมดาคนนึงกลับทำให้คนทั้งหมู่บ้านเชื่อฟังได้เลยที่เดียว

ผู้หญิงปลดแอกแบบผีๆ

          ถึงคราวของมิ้งหรืออีมิ้งที่ทุกคนในเรื่องเรียกกันบ้าง แอบเล่านิดนึงว่าร่างทรงติดเรท 18+ ส่วนนึงก็เพราะฉากเซ็กส์ของมิ้งในกล้องวงจรปิดนี่แหละ แม้ในเรื่องจะถ่ายทอดออกมาแก่สายตาคนดูว่าหลังจากมิ้งโดนผีสิงเข้าไป เธอก็กลายเป็นสาวแซ่บกว่าเดิมถึงขนาดกล้าบัดสีวิถีพุทธมีอะไรกับใครต่อใครในที่สาธารณะ

          แม้จะพยายามถ่ายทอดว่าผีทำให้มิ้งเป็นแบดเกิร์ลประจำหมู่บ้าน แต่ถ้าลองใช้เฟมินิสต์ดูแล้วตัดเรื่องความอุจาดออกไป ผีที่อยู่ในร่างของมิ้งก็แรงไม่ใช่ย่อยเหมือนกัน ถึงขนาดทำให้ผู้หญิงคนนึงสามารถมีสิทธิมีเสียงในการสลัดความเป็นหญิงงาม ให้ทำเรื่องโจ๋งครึ่มกันได้อย่างไม่อายฟ้าอายดิน

ผีและพื้นที่ทางสังคมของหญิงไทย

          ตัดภาพออกมาโลกความเป็นจริง เมื่อดูจบหลายคนก็อาจสงสัยว่าทำไมย่าบาหยันถึงเข้าสิงได้แต่ผู้หญิงอย่างเดียว ถ้าใครเคยอ่านบทความเรื่องทำไมผีไทยส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงก็คงพอเข้าใจแล้วล่ะว่ายศฐาของผู้หญิงสมัยก่อนมีอำนาจมากจนได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้นำ

          แต่กลับกันด้วยความเจริญที่มีมากขึ้นความเชื่อของผู้หญิงถูกเปลี่ยนไปให้มีพื้นที่ทางสังคมลดน้อยลง เสียงของผู้หญิงที่นุ่งกางเกงในตอนนี้เบากว่าเจ้าแม่ประจำหมู่บ้านที่ยังห่มเสื้อที่ทำจากหนังสัตว์ไปเยอะเลย ผีกับอาชีพร่างทรงก็เลยเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน กลายเป็นเครื่องเอาตัวรอดของผู้หญิงให้พอได้อ้าปากในสังคมชายเป็นใหญ่เท่านั้นเอง

          มีนักวิจัยไทยหลายคนที่พยายามบอกว่าร่างทรงมีประเด็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจทางเพศอยู่ในแง่ของการเสริมอำนาจให้กับตัวคนทรงเอง จึงเป็นความหมายกลายๆ ว่าภูตผีและการมูเป็นการเสริมอำนาจรูปแบบหนึ่งที่เปลี่ยนกลุ่มคนชายขอบให้กลับมาได้รับการยอมรับในสังคมนั่นเอง

          เพราะสื่อไม่ใช่แค่ความบันเทิงแต่ยังสะท้อนความคิดคนเราผ่านเลนส์ การที่มิ้งและป้านิ่มถูกผีสิงอาจไม่ใช่เรื่องน่ากลัว เมื่อเทียบกับชีวิตของผู้หญิงไทยที่ถูกครอบงำด้วยระบอบชายเป็นใหญ่หรือปิตาธิปไตย ประโยคฮิตอย่าง ‘มึงก็ลองทายดูสิ…ว่ากูคือใคร’ อาจไม่ได้ให้เดาชื่อผีแต่อาจหมายถึงสัญญาณของฮีโร่แห่งโลกวิญญาณที่คอยกอบกู้อำนาจของผู้หญิงให้เท่าเทียมก็เป็นไปได้เหมือนกัน

ถ้าชอบคอนเทนต์เปิดโลก บทความสาระถูกใจ ติดตามต่อได้ที่ iNN Lifestyle

อ้างอิงจาก : งานวิจัยร่างทรงและพื้นที่ทางสังคมของคนข้ามเพศ, กิ่งแก้ว ทิศตึง

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube