fbpx
Home
|
อาชญากรรม

ชาวประมง รวมตัวฟ้อง เอกชน ทำน้ำมันรั่ว ทะเลระยองปี65 เรียกค่าเยียวยา 4.2 ล้าน

Featured Image

 

 

 

ตัวแทนชาวประมง จ.ระยอง ยื่นฟ้อง บริษัทเอกชน ทำน้ำมันดิบรั่วไหล ไร้การเยียวยาตามสมควร เรียกค่าชดเชยรวม 4.2 ล้าน พร้อมขอเร่งฟื้นฟูระบบนิเวศน์ทางทะลกลับคืนสภาพเดิม

 

 

 

 

วันนี้ (28 มี.ค.67) ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก นายละม่อม บุญยงค์ ประธานองค์กรประมงท้องถิ่นปากน้ำบ้านเรา พร้อมด้วยตัวแทน ชาวบ้านจากจังหวัดระยองที่เป็นกลุ่มประมงเรือเล็ก กลุ่มลูกจ้างประมงและกลุ่มค้าขายที่ได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำมันรั่วในทะเลระยองเมื่อต้นปี 2565 รวม 14 คน และ นายสมชาย อามีน ประธานคณะอนุกรรมการสิ่งแวดล้อมฝ่ายคดีและปฏิบัติการ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ มายื่นฟ้อง บริษัทเอกชน ที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับพลังงาน กับพวก เป็นจำเลยที่ 1-6 เรื่องละเมิดตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 เรียกค่าเสียหาย รวม 4,200,000 บาท

 

นายสมชาย กล่าว กล่าวว่าคดีนี้เป็นการฟ้องคดีแบบละเมิด เรื่องสิ่งแวดล้อม กรณีเกิดเหตุน้ำมันรั่วที่ทะเลจังหวัดระยองเมื่อต้นปี 2565 แต่คดีนี้ ผู้ประกอบการขาดความรับผิดชอบการชดเชยความเสียหายให้กับชาวบ้านในพื้นที่จึงรวมตัวกันมาฟ้องคดีที่ศาลแพ่ง แผนกคดีสิ่งแวดล้อมเป็นคดีแบบกลุ่ม โดยมีตัวแทนฟ้องคดี 14 คน เป็นตัวแทนของชาวบ้านที่เสียหายในแต่ละกลุ่มเช่นกลุ่มประมงเรือเล็กกลุ่มลูกจ้างประมงและกลุ่มค้าขายที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการในพื้นที่ไม่ได้ เนื่องจากมีเหตุน้ำมันรั่วจึงรวมตัวกันมาฟ้องวันนี้ เป็นตัวแทนโจทก์ 14 คน และมีสมาชิกกลุ่ม อีก ประมาณ 800 คน นอกจากนี้แล้วสมาชิกกลุ่มที่ไม่ทราบชื่อและหากได้รับความเสียหายในลักษณะเดียวกันสามารถมีสิทธิ์ที่จะได้รับค่าชดเชยเยียวยาได้เช่นเดียวกัน

 

โดยค่าเสียหายที่มีการเรียกคือชดเชยค่าขาดรายได้ ขาดการใช้ประโยชน์ในการทำมาหากินได้เหมือนเดิม การถูกละเมิดสิทธิ์ในสิ่งแวดล้อมที่ชาวบ้านมีวิถีชีวิตในการหาของกินทางทะเล ไม่สามารถใช้สมบัติทางทะเลได้เหมือนเดิม เป็นการฟ้องละเมิดเรื่องสิทธิสิ่งแวดล้อม รวมทั้งขอให้มีการฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลที่เสียหายให้จากการประกอบกิจการของบริษัทเรานี้

 

นายสมชาย ยังกล่าวด้วยว่า เหตุเหล่านี้เกิดขึ้นมาซ้ำซากหลายครั้งแล้วตลอดเวลา 10 ปีที่ผ่านมาปัญหาเรานี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข ต้องการจะฟ้องให้เห็นว่าถ้าผู้ประกอบการละเลยในการปฏิบัติหน้าที่อย่างแท้จริง ก็ต้องได้รับบทเรียนในการฟ้องคดีแบบกลุ่ม เพราะผู้เสียหายไม่ใช่มีแค่ 14 รายมีเป็นร้อย เป็นพัน เป็นหมื่นคนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและได้รับความเสียหายเพราะฉะนั้นการฟ้องคดีแบบกลุ่มจะสร้างพลังต่อรองกดดันให้กับบริษัทต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบมากยิ่งขึ้น

 

 

ในส่วนของค่าเสียหายที่มีการเรียกร้องให้มีการชดเชยเยียวยาโจทย์ 14 คนเรียกค่าเสียหายคนละ 300,000 บาท รวมทั้งหมด 4,200,000 บาทแต่สมาชิกกลุ่มที่ทราบชื่ออีกประมาณ 800 คน หากมีการเรียกค่าชดเชยเยียวยา คนละ 300,000 บาทรวมมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 240 ล้านบาท

 

ขณะเดียวกัน ได้ฝากถึงผู้ประกอบการ ว่าข้อเท็จจริงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คือ ท่อที่ใช้สำหรับการขนส่งทางทะเล มีการใช้งานมานานมีการชำรุดบกพร่อง ซึ่งตรงนี้เป็นความรับผิดชอบของบริษัทผู้ประกอบการจะต้องมีความระมัดระวังในการประกอบกิจการ ไม่ใช่ว่าพอเกิดปัญหาขึ้นมาแล้วแก้ปัญหาเป็นครั้งๆไป กรณีนี้จะเห็นได้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกระทบกับคน ทั้งจังหวัด ที่ใช้ประโยชน์จากทางทะเลฉะนั้น นอกจากฟ้องบริษัทที่ประกอบการแล้ว ยังฟ้องตัวกรรมการบริษัทซึ่งมีอำนาจในการกำกับดูแล ให้ต้องรับผิดชอบร่วมกับบริษัท ในการละเมิดครั้งนี้ ด้วย

 

ทางด้าน นายละม่อม บุญยงค์ ประธานองค์กรประมงท้องถิ่นปากน้ำบ้านเรา ตัวแทนของชาวบ้าน กล่าวว่า หลังเกิดเหตุชาวบ้านได้รับผลกระทบจากกรณีของ สัตว์น้ำที่เคยทำประมงได้หายไป ชาวประมงยังคิดอยู่ว่า ผลกระทบในครั้งนี้อีกกี่ปีถึงจะได้รับการแก้ไข และสัตว์น้ำถึงจะกลับมา ชาวบ้านที่เคยทำอาชีพประมงจับสัตว์น้ำก็ไม่สามารถทำมาหากินได้ ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน และก่อนหน้านี้เคยเกิดเหตุน้ำมันรั่วเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน หรือ ประมาณ ปี 2556คดียังอยู่ระหว่างชั้นฎีกาแล้วคดีที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2565 ไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่ เพราะชาวบ้านต้องมาฟ้องคดีเองรัฐบาลไม่เคยช่วยเหลือ จึงอยากให้รัฐบาลชุดใหม่ มาช่วยเหลือ ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบด้วย

 

ทั้งนี้ ศาลแพ่ง รับสำนวนเป็นคดีหมายเลขดำที่ 2/2567 และนัดไต่สวนคำร้องคดีแบบกลุ่ม ในวันที่ 17 พ.ค.2567 09.00 น.

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

 

 

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube