fbpx
Home
|
ไลฟ์สไตล์

รู้สึกเครียด และกังวล พาทำความรู้จักกับโรควิตกกังวลทั่วไป (GAD)

Featured Image

          เป็นเรื่องปกติที่ในชีวิตของเราจะเกิดความวิตกกังวล หรือเกิดความเครียด เพราะบางสถานการณ์ก็ยากที่จะปฏิเสธ และควบคุมความวิตกกังวลเหล่านั้นไม่ให้เกิดขึ้นได้ แต่เราจะทราบได้อย่างไรบ้างว่าความวิตกกังวล หรือความเครียดที่เรากำลังเผชิญอยู่นั้นอยู่ในระดับปกติ ? 

          วันนี้เราจะพามาทำความรู้จักกับโรควิตกกังวลทั่วไป Generalized Anxiety Disorder (GAD) รวมไปถึงระดับความรุนแรง และวิธีบรรเทาอาการโรควิตกกังวลทั่วไปกันค่ะ  

โรควิตกกังวลทั่วไป (GAD) คืออะไร ?

          โรควิตกกังวลทั่วไป หรือ Generalized Anxiety Disorder (GAD) คือ การมีความเครียด หรือความกังวลในเรื่องชีวิตประจำวันมากเกินไป และบางครั้งก็ไม่สามารถระบุสาเหตุของความกังวลได้ ซึ่งทำให้มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และทำให้เกิดอาการทางร่างกาย เช่น กระวนกระวาย อ่อนเพลีย หงุดหงิด ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไม่มีสมาธิ มีปัญหาการนอนหลับ 

          หากใครกำลังเผชิญอยู่กับความวิตกกังวลจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เราลองมาตรวจเช็กกันหน่อยว่าอาการของคุณอยู่ในระดับไหน หากอยู่ในระดับที่รุนแรงจะได้รักษาได้อย่างทันด่วน 

ระดับอาการของโรควิตกกังวลทั่วไป (GAD)

  • ระดับต่ำ 

          ความวิตกกังวลระดับต่ำ ในระดับนี้ผู้ป่วยจะไม่ค่อยมีพฤติกรรม หรืออารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก และพบเรื่องความเครียด หรือความกังวลเรื่องต่างๆ ในชีวิตประจำวันแบบทั่วไป และอาจมีเพียงพฤติกรรมด้านร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การตื่นเต้น ,หัวใจเต้นเร็ว ,เหงื่อออกที่ฝ่ามือ หรือรูม่านตาขยาย ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงความกังวลระดับต่ำ แต่ก็ยังอยู่ในโรควิตกกังวลทั่วไป (GAD)

  • ระดับปานกลาง

          ความวิตกกังวลระดับปานกลาง ในระดับนี้อาจทำให้ประสาทสัมผัสและการรับรู้ลดลง ไม่ว่าจะความสนใจที่ลดลง รวมถึงอาจมีอาการทางด้านร่างกายเพิ่มเติม เช่น ปวดศีรษะ ,ปั่นป่วนในช่องท้อง แต่ผู้ป่วยที่เป็นโรควิตกกังวลในระดับนี้ก็ยังสามารถจัดการ และแก้ไขปัญหาด้วยตนเองได้อยู่

  • ระดับรุนแรง

          ความวิตกกังวลระดับรุนแรง ในระดับนี้จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการหมกมุ่นในรายละเอียดมากเกินไป อย่างการคิดวกวน ,ไม่มีสมาธิ ,ประสาทสัมผัส และการรับรู้แคบลง รวมไปถึงความสามารถในการแก้ไขปัญหาลดลง ซึ่งสามารถสังเกตได้จากอาการกระวนกระวาย ตื่นกลัว หงุดหงิด โมโห ตัวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และนอนไม่หลับ และผู้ป่วยที่เป็นโรควิตกกังวลในระดับนี้ ควรได้รับการรักษาโรควิตกกังวล และจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากผู้อื่น 

  • ระดับรุนแรงมาก

          ความวิตกกังวลระดับรุนแรงมาก แน่นอนว่าผู้ป่วยในระดับนี้จะไม่สามารถใช้ชีวิตปกติได้อย่างปกติ เพราะจะมีอาการกลัวขั้นรุนแรง หรือกลัวแบบขั้นสุด และไม่สามารถควบคุมตนเองได้ สังเกตได้จากอาการกรีดร้อง วิ่งหนี ตกใจจนหมดสติ และผู้ป่วยที่มีความวิตกกังวลในระดับนี้ จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรักษาอาการในทันที 

สาเหตุของการเกิดโรควิตกกังวลทั่วไป (GAD)  

  • สารเคมีในสมอง เกิดจากความไม่สมดุลของสารเคมีในสมองบางชนิด อย่างเซโรโทนินและนอร์อิพิเนฟริน ซึ่งมีผลต่อการควบคุมอารมณ์
  • เกิดจากพันธุกรรม  อาจถูกถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากพ่อแม่สู่ลูกได้ หากพ่อหรือแม่มีอาการของภาวะนี้ ลูกอาจมีโอกาสเป็นไปด้วยสูงถึง 5 เท่า
  • เกิดจากบุคลิกภาพและลักษณะนิสัย เช่น ความแตกต่างในการเลี้ยงดู รวมไปถึงพัฒนาการและบุคลิกภาพส่วนบุคคล
  • เกิดจากสภาพแวดล้อม และสถานการณ์ที่ตึงเครียด ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ตึงเครียดเป็นเวลานาน หรือเจ็บป่วยในระยะยาว การได้รับบาดเจ็บ รวมทั้งประสบกับเหตุการณ์ต่าง ๆ อย่างความรุนแรงในครอบครัว ถูกล่วงละเมิด ถูกกลั่นแกล้ง หรือไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม เป็นต้น 
  • เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคเครื่องดื่มคาเฟอีน การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ หรือการใช้สารเสพติด ก็มีผลทำให้เกิดโรควิตกกังวล
  • เกิดจากโรคหรือภาวะที่ทำให้มีอาการเจ็บปวดเป็นเวลานาน เช่น โรคข้ออักเสบ 

การรักษาโรควิตกกังวลทั่วไป (GAD)  

          การรักษาโรควิตกกังวลทั่วไป หรือ Generalized Anxiety Disorder (GAD) นั้นขึ้นอยู่กับระดับอาการของผู้ป่วย โดยสามารถรักษาได้ดังนี้

  1. การบำบัดทางจิต (Psychotherapy) 
  2. การบำบัดแบบปรับเปลี่ยนความคิดหรือพฤติกรรม (Cognitive-Behavioral Therapy)
  3. การใช้ยารักษา 
  4. การใช้เครื่องมือตรวจไบโอฟีดแบค (Biofeedback)

แนวทางการบรรเทาโรควิตกกังวลทั่วไป (GAD)

          ถึงแม้ว่าสถานการณ์รอบข้างจะบีบบังคับให้เจอกับเรื่องราวที่ทำให้จิตตก จนบางครั้งก็ทำให้เกิดความเครียด และความกังวลอยู่มาก หากเป็นเช่นนี้แล้วเรามาดูกันว่ามีวิธีใดบ้าง ที่จะทำให้เราสามารถบรรเทาความรู้สึกตัวเองได้ 

  • เข้าร่วมกิจกรรม หรือทำกิจกรรมที่ตนเองชอบ เพื่อผ่อนคลายความรู้สึก
  • เมื่อมีเรื่องที่อัดอั้นตันใจ ก็ควรระบาย หรือปรึกษากับคนที่เราไว้ใจ 
  • หลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นชนวนทำให้เรารู้สึกเครียด หรือเหตุการณ์ที่กระตุ้นความเครียด
  • พักผ่อนให้เพียงพอ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • หากเช็กระดับความเครียดแล้วพบว่าตัวเองมีความวิตกกังวล หรือมีความเครียดมากๆ ควรไปพบแพทย์ทันที

          อย่างไรก็ตาม ถ้าเพื่อนๆคนไหน มีอาการเครียดมากๆ จนมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรควิตกกังวล และไม่สามารถควบคุมความรู้สึก หรือพฤติกรรมของตนเองได้ ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ และทำแบบทดสอบทางจิตวิทยา ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้รับการวินิจฉัยอาการอย่างละเอียด และรักษาให้ตรงตามอาการ

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

ขอบคุณข้อมูลจาก : pobpad , chula 

ขอบคุณรูปภาพจาก : freepik 

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube