fbpx
Home
|
ทั่วไป

สรส. จัดเสวนา ยกระดับการขับเคลื่อน หลังปัญหาการจำหน่ายสุรา

Featured Image

 

 

 

สรส. จัดเสวนา พร้อมออกแถลงการณ์ ยกระดับการขับเคลื่อน หลังปัญหาการจำหน่ายสุราสามทับในประเทศยังไม่ได้รับการแก้ไข เตรียมเข้าพบ รมว.คลัง 21 ธ.ค.นี้

 

 

 

 

(14 ธค.66 )สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ร่วมกับสภาแรงงานแห่งชาตินอร์เวย์ (LO-NORWAY) และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การสุรา จัดเวทีเสวนา “เปิดเสรีแอลกอฮอล์ (สุราสามทับ) ผลประโยชน์แสนล้าน ใครได้ใครเสีย”

 

 

 

 

โดยมี นายมานพ เกื้อรัตน์ เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กล่าวเปิดพิธี ณ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทาราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ น.ส.เบญจมาศ เชาวน์ไว กรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การสุรา กล่าวว่า องค์การสุรา กรมสรรพสามิต เป็นผู้ผลิตสุราสามทับ หรือเอทิลแอลกอฮอล์ที่มีแรงดีกรีตั้งแต่ 80 ดีกรีขึ้นไป จัดเป็นสุราประเภทหนึ่งที่ต้องเสียภาษี และขายในประเทศได้เฉพาะรัฐวิสาหกิจไทย

 

 

 

 

มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรม ยา อาหาร และอื่น ๆ เป็นสินค้าที่มีผลต่อค่าครองชีพของประชาชน จึงจัดเก็บภาษีลิตรละ 6 บาทเท่านั้น ซึ่งอาจมีบางคนใช้ช่องทางนี้เพื่อนำไปใช้ทำสุรา ด้วยเหตุนี้จึงต้องให้รัฐวิสาหกิจเป็นผู้ควบคุมการจำหน่าย

 

 

 

 

 

ปัจจุบันมีเอกชนบางรายได้สิทธิ์ภาษีอัตราศูนย์ จัดจำหน่ายสุราสามทับในประเทศภายใต้ชื่อวัตถุเจือปนอาหาร ทั้งที่มีสูตรทางเคมีลักษณะเดียวกับสุราสามทับทุกประการ โดยสิทธิ์ดังกล่าวมาจากประกาศของกรมสรรพสามิตที่อนุญาตให้เอกชนที่มีสิทธิ์เพียงผลิตสุราสามทับเพื่อการส่งออก กลับนำมาเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตสินค้าที่ชื่อว่าวัตถุเจือปนอาหารจำหน่ายในประเทศ แต่ยังคงคุณลักษณะไม่ต่างจากสุราสามทับ ส่งผลให้ผู้ใช้สุราสามทับเลือกไปซื้อวัตถุเจือปนอาหารกับเอกชนแทน เพราะไม่ต้องถูกควบคุมสินค้า รวมทั้งได้ราคาที่ถูกลง

 

 

 

สำหรับวงเสวนา นายศรพรหม ตันวัฒนเสรี ที่ปรึกษาสมาคมสุราท้องถิ่นไทย กล่าวว่า ตนมองว่ากรมสรรพสามิตอาจตีความกฎหมายผิด ประกาศที่ออกเพื่อเอื้อให้เอกชนบางราย เป็นกฎหมายที่ผิดเพี้ยน และไม่ชอบธรรม ทั้งที่สูตรเคมี ส่วนผสม ทุกอย่างเหมือนกันหมด แต่กรมสรรพสามิตกลับบอกว่าไม่เหมือนกัน หากมีการนำวัตถุเจือปนอาหารไปผลิตน้ำผลไม้จะเป็นอย่างไร เพราะไม่ถือว่าเป็นแอลกอฮอล์ การตัดสินว่าสิ่งไหนเป็นหรือไม่เป็นสุรา ไม่ใช่ อย. แต่เป็นหน้าที่กรมสรรพสามิต จึงเรียกร้องให้กรมสรรพสามิตต้องเข้ามาดูแล และทำหน้าที่ให้ถูกต้อง

 

 

 

 

 

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) กล่าวว่า มีการยื่นหนังสือหลายที่เพื่อปกป้ององค์การสุรา แต่การตรวจสอบกลับใช้เวลายาวนานจนปัจจุบันก็ยังไม่ได้คำตอบเรื่องวัตถุเจือปนอาหาร ซึ่งตนมองว่าต่อจากนี้สุราสามทับจะกระจายไปในอุตสาหกรรมอื่น และตรวจยากมากขึ้น เชื่อว่าจะมีการเล็ดลอดแน่นอน เนื่องจากได้ภาษีที่ถูกอันเกิดจากการตีความว่าเป็นวัตถุเจือปน มีความเป็นไปได้สูงว่าองค์การสุราจะอยู่ไม่ได้ กรมสรรพสามิตควรออกมาทำหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็น และให้คำตอบ

 

 

 

 

 

นางสาวณัชชา จันไขโคตร นักวิชาการอาหารและยาชำนาญการ อย. กล่าวว่า เวลาที่ดูว่าสิ่งไหนเป็นวัตถุเจือปนอาหาร จะดูนิยามว่าเป็นอาหาร หรือเข้าใจว่าใช้ในอาหาร รวมถึงใช้ในกระบวนการผลิตอาหาร เช่น แอลกอฮอล์ ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องยื่นขอใบเอกสารให้ อย.เพื่อตรวจสอบว่าเป็นไปตามข้อกำหนดกระทรวงสาธารณสุขหรือไม่ ถ้าผ่านเกณฑ์จะเข้าสู่การออกใบอนุญาตให้ ถ้าเป็นวัตถุเจือปนอาหาร หรือแอลกอฮอล์จะต้องดูว่าใช้ในลักษณะใด ทั้งนี้ อย.จะถามวัตถุประสงค์การใช้ ถ้าอาหาร ยา เครื่องสำอางค์ จะมีฉลากชัดเจนให้แสดง หรือเข้าไปสืบค้นได้ และต้องใช้ให้ตรงกับที่ฉลากบอก

 

 

 

 

 

ภายหลังการจัดเวทีเสวนา สรส. ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง เปิดเสรีแอลกอฮอล์ (สุราสามทับ) ทำให้รัฐสูญเสีย ประเทศชาติและประชาชนเสียหาย พร้อมยกระดับขับเคลื่อนปกป้องประโยชน์ชาติและประชาชน โดยระบุไว้ดังนี้

 

 

 

“ตามที่ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ร่วมสนับสนุนช่วยเหลือองค์กรสมาชิก กรณีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การสุรา (สร.สร.) ในการขับเคลื่อนกิจกรรมรณรงค์เพื่อให้องค์การสุราได้ทำหน้าที่ จัดบริการสาธารณะด้านสุราสามทับ และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องของประเทศเพื่อความมั่นคงของชาติและประชาชน และได้สะท้อนข้อเท็จจริงที่เป็นปัญหามาโดยตลอด ด้วยคาดหวังว่า หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่ากรมสรรพสามิต สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) รวมถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน จนมีคำวินิจฉัยออกมา จะมองเห็นประเด็นปัญหา แล้วแสวงหาแนวทางเพื่อให้การบริหารจัดการสุราสามทับของประเทศยังคงเป็นกลไกของรัฐ และให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียม

 

 

 

 

 

สรส. พิจารณาแล้วเห็นว่าสถานการณ์ขององค์การสุรานั้นยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา แต่กลับตกอยู่ในขั้นวิกฤต ทั้งเรื่องระบบแรงงานสัมพันธ์ และการอยู่รอดขององค์กร ซึ่งผลประกอบการนับตั้งแต่ปลายปี 2565 จนถึงปัจจุบันประสบปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่องอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน นับตั้งแต่การก่อตั้งองค์การสุรา ซึ่งจากข้อมูลรายละเอียดจนถึงองค์ประกอบอื่น ๆ มีความเป็นไปได้สูงที่จะทำให้องค์การสุราไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ (ล่มสลาย) ซึ่ง สรส. มีนโยบายหลักที่ยึดถือกันนับแต่วันก่อตั้งเป็นต้นมา และองค์กรสมาชิกรับทราบกันโดยทั่วกัน คือ การคัดค้านการแปรรูปและการปกป้องรัฐวิสาหกิจและร่วมกันปกป้ององค์การสุราให้พ้นวิกฤตและสามารถทำหน้าที่ต่อไปได้ในฐานะรัฐวิสาหกิจ

 

 

 

 

สรส. จะเริ่มยกระดับการขับเคลื่อนเพื่อปกป้องผลประโยชน์ชาติและประชาชนและประเมินสถานการณ์เป็นระยะต่อจากนี้ โดยในวันที่ 21 ธันวาคม 2566 เวลา 10.00 น. จะไปพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะกำกับดูแลและเจ้าของแทนประชาชน และวันเดียวกัน เวลา 13.00 น. จะไปพบกับผู้ตรวจการแผ่นดินอีกครั้ง

 

 

 

 

จึงขอให้ องค์กรสมาชิกเข้าร่วม รวมถึง การสนับสนุนของพี่น้องขบวนการแรงงาน ขบวนการภาคประชาชน และผู้ร่วมอุดมการณ์การปกป้องผลประโยชน์ของชาติและประชาชนร่วมกันได้เข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง และ สรส. จะประเมินสถานการณ์อีกครั้งช่วงต้นปี 2567 ถึงการบรรลุเป้าหมายในการปกป้องผลประโยชน์ชาติและประชาชนและองค์การสุราร่วมกัน”

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube