fbpx
Home
|
ข่าว

“คุณหญิงกัลยา”แจงกระทู้ส.ว.ยันไม่นิ่งนอนใจขาดแคลนครู

Featured Image
“คุณหญิงกัลยา” แจงกระทู้ ส.ว.ยันไม่นิ่งนอนใจสถานศึกษาขนาดเล็กขาดแคลนครูและบุคลากรทางการศึกษา

 

การประชุมวุฒิสภา เพื่อพิจารณาวาระกระทู้ถาม นายออน กาจกระโทก สมาชิกวุฒิสภา ตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ถึงการกำหนดนโยบายการวางแผนช่วยเหลือสถานศึกษาขนาดเล็ก ที่มีอยู่กว่า 16,000 โรงเรียน ยังขาดแคลนครูและบุคลากรทางการศึกษา โดย คุณหญิงกัลยา โสภณพณิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ชี้แจงว่า การกำหนดอัตราครูแต่ละโรงเรียนของกระทรวงศึกษาธิการจะต้องผ่านกฎเกณฑ์ของคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (กคศ.) โดยในปี 2563 ได้มีการปรับเปลี่ยนจำนวนครูต่อนักเรียนของแต่ละโรงเรียนเพิ่มขึ้นจากเดิม

 

ซึ่งข้อมูลของโรงเรียนเหล่านี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะรวบรวมข้อมูลทุกปี ทั้งนี้กระทรวงศึกษาธิการมุ่งเน้นที่จะพัฒนาเด็กให้ครบทั้ง 4 ด้าน คือ การคิดวิเคราะห์ จิตใจค่านิยม การทำงานด้วยมือและมีสุขภาพดี อย่างไรก็ตามโรงเรียนขนาดเล็กที่มีอยู่กว่า 160 โรงเรียนทางธนาคารโลก (world bank) และ สพฐ.ได้ร่วมกันศึกษาเรื่องนี้และกำหนดอัตรากำลังให้สอดคล้องกับการบริหารและการสอนนักเรียน โดยยืนยันว่ากระทรวงศึกษาธิการไม่ได้นิ่งนอนใจและจะปฏิบัติให้เร็วที่สุดเมื่อทราบปัญหาต่าง ๆ

 

เพื่อให้การศึกษาไทยเหมาะสมกับทุกช่วงวัย ส่วนนโยบายการควบรวมสถานศึกษาขนาดเล็กของกระทรวงศึกษาธิการนั้นกระทรวงศึกษาธิการไม่ได้ดำเนินการอย่างที่เป็นข่าว โดยที่ผ่านมา 2 ปี ได้พัฒนาคุณภาพการศึกษาของเด็กตามความสมัครใจ และยืนยันจะไม่ดำเนินการควบรวมจนกว่าจะเป็นความสมัครใจทั้งชุมชนและโรงเรียน ซึ่งจะดำเนินการค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ไม่ใช่การยุบยืนหรือยกเลิก แต่เป็นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในตำบลหรืออำเภอนั้น ๆ

 

สำหรับโรงเรียนบนเกาะหรือภูเขาที่ไม่สามารถควบรวมกับโรงเรียนอื่นได้เนื่องจากระยะทางที่ไกลการเดินทางไม่สะดวก กระทรวงศึกษาธิการก็จะดูแลและพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาและคุณภาพชีวิตของนักเรียนต่อไป

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube