fbpx
Home
|
ข่าว

“ปกรณ์” ห่วงวินิจฉัยคุณสมบัติ-ลักษณะต้องห้ามผู้สมัครส.ว.

Featured Image

 

 

 

“ปกรณ์”ห่วงวินิจฉัยคุณสมบัติ-ลักษณะต้องห้ามผู้สมัครส.ว. โดยปมถือหุ้นสื่อ สั่งยึดคำวินิจฉัยศาลรธน.เป็นบรรทัดฐานพิจารณา

 

 

 

นายปกรณ์ มหรรณพกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมให้ความรู้แก่สื่อมวลชนในการเลือกตั้ง สว. ว่า มีปัญหาความห่วงใยของผู้บริหารที่อยากจะฝากไปถึงฝ่ายปฏิบัติของ กกต.และผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ คือการสมัครเข้ารับการเลือกเป็นสว. จุดสำคัญแรกคือผู้ที่มาสมัครจะอยู่ใน 20 กลุ่มนั้นหรือไม่และอยู่ในกลุ่มใดเป็นความยากลำบากอย่างยิ่งของผู้ปฏิบัติงานระดับอำเภอ

 

ซึ่งมีนายอำเภอเป็นประธานเลขาระดับอำเภอ เลขาคือพนักงานกกต.หรือข้าราชการของอำเภอ โดยผู้เกี่ยวข้องกำลังประสานว่า ทำอย่างไรถึงจะให้การทำงานระดับอำเภอนี้ เป็นแนวทางเดียวกัน เช่น 1.สมมุติเมื่อมีผู้มาสมัครแล้วผู้นั้นกล่าวอ้างว่าอยู่ในกลุ่มที่ 10 มีหลักฐานครบ ทำอย่างไรกรรมการระดับอำเภอที่จังหวัดนครราชสีมาซึ่งมี 32 อำเภอจะปฏิบัติได้ในลักษณะเดียวกันและปฏิบัติได้เหมือนกันทั้งกับอำเภอที่จังหวัดสงขลา อำเภอที่จังหวัดอุบลราชธานี อำเภอที่จังหวัดเชียงใหม่ โดย 900 กว่าอำเภอทั่วประเทศผู้ที่จะเป็นจักรกลสำคัญ คือนายอำเภอ เลขา รวมทั้งกรรมการที่ต้องร่วมกันวินิจฉัยว่าผู้สมัครอยู่ในกลุ่มนั้นจริงหรือไม่

 

2.ทำอย่างไรการตรวจคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะมาสมัครซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนผู้สมัครหลายหมื่นคน โดย 900กว่าอำเภอๆละ 20 กลุ่ม รวมแล้ว 18,000 กว่ากลุ่ม ถ้ามีผู้สมัครเพียงแค่กลุ่มละ 5-10 คน รวมแล้วก็เป็นแสนคนมากกว่าสมัครสส.เป็นจำนวนมาก การตรวจสอบคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้ามทำอย่างไรจะตรวจสอบได้เสร็จอย่างรวดเร็ว มีเวลาเพียงแค่ 5-7 วัน แต่เมื่อนึกถึงจำนวนผู้สมัครคนที่เป็นตัวจักสำคัญคือนายอำเภอและคณะกรรมการระดับอำเภอ ถ้าอำเภอไหน จังหวัดไหน พนักงานกกต.ไม่ได้ไปเป็นเลขา

 

ซึ่งโดยสภาพความเป็นจริงแล้วพนักงานกกต.ไม่สามารถไปเป็นเลขาได้หมด เช่นกรณีจังหวัดนครราชสีมามี 32 อำเภอ มีพนักงานกกต.ที่ทำหน้าที่เลขาได้ไม่ถึง 10 คน นี่คือปัญหาและอุปสรรคคณะกรรมการระดับอำเภอซึ่งมีนายอำเภอเป็นประธานจะต้องวินิจฉัยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ซึ่งจะต้องมาดูว่าเคยกระทำความผิดหรือไม่ เคยต้องโทษจำคุกหรือไม่ โทษจำคุกนั้นเป็นลักษณะใด เป็นเรื่องข้อกฎหมายที่ยุ่งยากมาก

 

“แต่ที่ยุ่งยากมากกว่าเหมือนที่เป็นข่าวตลอดเวลาคือเป็นเจ้าของหรือถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชนหรือไม่ คณะกรรมการระดับอำเภอต้องวินิจฉัยดำเนินการให้เสร็จภายใน 7 วัน ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกกต. กับสำนักทะเบียนพยายามร่วมมือกันทำงานในจุดนี้ กกต.อนุมัติเงินให้สำนักทะเบียนกลางไป 20 กว่าล้านบาทเป็นการเร่งด่วน เพื่อสำนักทะเบียนจะดำเนินการพิจารณาใบสมัครตรวจสอบเลขทะเบียน ภูมิลำเนา

 

ส่วนที่เกี่ยวข้องต่างๆทางทะเบียนอย่างรวดเร็ว แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือ พวกนี้เคยต้องโทษหรือไม่ เคยกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามกำหนดหรือไม่ ถือหุ้นสื่อหรือไม่ ซึ่งเรากำลังดำเนินการอย่างเร่งด่วนประสานขอความร่วมมือจากเรือนจำ ศาลทั่วประเทศ สำนักทะเบียนต่างๆเพื่อขอทราบสิ่งนี้ เพื่อให้การวินิจฉัยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครสว.ไม่เกิดปัญหา

 

แม้จะมีปัญหาในการตีความก็กำลังให้ฝ่ายกฎหมายเราถือข้อวินิจฉัยให้เป็นที่ยุติตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ออกคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการมาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อให้ปัญหานี้เราได้ถือปฏิบัติเป็นอย่างเดียวกันลักษณะเดียวกันทั่วประเทศ 900 กว่าอำเภอ นี่เป็นปัญหาเร่งด่วนที่เรากำลังรีบดำเนินการ ขอฝากไปผู้ปฏิบัติทุกจังหวัดทั่วประเทศด้วยความห่วงใยว่าสิ่งที่ทำต้องยึดกฎหมาย กฎระเบียบเป็นหลัก ขั้นตอนต่างๆและระยะเวลา สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญขอให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การปฏิบัติงานครั้งนี้เรียบร้อย ผู้ที่จะสมัครรับเลือกเป็นสว. ยอมรับไม่โต้แย้งคัดค้าน”

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube