fbpx
Home
|
อาชญากรรม

“ทวี” ลั่นแก้ปัญหายาเสพติดอย่างเห็นผลภายใน 1 ปี

Featured Image
รมว.ยุติธรรม เร่งขับเคลื่อนคลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมในระบบศาล ลดอัตราผู้เสพ ย้ำ ยึดหลักเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย ไม่เน้นแถลงจับยา หนุนแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

 

 

วันนี้ (21 ก.ย. 66) ที่ ห้องประชุมแกรนด์ บอลรูม โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพมหานคร พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานการให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมในระบบศาล โดยมี รองเลขาธิการ ป.ป.ส. อธิบดีผู้พิพากษาภาค 1-9 ผู้แทนสำนักงานศาลยุติธรรม ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อธิบดีและหัวหน้าศาลทั่วประเทศ เข้าร่วมประชุมกว่า 300 คน

 

พ.ต.อ.ทวี รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า การดำเนินงานให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมในระบบศาล เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหายาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่กำหนดให้ศาลพิจารณาคดีโดยคำนึงถึงการสงเคราะห์มากกว่าการลงโทษจำคุก หรือเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นการใช้วิธีการเพื่อความปลอดภัยตามประมวลกฎหมายอาญา

 

หรือการคุมประพฤติตามมาตรา 56 มาใช้แทนการลงโทษ หรือส่งตัวจำเลยเข้ารับการบำบัดรักษา ถือเป็นการจัดการปัญหายาเสพติดโดยยึดหลักการ “เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย” อย่างมีประสิทธิภาพสามารถกลับสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ และพัฒนาทักษะความสามารถให้เข้าสู่ภาคแรงงานต่อไป ถือเป็นหมุดหมายสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของคลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคม และการแก้ปัญหายาเสพติดของประเทศอย่างยั่งยืน

 

พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า เราจะแก้ปัญหายาเสพติดอย่างเห็นผลภายใน 1 ปี ไม่ใช่เพียงการนำยาเสพติดที่ได้จากการจับกุมมาแถลงข่าว แต่การเห็นผลที่แท้จริงคือจะทำอย่างไรให้หมู่บ้านและชุมชนไม่มียาเสพติด นอกจากนี้ ในส่วนของอัตราจำนวนผู้เสพยาเสพติดที่เพิ่มขึ้น หรือเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในเรือนจำนั้น ตามหลักการแล้ว หากผู้เสพยาเสพติดสมัครใจเข้ารับการบำบัด

 

ก็จะไม่ได้เข้ากระบวนการยุติธรรม โดยจะเข้าระบบของกระทรวงสาธารณสุข ได้พบแพทย์ และก็จะมีรายละเอียดการบำบัดต่างๆ ส่วนรายใดที่ถูกดำเนินคดี เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้วถูกส่งไปที่ศาล ตามขั้นตอนศาลก็มีการดำเนินการ โดยเฉพาะในส่วนของกรมคุมประพฤติ ทราบว่ามีผู้เสพยาเสพติดที่อยู่ในระหว่างกระบวนการศาลสั่งคุมประพฤติ ประมาณ 1.8 แสนราย

 

อย่างไรก็ตาม แม้เป็นขั้นตอนที่มาจากการใช้กฎหมาย แต่เราก็เน้นที่การบำบัดฟื้นฟูร่วมด้วย ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ ไม่ได้แก้ปัญหาเฉพาะในส่วนราชทัณฑ์และกรมคุมประพฤติเท่านั้น แต่ช่วยแก้ได้ทั้งระบบ เพราะยาเสพติดเป็นปัญหาที่ทุกหน่วยงานต้องเข้ามาช่วยกันดูแล

 

 

พ.ต.อ.ทวี กล่าวด้วยว่า แม้มีกฎหมายที่ระบุว่าผู้เสพคือผู้ป่วย แต่ยาเสพติดจะมี 3 สถานะ คือ สถานะทางการกฎหมาย คือ ผู้กระทำผิด สถานะของหมอ คือ ผู้ป่วย สถานะของประชาชน คือ ยาเสพติดเป็นภัย เป็นอาชญากรรม ถือเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่านอย่างกรณีของศาล จะสามารถเข้ามาช่วยในเรื่องการให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมในระบบศาล ตามที่โครงการมีวัตถุประสงค์เดิมอยู่แล้ว แต่ตนก็ได้ขอร้องให้ศาลได้ทำโครงการดังกล่าวให้ครบทั้งประเทศไทย

 

ส่วนนโยบายเกี่ยวกับการยึดทรัพย์สินของเครือข่ายยาเสพติดใน 1 ปี นั้น พ.ต.อ.ทวี มองว่าหากนำเงินเป็นตัวตั้ง อาจจะสร้างปัญหากับประชาชน โดยกระบวนการจะต้องขึ้นกับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ไม่ทำตามความรู้สึก แต่ให้ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานด้วย แม้การยึดทรัพย์สินของเครือข่ายอาชญากรรมยาเสพติด อำนาจของเลขาธิการ ป.ป.ส.

 

จะสามารถมีคำสั่งอายัดไว้ก่อน แต่ก็ถือเป็นทรัพย์สินต้องสงสัยว่าได้มาจากการค้ายาเสพติด จากนั้นจะเป็นคณะกรรมการที่จะต้องมีการประชุมพิจารณาว่าจะดำเนินการยึดหรือไม่ ส่วนขั้นตอนหลังจากนั้นจะต้องเป็นศาลที่มีคำสั่งยึดให้ตกเป็นของแผ่นดิน ทั้งนี้ ตนจะไปทำความเข้าใจอีกครั้งว่าตัวเลขคดียาเสพติดเป็นอย่างไรบ้าง ศาลได้มีการสั่งยึดทรัพย์สินไปอย่างไรบ้าง จากรายคดีกี่คดี แต่ถ้าเราไปกำหนดจำนวนเงินที่จะยึดเลยนั้น หากบุคคลนั้นๆไม่ได้กระทำความผิด แม้แต่ 1 คน หากเราไม่ยุติธรรม ถือว่าเราเสียหาย แต่เมื่อมุ่งมั่นจะทำหลักนิติธรรมให้เข้มแข็ง เราต้องใช้กฎหมายให้ยุติธรรม ไม่ใช้ความรู้สึกในการปฏิบัติงาน

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube