Home
|
ข่าว

“อนุชา”ชื่นชมแนวคิด BCG ควบคู่ทำฟาร์มท้องถิ่น

Featured Image
“อนุชา” นำคณะพัฒนาเมืองฯ เยี่ยมชมฟาร์มโคนม Isonuma milk farm ประเทศญี่ปุ่น ชื่นชมแนวคิด BCG ควบคู่ทำฟาร์มท้องถิ่น เตรียมนำรูปแบบมาขยายผลขับเคลื่อนโครงการโคล้านครอบครัวของไทย

 

 

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นำคณะกรรมการดำเนินโครงการพัฒนาเมืองฯ พร้อมด้วย นายเบญจพล นาคประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง นายขจิต ชัชชวานิชย์

 

 

ปลัดกรุงเทพมหานคร เดินทางไปยัง Isonuma milk farm (อิโซะนุมะ มิ้ลค์ ฟาร์ม) ณ ตำบลโคบิกิมาชิ อำเภอฮาชิโอจิ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อศึกษาดูงานฟาร์มโคนมตัวอย่าง ซึ่งใช้แนวคิดการบริหารจัดการฟาร์มด้วยโมเดลเศรษฐกิจแบบยั่งยืน (BCG) ที่สืบทอดมากว่า 300 ปี ปัจจุบันบริหารงานโดย นายอิโซนูมะ มาสะโนริ ทายาทรุ่นที่ 14 ของฟาร์ม โดยจุดเด่นของฟาร์มนอกจากใช้การจัดการด้วย BCG Model แล้ว ยังมีแนวคิดในการนำกากอุตสาหกรรมมาทำอาหารและที่นอนให้โค ซึ่งนำมาจากหลายพื้นที่

 

 

ไม่ว่าจะเป็นกากเบียร์ (ข้าวโอ้ต) ที่ได้จากโรงงานทำเบียร์กากถั่วแดงบด กากเต้าหู้ เปลือกคาคาโอ้จากชอคโกแลต หญ้าที่กระต่ายไม่สามารถกินได้จากฟาร์มกระต่าย กากเต้าหู้ ผักกะหล่ำปลี เปลือกเมล่อน จากโรงงานผัก โรงงานผลไม้ ซึ่งเปลือกเมล่อนโคชอบมากที่สุด สิ่งนี้จะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่าย และทำให้โคไม่เบื่อรสชาติอาหาร และได้มีการนำกากเมล็ดกาแฟมาผสมในส่วนที่เป็นที่นอนของโค เพื่อป้องกันในเรื่องของความชื้นและกลิ่น เพราะถ้ามีความชื้นมากๆ โคจะป่วยได้ง่าย กระบวนการเช่นนี้เป็นการช่วยกำจัดของเสียหรือลดปริมาณขยะ ซึ่งสอดคล้องกับรัฐบาลที่ได้มีการส่งเสริมในเรื่องการลดปริมาณของเสียด้วยเช่นกัน อีกทั้งทั้งโรงงานต่างๆ และฟาร์มโคต่างก็ได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย

 

 

นายอิโซนูมะ มาสะโนริ เจ้าของ Isonuma milk farm เปิดเผยว่า ตนได้ทำฟาร์มโคนมมาแล้วเป็นเวลา 70 ปี ได้ช่วยครอบครัวเลี้ยงโคและทำการเกษตรทั่วไป จนกระทั่งค้นพบว่าน้ำนมโคมีประโยชน์มากจากคำแนะนำของหมอที่รักษาแม่ตนจึงตั้งใจเลี้ยงโคเป็นอาชีพหลักตั้งแต่นั้นมา ปัจจุบันในฟาร์มมีพันธุ์โคที่เลี้ยงทั้งหมด 5 สายพันธุ์ โดยมีสายพันธุ์หลักคือ โคสายพันธุ์เจอร์ซี่ (Jersey) เป็นพันธุ์ที่ได้มาจากประเทศอังกฤษ เมื่อ 150 ปีที่แล้ว

 

 

รวมถึงสายพันธุ์โฮลล์สไตน์ โดยพบว่าพันธุ์เจอร์ซี่ จะมีปริมาณน้ำนมน้อยกว่าพันธุ์โฮลล์สไตน์ แต่มีความเข้มข้นของน้ำนมมากกว่า เหมาะที่จะนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์นม เนย สายพันธุ์ที่ให้น้ำนมน้อยก็จะนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกัน ส่วนการรีดนมวัว จะรีดเวลาเช้า 1 ครั้ง และเย็นอีก 1 ครั้ง

 

 

โดยนมวัวที่ได้จะแบ่งมาทำผลิตภัณฑ์แปรรูป 10% จากจำนวนวัวที่เลี้ยงทั้งหมดในฟาร์มประมาณกว่า 100 ตัว ทั้งแม่พันธุ์และลูกโค ใน 1 วัน จะสามารถผลิตน้ำนมได้ 1,000 กิโลกรัม ส่วนผลิตภัณฑ์จากนมที่ได้จากฟาร์มนี้จะมีการใช้แบรนด์เป็นของตนเอง ชื่อว่า Tokyo Milk Farm (โตเกียว มิ้ลค์ ฟาร์ม) และได้มีการแบ่งพื้นที่เปิดเป็นร้านขายเครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์จากโค โดยมีการแบ่งพื้นที่ของร้านออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. ส่วนที่ผลิตจากฟาร์ม คือ การนำผลผลิตจากฟาร์มนำมาทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ขายในร้าน 2. ให้ผู้ประกอบการอื่นเช่าพื้นที่ เป็นคาเฟ่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม

 

 

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลไทยมีการสนับสนุนโครงการต่างๆ ที่ช่วยยกระดับเศรษฐกิจฐานราก และสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน โดยการเลี้ยงโค เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่ต้องการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาทำการเกษตรด้านปศุสัตว์มากขึ้น ซึ่งการได้มาศึกษาดูงานฟาร์มโคนมในครั้งนี้

 

 

นับว่าเป็นประโยชน์สำหรับการนำไปพัฒนาและต่อยอดผลสำเร็จที่รัฐบาลได้สนับสนุนแก่พี่น้องเกษตรกร อีกทั้งการที่ฟาร์มได้นำเอาแนวคิด BCG Model มาใช้ ถือเป็นสิ่งสำคัญและสอดคล้องกับทิศทางการดำเนินงานของรัฐบาลไทย ตนในฐานะที่กำกับดูแลกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง รวมถึงเป็นประธานคณะกรรมการดำเนินโครงการพัฒนาเมืองที่ค้างอยู่ จะนำแนวทางและรูปแบบการดำเนินงานดังกล่าวไปประยุกต์ใช้กับการขับเคลื่อนโครงการของไทย เพื่อให้ชุมชนทั่วประเทศเกิดความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ และมีฐานเศรษฐกิจที่มั่นคงต่อไป

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube