fbpx
Home
|
ข่าว

“ชัชชาติ” จับมือผู้ผลิตคอนกรีตลด PM 2.5

Featured Image
ชัชชาติ จับมือผู้ผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ ร่วมลดพีเอ็ม 2.5

 

วันนี้ (11 พ.ย. 65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหามลพิษในสถานประกอบการผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ โดยมีนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯกทม. ผู้บริหารสำนักการโยธา ผู้บริหารสำนักสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ สำนักการโยธา เขตดินแดง

นายวิศณุ กล่าวภายหลังการประชุมว่า กทม.ประสบปัญหามลพิษทางอากาศโดยเฉพาะฝุ่นละออง พีเอ็ม2.5 ซึ่งพบว่ามีปริมาณสูงเกินค่ามาตรฐานในช่วงฤดูหนาวของทุกปี ผู้บริหารให้ความสำคัญในป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 มาอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีนโยบายและแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง พีเอ็ม2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2566 ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ซึ่งบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในการจัดการที่แหล่งกำเนิดและต้นตอสาเหตุของปัญหาฝุ่นละออง พีเอ็ม2.5

ทั้งนี้การป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง พีเอ็ม2.5 ต้องอาศัยความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน จึงได้ร่วมประชุมหารือกับผู้บริหารของบริษัทผู้ผลิตคอนกรีตผสมเสร็จในพื้นที่กรุงเทพฯ อาทิ 1. บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (CPAC) 2. บริษัท น่ำเฮงคอนกรีต (1992) จำกัด 3. บริษัท ที.พี.ไอ คอนกรีต จำกัด 4. บริษัท นครหลวงคอนกรีต จำกัด 5. บริษัท เอ็ม คอนกรีต จำกัด 6.บริษัท เอเชียผลิตภัณฑ์ซีเมนต์ จำกัด 7. บริษัท โออาร์ซี พรีเมียร์ จำกัด 8.บริษัท คิวมิกซ์ ซัพพลาย จำกัด และ 9.บริษัท ฟาสท์คอนกรีต จำกัด

ซึ่งผู้ผลิตคอนกรีตผสมเสร็จให้ความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการและแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองพีเอ็ม2.5 ตลอดจนได้กำชับ กำกับและดูแลให้บริษัทรายย่อยที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำเนินการได้ปฏิบัติตามมาตรการและแนวทางการดำเนินงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองพีเอ็ม2.5 ดังนี้

1. การบำรุงรักษารถขนส่งปูนซีเมนต์ หิน ทราย และรถขนส่งคอนกรีตผสมเสร็จ โดยให้มีการตรวจวัดควันดำให้มีค่าไม่เกินมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด อาจใช้ผลการตรวจวัดจากเอกชนที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก (ตรอ.) หรืออาจทำการตรวจวัดโดยเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขต สำนักสิ่งแวดล้อม ตำรวจจราจร กรมการขนส่งทางบก หรือกรมควบคุมมลพิษ เมื่อได้ผลการตรวจวัดว่ามีค่าไม่เกินมาตรฐาน กรุงเทพมหานครจะมอบสติ๊กเกอร์ที่ระบุหมายเลขทะเบียนรถ พร้อมระบุวัน เดือน ปี ที่ทำการตรวจวัด เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ในการผ่านเข้าออกในแพลนท์ปูน หรือสถานที่ก่อสร้าง หากรถของผู้ประกอบการรายใดไม่ได้รับสัญลักษณ์ที่แสดงการตรวจวัดควันดำว่ามีค่าไม่เกินมาตรฐาน อาจไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในสถานที่ก่อสร้างหรือแพลนท์ปูน

2. การดูแลสถานที่ไม่ให้ก่อปัญหาฝุ่นละออง ได้แก่ มีพื้นคอนกรีตหรือแอสฟัลต์ผิวเรียบที่มีระดับความลาดเอียงเหมาะกับการทำความสะอาดด้วยน้ำ มีการทำความสะอาด กำจัดฝุ่นละอองตามพื้นอย่างสม่ำเสมอ ไม่มีฝุ่นสะสมและฟุ้งกระจาย มีแผงกั้นป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองที่มีประสิทธิภาพ มีความสูงทั้งหมดจากพื้นไม่น้อยกว่า 6 เมตร โดยส่วนล่างต้องเป็นผนังทึบสูงไม่น้อยกว่า 2 เมตร มีระบบ spray น้ำรถบรรทุกหินให้เปียกก่อนเทลงกองวัตถุดิบ มีระบบล้างทำความสะอาดล้อรถบรรทุกและรถโม่ผสมคอนกรีตก่อนออกจากโรงงาน เครื่องผสมคอนกรีต (Mixer) เป็นระบบปิดที่สามารถป้องกันฝุ่นได้ มีเครื่องกรองฝุ่นจากการลำเลียงปูนซีเมนต์หรือเถ้าลอยแบบถุงกรอง (Bag filter) ที่มีประสิทธิภาพ และมีขั้นตอนให้พนักงานปฏิบัติอย่างเคร่งครัด มีการบำรุงรักษาระบบบำบัดมลพิษอากาศให้มีประสิทธิภาพอยู่เสมอ มีผู้รับผิดชอบดูแลระบบบำบัดมลพิษอากาศหรือมีบริษัทคู่สัญญาเป็นผู้ดูแลระบบ และ 3. รถบรรทุก หิน ทราย ต้องปกคลุมผ้าใบป้องกันฝุ่นฟุ้งกระจาย รวมถึงรถบรรทุกคอนกรีตผสมเสร็จ ระหว่างการเดินทางต้องมีการป้องกันเศษปูน คอนกรีตตกลงสู่ถนน หากวัสดุเหล่านี้ตกลงสู่พื้นถนนและแห้งจะเป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นทั้งฝุ่นขนาดใหญ่และฝุ่นขนาดเล็ก (PM2.5) เมื่อมีรถคันอื่นทับหรือสัญจรผ่าน

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube