fbpx
Home
|
อาชญากรรม

รองปลัด ยธ. เผย ทักษิณ ยังไม่ยื่นขออภัยโทษ

Featured Image
รองปลัด ยธ. เผย ทักษิณและครอบครัว ยังไม่ได้ยื่นเอกสารขออภัยโทษ ชี้ ต้องพรรณาเหตุขอทูลเกล้าฯให้ละเอียด

 

 

 

 

วันนี้ (29 ส.ค.66) ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ว่า สำหรับขั้นตอนการเยี่ยมหลังจากนี้ก็จะเป็นขั้นตอนปกติที่ญาติหรือครอบครัวตามที่มีการระบุไว้ 10 รายชื่อ ซึ่งจะทยอยเข้าเยี่ยมกันตามลำดับการจอง ถือเป็นสิทธิ์ของญาติของผู้ต้องขัง ส่วนถ้าหากบุคคลใดประสงค์จะเข้าเยี่ยมเพิ่มเติมอีกครั้งก็จะต้องดำเนินการลงทะเบียนจองล่วงหน้ากับเรือนจำ/กรมราชทัณฑ์ โดยจะต้องมีการระบุวันที่และลงเวลาสำหรับการเข้าเยี่ยมในครั้งถัดไป เพื่อเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบว่าวันที่เวลาดังกล่าวไปตรงกับของบุคคลอื่นหรือไม่ อีกทั้งขณะนี้นายทักษิณยังอยู่ภายใต้ระเบียบการควบคุมตัวของกรมราชทัณฑ์

 

 

ส่วนเวลาการเข้าเยี่ยมนั้น ราชทัณฑ์จะยึดตามเวลาการเปิดทำการของโรงพยาบาลตำรวจ และให้สอดคล้องไปกับระเบียบของกรมราชทัณฑ์มากที่สุด คือ ตั้งแต่เวลา 10:00 น.- 16:00 น. และการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังป่วยจะอยู่ภายใต้การกำกับรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์โดยตรง ห้ามผู้ได้รับการอนุญาตเข้าเยี่ยมนำเครื่องมือสื่อสารหรืออุปกรณ์โทรศัพท์มือถือเข้าไปภายในห้องผู้ป่วยเด็ดขาด เพื่อป้องกันการบันทึกภาพและเสียง และต้องสวมหน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัด

 

 

เมื่อถามถึงประเด็นการเข้าเยี่ยมว่าในการเข้าเยี่ยม 1 ครั้งภายในห้อง 1401 ญาติและครอบครัวสามารถเข้าไปภายในห้องได้กี่คน มีการจำกัดจำนวนคนต่อการเข้าเยี่ยม หรือจำกัดเวลาเยี่ยมอย่างไรบ้างนั้น นายสหการณ์ ระบุว่า ข้อมูลรายละเอียดดังกล่าวนี้ จะเป็นในส่วนรับผิดชอบของผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครที่จะต้องให้ข้อมูล เพราะค่อนข้างเป็นรายละเอียดเชิงลึก ตนจึงระบุไม่ได้ เกรงว่าข้อมูลอาจมีความคลาดเคลื่อน

 

 

วนความคืบหน้าล่าสุด เรื่องการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษของนายทักษิณและครอบครัวนั้น นายสหการณ์ กล่าวว่า ตนยังไม่ได้รับรายงานการสอบถามเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว แต่ถ้ามีความประสงค์จะยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ ทางครอบครัวโดยสายเลือดหรือผู้ต้องขังเองจะติดต่อยังเรือนจำฯ ส่วนเอกสารที่จะต้องใช้ประกอบการยื่นฎีกา ยกตัวอย่างเช่น เอกสารคำพิพากษาของศาลเกี่ยวกับรายคดีของเจ้าตัว เอกสารรายงานคุณงามความดี ข้อมูลประวัติการรักษาอาการเจ็บป่วย และหลักฐานอื่นๆส่วนตัวที่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องขัง รวมถึงผู้ต้องขังที่ประสงค์ยื่นขอทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา จะต้องมีการกรอกข้อมูลตามแบบคำร้องบังคับของทางเรือนจำฯ ซึ่งจะมีรูปแบบตัวคำร้องนี้อยู่ อีกทั้งจะต้องมีการเขียนพรรณนาถึงสาเหตุการทูลเกล้าฯถวายฎีกาในครั้งนี้ให้ครบถ้วน

 

 

ทั้งนี้ นายสหการณ์ กล่าวปิดท้ายว่า การยื่นขอพระราชทานอภัยโทษของผู้ต้องขัง หากรายใดดำเนินการเรื่องเอกสารเสร็จสิ้นก่อนก็ยื่นให้กับทางเจ้าพนักงานเรือนจำได้ทันที เนื่องจากทางกรมราชทัณฑ์ไม่ได้มีการกำหนดถึงการยื่นฎีกาว่าจะต้องมีการรวบรวมรายละเอียด/เอกสารของผู้ต้องขังเป็นกลุ่มแต่อย่างใด แต่ว่าเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็ต้องดำเนินการต่อเนื่องเป็นไปตามขั้นตอนปกติ ส่วนเรื่องของผลฎีกาภายหลังมีการยื่นทูลเกล้าฯ จะเป็นในส่วนของพระราชอำนาจ ที่จะทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยแจ้งมายังเรือนจำ/ราชทัณฑ์ ซึ่งถ้าผลปรากฏว่ายกฎีกา ตามขั้นตอนของกฎหมายก็ได้มีการกำหนดไว้ว่าจะต้องรออีก 2 ปี เพื่อดำเนินการยื่นขอทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาใหม่อีกครั้ง

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube