fbpx
Home
|
ทั่วไป

แนะการใช้เงินดิจิตอลหมื่นบาท จ่ายสวัสดิการประชาชน

Featured Image
แนะการใช้เงินดิจิตอลหมื่นบาท จ่ายสวัสดิการประชาชน สภาผู้บริโภคร่วมกับหลายหน่วยงาน จัดเสวนาแนะนำการใช้เงินดิจิตอลหมื่นบาท จ่ายสวัสดิการประชาชน

 

 

 

หลังจากรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ได้ประกาศใช้งบประมาณมากถึง 560,000 ล้านบาทเดินหน้านโยบายดิจิทัลวอลเลตแจกเงินจำนวน 10,000 บาทให้กับประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป แต่ยังไม่มีความชัดเจนในการผลักดันนโยบายด้านสวัสดิการ รวมทั้งเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดย สภาองค์กรของผู้บริโภคหรือสภาผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีสาธารณะการบ้านรัฐสวัสดิการในรัฐบาลเศรษฐาที่โรงแรม ทีเค พาเลซ คอนเวนชั่น

 

รศ.ดร.ชัยรัตน์ เอี่ยมกุลวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แนวคิดด้านนโยบายรัฐสวัสดิการของพรรคเพื่อไทย ยังไม่มีการประกาศนโยบายที่ชัดเจนและไม่เคยได้ยินการให้สวัสดิการผู้สูงอายุ 3,000 บาทถ้วนหน้า ทั้งที่การช่วยเหลือเด็กและผู้สูงอายุเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าเป็นเรื่องช่วยเหลือคนที่เปราะบางหรือค่อนข้างที่จะมีรายได้ต่ำ
“ในส่วนงบประมาณ 560,000 ล้านบาทนั้น โดยส่วนตัวเห็นด้วยกับการนำมากระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเป็นแนวนโยบายใหม่ที่ต้องลองจึงจะเห็นผลว่าจะเกิดผลกระทบอย่างไร ซึ่งหากจะเสนอให้นำเงินก้อนนี้มาแจกให้กับผู้สูงอายุและเด็ก เลือกกลุ่มผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปีมีรายได้และการออมกว่าต่ำค่าเฉลี่ยของคนในประเทศ ถ้ากลุ่มนี้ได้เงินไปโดยใช้งบประมาณ 450,000 ล้านบาทให้กับผู้สูงอายุ 1 ปีซึ่งได้แค่ 1 ปี ไม่ใช่ได้ทุกปี คิดว่าเศรษฐกิจจะมีการเติบโตมากกว่าการแจกถ้วนหน้า เพราะว่าคนที่รายได้ค่อนข้างต่ำมีแนวโน้นจะบริโภคในสัดส่วนที่สูงมาก จึงเห็นผลด้านกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่าแจกคนละหนึ่งหมื่นบาทแล้วก็จะได้ใช้เงินไปในกลุ่มที่เดือดร้อนจริงๆ”

 

ขณะที่ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า หากวิเคราะห์พรรคเพื่อไทยแล้วพบว่า นโยบายสวัสดิการไม่ใช่นโยบายเรือธงของพรรค แต่ให้ความสำคัญกับนโยบายเศรษฐกิจ เพราะเห็นว่าถ้าเศรษฐกิจดีคุณภาพชีวิตของทุกคนจะดีขึ้นด้วยจึงใช้นโยบายเศรษฐกิจเป็นตัวกระตุ้นให้ทุกระบบขับเคลื่อน โดยมองที่ฐานเสียงของพรรคเป็นเรื่องสำคัญ

 

“ถ้าอ่านเกมแบบนี้ นโยบายสวัสดิการจะไปทางไหนขึ้นอยู่กับว่า นโยบายเศรษฐกิจจะไปทางไหนก่อน ถ้าเศรษฐกิจดีอาจจะให้น้ำหนักมาทางสวัสดิการมากขึ้น จึงต้องรอดูสัก 1 ปี”
“หากจะเดินหน้านโยบายสวัสดิการต้องปฏิรูปภาษีเพื่อหาเงินให้ได้มากขึ้น เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในภาวะสังคมผู้สูงอายุจึงต้องคิดเรื่องนี้อย่างจริงจัง แต่เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยไม่ทำเพราะเกรงว่าจะกระทบต่อกลุ่มทุน และเห็นว่าหากทำให้เศรษฐกิจโตจะสามารถแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง ภาษีก็ไม่ต้องขึ้น และสามารถตอบโจทย์ทุกเรื่องได้ ”

 

ด้าน นายนิติรัฐ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้อำนวยการเครือข่าย We Fair หรือ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) กล่าวว่า ปัจจุบันเส้นความยากจนอยู่ 2,803 บาท ทางเครือข่ายเสนอให้จ่ายเบี้ยยังชีพคนชราที่ 3,000 บาท ให้มากกว่าเส้นความยากจน ซึ่งสถานการณ์ที่เป็นจริงในขณะนี้มีคนจนที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนของประเทศมีทั้งหมดประมาณ 4.4 ล้านคน และมีคนเกือบจนอีก 4.8 ล้านคน ในขณะที่หนี้ครัวเรือนมีประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี จึงพบว่าไทยมีความเหลื่อมล้ำสูง เพราะตอนนี้มีเศรษฐีเพียง 40 ครอบครัว ที่มีทรัพย์สินคิดเป็นจีดีพี 28 เปอร์เซ็นต์ ด้วยสาเหตุหลักเพราะนโยบายเศรษฐกิจทุนนิยม แต่ตอนนี้เรือธงของพรรคเพื่อไทยก็คือจะใช้สิ่งที่เป็นความล้มเหลวมาตลอดคือ รวยกระจุกจนกระจายมาผลิตซ้ำ
“ในส่วนข้อเสนอการจ่ายเบี้ยยังชีพ 3,000 บาท อยากให้ลองจินตนาการว่า ถ้าเราได้เบี้ยยังชีพ 3,000 บาท ในแต่ละปีนึจะใช้งบประมาณไม่เกิน 300,000 – 400,000 กว่าล้านบาท เราจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในทุกเดือนในรอบเดือนหรือเดือนละประมาณ 30,000 ล้านทันที ขณะที่แรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นลูกหลานซึ่งต้องดูแลผู้สูงอายุเยอะขึ้นไม่ต้องทำงานล่วงเวลา อย่างน้อย 30 ชั่วโมง ถ้าได้ชั่วโมงละ 100 บาท ชีวิตที่มีเวลาดูแลลูกมากขึ้น 1 ชั่วโมงมันเป็นเศรษฐศาสตร์แห่งความสุข นี้คือการพัฒนาคุณภาพชีวิต เพราะฉะนั้นเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่มองเฉพาะตัวเลขไม่สอดคล้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต”

 

“ถ้ามีเงิน 560,000 ล้านบาทตั้งเป็นหลัก เราจะได้สวัสดิการถ้วนหน้า 3 อย่างทันที ได้แก่ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุประมาณ 11 ล้านคน เงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้า 4.2 ล้านคน สวัสดิการเงินอุดหนุนผู้พิการและเด็กแรกเกิด ทั้ง 3 กลุ่มหากได้ 3,000 บาทถ้วนหน้า จะมีเงินเหลืออีก 12,000 ล้านบาท ซึ่งอาจนำไปเพิ่มในส่วนงบประมาณรายหัวให้กับบัตรทองได้ด้วย”

 

 

ส่วน ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward พรรคก้าวไกล กล่าวว่า สำหรับประเด็นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ควรต้องไปคุยกับรัฐบาล เพราะ การกระตุ้นเศรษฐกิจอาจจะดูเหมือนว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจดีขึ้นจริง แต่เราลองนึกภาพลักษณะการใช้เงินว่า อยู่ ๆ เหมือนได้เงินมา 10,000 บาทและต้องใช้ให้หมดภายในหกเดือน เทียบกับได้ 3,000 บาททุกเดือนวิธีการใช้เงินต่างกันไหมและอย่าพึ่งพูดตัวเลขเงิน แต่ว่าถ้าพูดถึงวิธีการได้เงินแบบนี้ การวางแผนใช้เงินก็จะต่างกัน มีโอกาสสูงมากที่ได้รับเงินในระยะสั้นคราวเดียว อาจจะใช้ไปในลักษณะที่เป็นการซื้อสินค้าที่อาจจะไม่ใช่การลงทุน แต่เป็นสินค้าที่ดูเหมือนว่าอาจจะไม่ได้จำเป็นก็ได้

 

“จังหวะนี้มันเหมือนกับลาภลอยและเราก็รีบใช้ แต่ถ้าเราได้ 3,000 บาททุกเดือนและเราก็จะเริ่มวางแผนว่าแต่ละเดือนเราจะมาใช้ในการบริโภค การปรับปรุงคุณภาพชีวิต หรือลงทุนอย่างไร” ดร.เดชรัต กล่าว

 

 

ด้านนายเดโชนุชิต นวลสกุล โฆษกพรรคเป็นธรรม กล่าวว่า นโยบายสวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้อายุ 3,000 บาทอยู่ในแนวคิดของพรรคเป็นธรรมที่ต้องทำ แต่มองไปไกลว่าจะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุมีรายได้ซึ่งเชื่อว่าคนที่มีอายุ 60 ปียังสามารถทำงานได้

 

“ต้องเปลี่ยนแนวคิดออกนอกกรอบของผู้บริหารประเทศโดยต้องไม่คิดว่ากระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นกระทรวงเกรดซีหรือเกรดดี แต่ต้องเป็นกระทรวงเกรดเอ เพราะถือว่าเป็นเรื่องของชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เราจะมีโครงสร้างใหญ่โตจะมีอาวุธยุทโธปกรณ์มากมาย แต่ถ้าคนในประเทศเราอ่อนแอ เราจะไปสู้กับประเทศอื่นได้ยังไง เพราะฉะนั้นผมคิดว่ามันถึงเวลาที่จะทวงสิทธิ์ของเราคืน” เดโชนุชิตกล่าว

 

สำหรับนายสงกรานต์ จิตสุทธิภากร ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลใหม่เปลี่ยนวิธีคิดมองกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ไม่ได้เป็นกระทรวงสงเคราะห์ เนื่องจากอีกหน่อยจะมีขนาดใหญ่กว่ากระทรวงมหาดไทยเนื่องจากผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้นและรัฐบาลควรต้องจัดสรรงบประมาณและอุดหนุนเต็มที่

 

“ควรจัดลำดับใหม่ว่างบผู้สูงอายุควรจะอยู่ที่กระทรวง พม. ที่เดียว แล้วให้กำหนดชัดเจนมาจากสำนักงบประมาณเลย เนื่องจากตอนนี้เบี้ยผู้สูงอายุอยู่ที่มหาดไทย และต้องใช้วิธีตั้งเบิกตามช่วงเวลา ที่ให้มีปัญหาในการจัดการและพัฒนาในภาพรวม”

 

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคสนับสนุนและคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากสิทธิของผู้บริโภคที่สำคัญคือสิทธิที่เข้าถึงการบริการที่จำเป็นในการดำรงชีวิต ซึ่งสภาองค์กรผู้บริโภคได้หารือว่าจะแก้ไข พรบ.คุ้มครองผู้บริโภคให้รวมถึงสิทธิที่ผู้บริโภคควรจะได้รับความจำเป็นขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่อยู่อาศัยหรือเรื่องสวัสดิการขั้นพื้นฐาน

 

“ปัจจุบันงบประมาณแผ่นดินอยู่ที่ประมาณ 3.3 ล้านล้านบาทถ้าจัดสรรให้ผู้สูงอายุ 12 ล้านคน คนละ 3,000 บาทก็จะใช้งบประมาณ 400,000 ล้านบาทซึ่งรัฐบาลควรจัดสรรมาให้ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณแผ่นดินของทุกปีสำหรับการสร้างหลักประกันด้านรายได้ของผู้สูงอายุ” นางสาวสารีกล่าวและว่า “เราก็ตั้งคำถามว่าถ้าจริง ๆ ทุกคนมีหลักประกันด้านรายได้ของตัวเองโดยเฉพาะผู้สูงอายุคนละ 3,000 บาทสูงกว่า 2,804 บาทซึ่งเป็นเส้นความยากจน ก็น่าจะเรียกว่าเซฟตี้เนตของครอบครัว อย่างน้อยเมื่อลูกตกงานกลับไปอยู่กับพ่อแม่ได้ สร้างความมั่นคงทางรายได้ แทนที่เราจะต้องมีโครงการพิเศษหรือการใช้เงินพิเศษทุกครั้งที่เกิดปัญหาอย่างกรณีโควิด 19 เพราะการสร้างหลักประกันให้คนเป็นเรื่องสำคัญ”

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

 

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube