fbpx
Home
|
ข่าว

สภาผู้บริโภคค้านขึ้นค่าไฟจี้กกพ.ทบทวนการคิดค่า Ftใหม่

Featured Image
สภาผู้บริโภค ค้านขึ้นค่าไฟ แนะ กกพ. ทบทวนข้อมูลการคิดค่า Ft ใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชน

 

 

 

 

 

นายประสาท มีแต้ม ประธานอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุว่า การรับฟังความคิดเห็น ค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) งวดเดือนมกราคม ถึง เมษายน 2567 โดยมีการประมาณการค่า Ft อยู่ที่ 216.42 สตางค์ต่อหน่วยและจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย ปรับขึ้น เป็น 5.95 บาทต่อหน่วย จาก 3.99 บาทต่อหน่วยในปัจจุบัน การประมาณการดังกล่าว อาจเป็นการประมาณการที่สูงกว่าความเป็นจริง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ.ควรทบทวนข้อมูลใหม่ เพราะที่คาดการณ์ว่าในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน 2567

 

 

 

 

จะมีการผลิตไฟฟ้าโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)และซื้อไฟฟ้าจากเอกชน มากถึง 70,219 ล้านหน่วยนั้น น่าจะเป็นการคาดการณ์ที่สูงเกินจริงไปมาก เนื่องจาก กกพ.คาดการณ์ความต้องการใช้ไฟในเดือนมกราคมถึงเมษายน เพียง 62,913 ล้านหน่วยเท่านั้น การจัดหาไฟฟ้าที่มากเกินไปดังกล่าวทำให้เป็นการจัดหาพลังงานไฟฟ้าที่มากกว่าความต้องการใช้ถึง 7,306 ล้านหน่วย หรือเป็นค่าไฟฟ้าถึง 21,187 ล้านบาท

 

 

 

นอกจากนี้ นายประสาท ยังเห็นว่า การประมาณการราคาเนื้อก๊าซธรรมชาติ ที่สูงนั้นมีเหตุมาจากการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าถึง 35.83 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นการใช้อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย 1 เดือนย้อนหลังก่อนการประมาณการ จึงไม่เหมาะสมเพราะค่า Ft เป็นการประมาณการค่าใช้จ่ายรอบบิลค่าไฟฟ้า 4 เดือนจึงควรใช้อัตราแลกเปลี่ยนย้อนหลัง 4เดือนเช่นกัน

 

 

 

ซึ่งจะทำให้ค่าเงินแข็งค่าขึ้นและทำให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงต่ำลง อีกทั้งราคาค่าเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าที่ใช้ฐานราคาน้ำมันดิบดูไบเท่ากับ 93.3 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลนั้น ก็ไม่มีคำชี้แจงแหล่งที่มาของราคาน้ำมันดิบมีเพียงการอ้างแนวโน้มที่เกิดขึ้นจากสงครามอิสราเอล กับกลุ่มฮามาส และสงครามรัสเซีย ยูเครน ซึ่งเป็นคำกล่าวอ้างที่เชื่อถือไม่ได้ ขณะที่ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกในอนาคตเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ยาก กกพ.จึงควรใช้ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ย 4 เดือนย้อนหลังก่อนทำประมาณการมาเป็นฐานประมาณการต้นทุนราคาเชื้อเพลิงและก๊าชธรรมชาติ ซึ่งหากคิดเฉลี่ย 4 เดือนในช่วงเดือน มิถุนายน ถึงกันยายน

 

 

 

ราคาน้ำมันดิบจะเฉลี่ยอยู่ที่ 83.7 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเท่านั้น นอกจากนี้ในการประมาณการต้นทุนก๊าซ LNG ที่ ปตท.อ้างว่าในเดือนพฤศจิกายน 2566 ราคา LNG ตลาดร่วม แต่จัดหาได้มีราคาฉลี่ยเท่ากับ 16.61 เหรียญสหรัฐล้านบีทียูนั้น สภาผู้บริโภคเห็นว่า เป็นราคาที่กกพ. ควรต้องมีการทบทวนตรวจสอบใหม่ เพราะมีข้อมูลปรากฏว่า ณ ปัจจุบัน ราคา LNG

 

 

 

 

ส่งออกของสหรัฐฯ ที่ประเทศไทยนำเข้าตลอดช่วง 1 ปีที่ผ่านมาปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 12-13 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู และยังมีข้อมูลบ่งชี้ว่าราคา LNG ส่งออกของสหรัฐอเมริกาลงมาอยู่ที่ 6.45 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียูในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หากพิจารณาเปรียบเทียบราคา LNG ญี่ปุ่นในเดือนตุลาคม 2566 ก็อยู่ที่ระดับราคาประมาณ 12 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียูเท่านั้น ซึ่งการอ้างของ ปตท.ว่าจัดหา LNG ได้จริง ก็เป็นเรื่องที่ กกพ. ควรได้ดำเนินการตรวจสอบเช่นกัน

 

 

 

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศ อยู่ในภาวะมีกำลังผลิตไฟฟ้าล้นเกินความต้องการ และมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ไม่ได้เดินเครื่องเลยหรือมีการเดินเครื่องเพียงเล็กน้อย แต่ กฟผ. ต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า ไม่น้อยกว่า 8 โรงไฟฟ้าจากทั้งหมด 12 โรงไฟฟ้ามาหลายงวด Ft แล้ว กฟผ. จึงย่อมมีอำนาจในการเจรจาต่อรองการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนทั้งโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPPs) และโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPPs) ที่จะไม่ควรรับซื้อไฟฟ้าในอัตราที่เกิน 3.99 บาทต่อหน่วย มิใช่ผลักภาระทั้งหมดมาเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายให้ประชาชนต้องรับผิดชอบแทนทั้งหมดเช่นนี้

 

 

 

 

สภาองค์กรของผู้บริโภค จึงไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการปรับขึ้นค่า Ft จากที่เก็บอยู่ในปัจจุบัน และขอให้กระทรวงพลังงานและ กกพ. ทบทวนข้อมูลการคิดค่า Ft ใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชน พิจารณาลดต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติที่ใช้ผลิตไฟฟ้า รัฐบาลควรใช้หลักการจัดสรรก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยซึ่งมีราคาถูกกว่าราคาก๊าซนำเข้า โดยนําราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่โรงแยกก๊าซและปิโตรเคมีนำมาใช้คิดถัวเฉลี่ยรวมด้วย จะทำให้ราคาก๊าซที่ใช้ผลิตไฟฟ้าโดยรวมมีราคาถูกลง

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube