fbpx
Home
|
ภูมิภาค

ผู้ว่าฯแถลงโควิด19ในเรือนจำกลางเชียงใหม่

Featured Image
ผู้ว่าฯแถลงโควิด-19 ในเรือนจำกลางเชียงใหม่ ขอประชาชนมั่นใจว่าจะไม่มีการระบาดออกสู่ชุมชนอย่างแน่นอน

นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จังหวัดเชียงใหม่ได้มีการตรวจพบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในเรือนจำกลางเชียงใหม่ ในช่วงกลางเดือนเมษายน เนื่องจากมีผู้ต้องขังจำนวนมากและอยู่ในพื้นที่ปิด จึงได้มีการนำระบบ Bubble & Seal มาใช้บริหารจัดการในเรือนจำตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 64 ซึ่งมีกำหนดระยะเวลาการดำเนินการ 28 วัน การดูแลจะคล้ายการล็อกดาวน์ในทุกห้อง ทุกแดน และค้นหาผู้มีอาการเข้ารักษาที่โรงพยาบาลสนามเรือนจำกลางเชียงใหม่ พร้อมตรวจหาภูมิคุ้มกันโรคในทุก 14 วัน ทั้งนี้ คาดว่าในรอบสุดท้ายจะมีผู้ต้องขังที่ไม่มีภูมิคุ้มกันเพียง 10% และจะสามารถส่งคืนพื้นปลอดภัยให้แก่เรือนจำกลางได้ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 ขณะนี้การดำเนินงานเป็นไปตามแผนและมีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามลำดับ

สำหรับจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อกว่า 3 พันคน ในเรือนจำกลางเชียงใหม่นั้น ทั้งหมดอยู่ภายใต้การดูแลรักษาและการควบคุมการแพร่ระบาด กรณีมีผู้ต้องขังพ้นโทษก็ยังคงต้องกักตัวเองอีก 14 วัน เพื่อความปลอดภัยของประชาชนภายนอก และเชื่อมั่นว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดภายในเรือนจำกลางอย่างแน่นอน

ด้าน พลตรีถนัดพล โกศัยเสวี รองแม่ทัพภาคที่ 3 ในฐานะผู้แทนกองทัพบก กล่าวถึงความร่วมมือของกองทัพภาคที่ 3 ในช่วง 17 วัน ที่ผ่านมา ได้มีการหารือกันตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน ที่ผ่านมา และมีการประชุมกันอย่างต่อเนื่อง โดยทางกองทัพภาคที่ 3 ได้ให้การสนับสนุนจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งด้านการดูแลและสนับสนุนกำลังพล ยุทโธปกรณ์ โดยกองทัพภาคที่ 3 ได้มอบหมายให้เจ้ากรมแพทย์ทหารบก จากโรงพยาบาลค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ดูแลภายในเรือนจำ และมีกองพลทหารราบที่ 7 ดูแลเรื่องความเป็นอยู่ภายนอกเรือนจำ ซึ่งทั้งหมดนี้ได้วางกระบวนการขั้นตอนไว้อย่างชัดเจน โดยนำตัวอย่างจากเรือนจำจังหวัดนราธิวาสมาเป็นต้นแบบ ในการบริหารจัดการภายในเรือนจำกลาง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้ขอยืนยันว่าหน่วยการแพทย์ที่อยู่ภายในเรือนจำยังคงเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงทั้งหมด ดังนั้นตามที่มีข่าวที่ออกไปนั้น ขอให้มั่นใจได้ว่าจังหวัดเชียงใหม่ กองทัพบก และกรมราชทัณฑ์ได้ระดมกำลังช่วยกันอย่างเต็มที่

ด้าน นายแพทย์จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ตามปกติการควบคุมโรคจะแบ่งออกเป็น 2 แบบ ด้วยกันก็คือ มาตรการควบคุมโรคในพื้นที่เปิด หรือพื้นที่ทางสังคม ซึ่งจะใช้มาตรการจากทางศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. เป็นหลัก ส่วนการควบคุมโรคในพื้นที่ปิด อาทิ เกาะขนาดเล็ก หรือโรงงานบางแห่งที่มีที่พักอยู่ภายใน รวมทั้งเรือนจำ ซึ่งมีกิจกรรมทางสังคมที่ไม่ซับซ้อน จำเป็นต้องใช้มาตรการควบคุมโรคอีกรูปแบบหนึ่ง หลังจากมีการตรวจพบว่ามีการระบาดในเรือนจำตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายน จึงได้มีมติร่วมกันให้ใช้มาตรการ bubble and seal ซึ่งเป็นมาตรการที่เคยใช้ควบคุมโรคในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครมาแล้ว โดยในวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา ทางกระทรวงสาธารณสุขได้ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยวางระบบ นำโดยอธิบดีกรมควบคุมโรค

สำหรับมาตรการ Bubble and seal ที่นำมาใช้ในเรือนจำกลางเชียงใหม่นั้น จะต้องจำกัดขอบเขตในการควบคุมโรคไม่ให้มีการกระจายจากแดนสู่แดน หรือกระจายสู่พื้นที่ภายนอก โดยการ Seal หรือปิดพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดไว้ จำนวน 14 วัน 2 รอบ รวมเป็น 28 วัน และในระหว่างการควบคุมโรคจะต้องเร่งค้นหาผู้ที่มีอาการของโรค เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการการรักษาให้รวดเร็วที่สุด นอกจากนี้ยังได้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามภายในเรือนจำ เพื่อรักษาผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง ส่วนผู้ต้องขังที่มีอาการหนักจะทำการส่งตัวออกมารักษาที่โรงพยาบาลภายนอก โดยจนถึงขณะนี้มีผู้ต้องขังที่ส่งตัวออกมารักษาภายนอกเพียงแค่ 6 ราย เท่านั้น

นอกจากนี้ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ยังได้ชี้แจงว่า ขณะนี้ทางจังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินมาตรการ Bubble and seal มาได้แล้ว 3 สัปดาห์ เหลือเวลาอีกเพียง 1 สัปดาห์ และหลังจากนั้นจะใช้เวลาอีก 5 วัน ในการตรวจหาภูมิคุ้มกันของผู้ต้องขังทั้งหมดอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งคาดว่าจะพบผู้ที่ไม่มีคุ้มกันเหลืออยู่เพียงร้อยละ 10 เท่านั้น และจะได้นำผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันนี้มาตรวจหาเชื้ออีกหนึ่งรอบ เพื่อคัดแยกออกจากกลุ่มผู้ต้องขังทั้งหมด หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการคาดว่าจะสามารถคืนพื้นที่ปลอดภัยให้กับเรือนจำกลางเชียงใหม่ได้ภายในวันที่ 28 พฤษภาคม นี้

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube