fbpx
Home
|
ข่าว

รัฐสภาพิจารณา พรบ.ตำรวจแห่งชาติ

Featured Image
ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา พิจารณา พรบ.ตำรวจแห่งชาติ ขึ้นมาพิจารณาต่อ ขณะ ภูมิใจไทย แถลงจุดยืนไม่เห็นด้วย

การประชุมร่วมของรัฐสภา วันนี้ มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยก่อนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ….. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ) ที่ประชุมได้เห็นชอบให้เลื่อน เรื่องด่วนที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ คือ ร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ…..ขึ้นมาพิจารณาก่อน ซึ่งเป็นการอภิปรายต่อเนื่องจากการประชุมครั้งที่ผ่านมา

โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้นำเสนอหลักการเพื่อปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 เพื่อให้การแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจ และการพิจารณาบำเหน็จความชอบ และมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

สำหรับ การพิจารณาของรัฐสภานั้น ได้ตั้งข้อสังเกตต่อประเด็นข้อกำหนด โดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้าย ที่เนื้อหาเปิดโอกาสให้มีการคัดเลือก ซึ่งอาจเปิดช่องให้ญาติและครอบครัวของตำรวจระดับสูง ถูกแต่งตั้งเข้ารับตำแหน่ง โดยไม่ผ่านการสอบคัดเลือก อีกทั้งการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจที่ยึดหลักอาวุโส แต่กลับพบข้อยกเว้นอาจทำให้กระบวนการแต่งตั้ง โดยคำนึงถึงระบบอาวุโสถูกยกเว้นได้ ทั้งนี้ในการอภิปรายได้เสนอแนะให้คณกรรมาธิการที่รัฐสภาตั้งขึ้น เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวางด้วย

อย่างไรก็ตาม สำหรับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตติฉบับนี้ เบื้องต้นที่ประชุมกำหนดพิจารณา รวม 5 ชั่วโมง ซึ่งในการประชุมครั้งที่แล้ว สมาชิกได้อภิปรายแสดงความเห็นไปแล้ว กว่า 3 ชั่วโมง

 

ภท.แถลง จุดยืน ไม่เห็นด้วย เลื่อนพรบ.ตำรวจ มาก่อนแก้ รธน. ย้ำไม่มีสัญญาณอะไรจากฝั่งรัฐบาลว่าอยากให้ชะลอ

นายภราดร ปริศนานันทกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ในฐานะโฆษกพรรคภูมิใจไทย พร้อมด้วย ส.ส.พรรคภูมิใจไทย แถลงข่าวถึงท่าทีและจุดยืนของพรรคภูมิใจไทย ต่อกรณีที่ได้มีการเดินออกจากห้องประชุมรัฐสภา หลังจากที่มีการลงมติในญัตติการขอเลื่อนระเบียบ วาระร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติและร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ…ขึ้นมาก่อน เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ว่าพรรคภูมิใจไทย ไม่เห็นด้วยกับการขอเลื่อนระเบียบวาระดังกล่าว ซึ่งพรรคภูมิใจไทย ได้แสดงจุดยืนมาโดยตลอด ว่า จะเดินหน้า แก้ไขรัฐธรรมนูญ วันนี้เจตนารมณ์ยังไม่เปลี่ยน เรื่องใดก็แล้วแต่ที่จะขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญพรรคภูมิใจไทยไม่เห็นด้วยจึงเป็นที่มาของการลงมติไม่เห็นด้วยที่จะมีการให้เรื่องอื่นขึ้นมาพิจารณาก่อน

ทั้งนี้ การประชุมรัฐสภา มีการนัดเพียงแค่ 2 วัน จึงต้องมีการเรียงลำดับความสำคัญหากมีเวลาเพียงแค่ 2 วันก็ไม่ควรเลื่อนเรื่องอื่นขึ้นมาพิจารณาก่อน เรื่องรัฐธรรมนูญ เพราะไม่แน่ใจว่าเวลาที่จะใช้พิจารณาเรื่องรัฐธรรมนูญจะเพียงพอหรือไม่ถึงแม้ว่าประธานรัฐ จะบอกว่าหากเวลาไม่เพียงพอก็จะนัด เพิ่มเติมในวันถัดไป ซึ่งยังไม่มีความชัดเจน จึงเกรงว่าอาจมีกระบวนการดึงรั้งเพื่อไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ไม่มีสัญญาณอะไรจากฝั่งรัฐบาลว่าอยากให้มีการชะลอไว้ก่อน และไม่ได้เป็นความไม่พอใจจากการที่มีส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐโหวตงดออกเสียงให้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

 

ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ….

ที่ประชุมร่วมรัฐสภา มีมติ รับหลักการร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. …. ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอไว้พิจารณา ด้วยคะแนนเสียง 565 เสียง ไม่เห็นด้วย 2 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการ 49 คน กำหนดเวลาแปรญัตติ 15 วัน โดยก่อนหน้านั้น สมาชิกที่เหลือลุกขึ้นอภิปราย โดยพลตำรวจโท ศานิตย์ มหถาวร สมาชิกรัฐสภา เห็นว่า การปฏิรูปตำรวจจะประสบความสำเร็จ ต้องเกิดจากแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ ที่เป็นธรรม หากมีการทุจริตต้องได้รับโทษปรับและโทษทางอาญา พร้อมขอให้ปรับกระบวนการสอบสวนการทุจริตแต่งตั้ง ต้องกันตำรวจที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมไว้เป็นพยาน อีกทั้งการแต่งตั้งผู้กำกับสถานีตำรวจ ต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง เพื่อป้องกันการสั่งดำเนินคดีเกิดความผิดพลาด ขณะเดียวกันยังขอให้การจัดสรรงบประมาณต้องมีการกระจายอำนาจให้หน่วยงานระดับกองบัญชามีอำนาจในการพิจารณา

ด้านนายอนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ สมาชิกรัฐสภา เห็นว่าการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจมีการทุจริตอย่างกว้างขวาง มีนักการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง การบริหารงานบุคคลถูกแทรกแซง พร้อมเสนอให้การโยกย้ายข้าราชการตำรวจไปช่วยราชการ ต้องไม่ได้รับค่าตอบแทนในตำแหน่งเดิม เพราะถือว่าไม่ได้ปฏิบัติงานตรงตามสายงานจริง ขณะเดียวกันการแต่งตั้งโยกย้ายผู้กำกับสถานีตำรวจ ต้องไม่ข้ามหน่วยงานและให้นำความรู้ความสามารถเป็นหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้ง

ขณะนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงถึงกรณีความเท่าเทียมระหว่างเพศชายและเพศหญิงในการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจเป็นพนักงานสอบสวน ยืนยันไม่สามารถเลือกปฏิบัติได้ ขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถ หากกำหนดลักษณะเพศไว้ในกฎหมาย อาจจะทำให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญเพราะเป็นการเลือกปฏิบัติ พร้อมย้ำว่า ผบ.ตร. จะเป็นเพศหญิง ก็ได้ ขึ้นที่นโยบายและการปฏิบัติ เช่นเดียวกับการแต่งตั้งข้าราชการกระทรวงอื่น ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. และไม่สามารถปฏิหน้าที่ได้ ที่ประชุมจะคัดเลือกกรรมการขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่แทน แต่จะไม่มอบหมายให้ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผบ.ตร. นั่งเป็นประธานในที่ประชุมแทน เกรงว่า จะทำให้เกิดปัญหาและข้อขัดแย้ง

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

 

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube