fbpx
Home
|
อาชญากรรม

ร้องป.เอาผิดแรงงานเมียนมาร์กล่าวหากักขังหน่วงเหนี่ยว

Featured Image
ทนายอนันต์ชัย พานายจ้างร้องกองปราบฯ เอาผิดแรงงานเมียนมาร์ให้การเท็จ หลังถูกดีเอสไอดำเนินคดีกักขังหน่วงเหนี่ยวแรงงานข้ามชาติ

นายอนันต์ชัย ไชยเดช ทนายความ พา น.ส.สุธิดา เนาว์รุ่งโรจน์ นายจักกฤษณ์ วิบูลย์ลักษณากุล และ น.ส.ลักษมน วิบูลย์ลักษณากุล เข้าพบ พ.ต.ท.หญิง บุญทิวา ลิ้มศิริลักษณ์ รองผกก.สอบสวน กก.2.บก.ป. เพื่อดำเนินคดีข้อหา แจ้งข้อความอันเป็นเท็จให้ได้รับโทษทางอาญาโดยมิได้มีกระทำความผิดเกิดขึ้น และกรรโชกทรัพย์ กับ แรงงานชาวเมียนมาร์จำนวน 15 คน ซึ่งมีผู้อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่สถานทูตเมียนมาร์ หลังจากเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2564 เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอและตำรวจ เข้าตรวจค้นและช่วยเหลือแรงงานชาวเมียนมาร์จำนวน 18 คน ที่โรงงานทำขนมเยลลี่ ในซอยลาดพร้าว 6 เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ โดยมีน.ส.ลักษมน เป็นเจ้าของสถานที่

นายอนันต์ชัย เปิดเผยว่า ขอเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับครอบครัวนี้ โดยเตรียมยื่นเรื่องขอความเป็นธรรมกับสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาร์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เกี่ยวกับการดำเนินคดีของดีเอสไอ โดยยืนยันว่า ครอบครัวนี้ ไม่เคยกระทำการกักขังหน่วงเหนี่ยวแรงงานข้ามชาติ ตามที่มีการกล่าว อ้างถึงในคดีดังกล่าว ส่วนข้อเท็จจริง เหตุนี้เริ่มต้นมาจากเมื่อเดือนกันยายน 2563 ก่อนเกิดเหตุมีคนงานประมาณ 23 คน ทำงานจ้างเหมากับบริษัทแห่งหนึ่งในลักษณะไปเช้า-เย็นกลับ ไม่ได้ค้างอยู่ที่โรงงาน แต่ในช่วงปี 2563 จังหวัดสมุทรสาคร ประกาศห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว และมีการลอยแพแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก ทำให้ในวันที่ 19 ธันวาคม 2553 นายจ้างเดิมที่แรงงานกลุ่มนี้ทำงานด้วย ขับไล่แรงงานออกจากที่ทำงาน และคนในครอบครัวนี้ เกิดความสงสารจึงรับแรงงานเมียนมาร์กลุ่มนี้เข้ามาอาศัยในบ้านพักด้วย

นายอนันต์ชัย ยังกล่าวว่า นายเน ซอ โม นายหน้าจัดหางาน อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตเมียนมาร์ ต้องการเรียกเงินจำนวน 6,000 บาทจากครอบครัวนี้ หากไม่ให้จะแจ้งทางการไทยให้จับกุม ว่า ครอบครัวนี้กักขังหน่วงเหนี่ยวแรงงานผิดกฎหมายในบ้านพัก ต่อมา เจ้าหน้าที่ทางการไทยก็บุกเข้ามาที่บ้านพักตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้ว

 

ขณะที่ น.ส.ลักษมน เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปี ดีเอสไอ ไม่เคยแจ้งข้อกล่าวหา หรือไม่เคยมีหมายเรียกไปให้การ หรือชี้แจงข้อเท็จจริง แต่เจ้าหน้าที่ ดีเอสไอ กลับมานำตัวไปขึ้นศาลคดีนี้ ที่ศาลแรงงานกลาง เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2565 และได้สอบสวนตั้งแต่เวลา 20.00 น. ถึง 02.00 น. โดยไม่ยอมให้ประกันตัว และให้เข้าห้องขังที่ ดีเอสไอ 1 คืน หลังจากนั้นเพียง 8 วัน ก็ส่งฟ้องต่อศาลอาญา โดยไม่ให้โอกาสพวกตนได้ยื่นเอกสารเพิ่มเติมประกอบคำให้การ อีกทั้ง ดีเอสไอ ก็มิได้สอบสวนพยานแวดล้อม คือ ผู้ที่พักอาศัยภายในซอยที่เกิดเหตุ ว่ามีการกักขังหน่วงเหนี่ยวแรงงานชาวเมียนมาร์จริงหรือไม่ จึงทำให้พวกตนได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงเป็นอย่างมาก จึงได้ตัดสินใจมาแจ้งความดำเนินคดีกับแรงงานชาวเมียนมาร์จำนวน 14 คน และผู้ที่แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่สถานทูตเมียนมาร์ อีกด้วย

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube