Home
|
ข่าว

“อนุทิน” รับ10ข้อเรียกร้อง-ยันเร่งปรับค่าจ้าง400ทั่วประเทศ

Featured Image
“อนุทิน” รับ 10 ข้อเรียกร้อง ยันรัฐบาลส่งเสริมคุณภาพชีวิต ให้แรงงานมีสุขภาพดี มีรายได้ มีความมั่นคง เร่งปรับค่าจ้าง 400 เท่ากันทั่วประเทศเป็นของขวัญ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม 2567 โดยมีนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวรายงาน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน นายทวี ดียิ่ง ประธานคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2567  ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ผู้นำแรงงาน และพี่น้องผู้ใช้แรงงานหลายพันคน ร่วมงาน ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
โดยนายอนุทิน กล่าวว่า ในวันนี้ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับมอบหมายจากท่านนายกรัฐมนตรี ให้มาเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติในนามของรัฐบาล เพื่อเฉลิมฉลองความสำคัญของวันแรงงานแห่งชาติ ร่วมกับพี่น้องแรงงานทุกคน ซึ่งเป็นกำลังหลักในการสร้างความเจริญก้าวหน้าต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตลอดมา ซึ่งท่านคงเห็นเหมือนที่ผมเห็น ว่าพวกเรากำลังอยู่ในยุคที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของแรงงานและการจ้างงาน ไม่ว่าจะเป็นความเปลี่ยนแปลงจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร การเข้าสู่สังคมสูงวัย หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ รวมถึงการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ ซึ่งรัฐบาลตระหนักดีถึงความท้าทายที่เกิดขึ้น จึงได้มีความพยายามดำเนินนโยบาย สร้างเสริมคุณภาพชีวิต ให้แรงงานทุกคนมีสุขภาพดี มีรายได้ มีความมั่นคง ผ่านการดำเนินงานต่าง ๆ ของกระทรวงแรงงาน ไม่ว่าจะเป็น การเร่งรัดการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท การเสนอร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ จัดหลักสูตร up skill
เพื่อแรงงานไทยในยุคดิจิทัล
โครงการฟรี Safety Service เพื่อแรงงานปลอดภัย การเร่งออกกฎกระทรวง ว่าด้วยการคุ้มครองคนทำงานบ้าน หรือการส่งเสริมการพัฒนาระบบรักษาพยาบาล SSO Healthy เพื่อความปลลอดภัยที่เพิ่มขึ้น
 ในสถานที่ปฏิบัติงาน และการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง สำหรับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงานยังได้ดำเนินการเพื่อยกระดับมาตรฐานสิทธิแรงงานไทย ด้วยการแต่งตั้งคณะทำงานการให้สัตยาบันต่อ “อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ” หลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็นฉบับที่ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว สิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วม การปรึกษาหารือไตรภาคี และอนุสัญญาที่ว่าด้วย ความปลอดภัยและสุขภาพ อนามัยในทำงาน
โดยเฉพาะฉบับที่ 144 ที่เป็นเรื่องการปรึกษาหารือไตรภาคีนั้น จะมีการเสนอคณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบในเดือนพฤษภาคมนี้ และลงนามให้สัตยาบัน
ได้เดือนมิถุนายน ณ นครเจนนีวา ต่อไป ถือเป็นข่าวดีสำหรับวันแรงงานแห่งชาติของเราในปีนี้ และแน่นอน ข้อเรียกร้องต่างๆ ที่ท่านได้นำมาเสนอในวันนี้ รัฐบาลจะรับฟัง และให้ความสำคัญในการพิจารณาขับเคลื่อนต่อไป

“ในโอกาสวันแรงงานแห่งชาติในปีนี้ ผมและรัฐบาลขอให้แรงงานไทยทุกคน มีกำลังกายกำลังใจที่เข้มแข็ง พร้อมเป็นพลังสำคัญในการร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยให้ก้าวหน้า และผมขอสนับสนุนทุกท่าน ในการช่วยกันคิด ช่วยกันเสนอแนวทางการพัฒนาร่วมกันต่อไป เพราะเราคือทีมเดียวกัน ในพันธกิจเพื่อยกระดับคุณภาพงานและคุณภาพชีวิตของแรงงานไทย เพื่ออนาคตของประเทศชาติและประชาชน” นายอนุทิน กล่าว

ด้าน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่ากากระทรวงแรงงาน กล่าวว่า รัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันแรงงานแห่งชาติ วันนี้จึงเป็นวันที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อพี่น้อง แรงงานทุกท่าน ซึ่งถือว่าเป็นกำลังสำคัญ ในการผลักดันและพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ของประเทศในทุกภาคส่วนให้เติบโต และขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน โดยในปีนี้สภาองค์การลูกจ้างรวม 16 แห่ง
สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย และศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ เห็นชอบให้นายทวี ดียิ่ง ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานอุตสาหกรรมเอกชน เป็นประธานคณะกรรมการ จัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ปี 2567โดยรัฐบาล ให้การสนับสนุนงบประมาณ วัสดุ อุปกรณ์ และอำนวยความสะดวกให้แก่คณะกรรมการ จัดงานฯ ในการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติเพื่อเป็นการตระหนัก ถึงความสสำคัญ และขอบคุณพี่น้องแรงงานทุกท่าน สำหรับข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติที่ผ่านมา
กระทรวงแรงงานได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามข้อเรียกร้องและข้อเสนอแนะ จากพี่น้องแรงงาน โดยนำข้อเรียกร้องมาดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน มีการหารือ กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มเพื่อพัฒนางานในการให้บริการพี่น้องแรงงาน และได้ประสาน แจ้งให้คณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติทราบถึงความคืบหน้าแล้ว เพราะตระหนักว่าทุกข้อเสนอแนะจะนำมาซึ่งการปรับปรุง
การดำเนินการของกระทรวงแรงงาน อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับ พี่น้องแรงงาน และสร้างความยั่งยืนในการพัฒนาประเทศสืบไป ซึ่งในการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติในปีนี้ คณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติได้จัดทำข้อเรียกร้อง จำนวน 10 ข้อ นำเสนอปัญหาที่มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และความต้องการ ของพี่น้องแรงงานเพื่อเสนอต่อรัฐบาล ต่อไป

“กระทรวงแรงงาน ตระหนักถึงพี่น้องแรงงานที่เป็นกำลังหลักในการสร้างความเจริญก้าวหน้าต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตลอดมาโดย ดำเนินนโยบาย สร้างเสริมคุณภาพชีวิต ให้แรงงานทุกคนผ่านการดำเนินงานต่าง ๆ ของกระทรวงแรงงาน อาทิ เร่งรัดการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท เท่ากันทั่วประเทศ แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการให้สัตยาบัน ต่ออนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัว
และการเจรจาต่อรองร่วม ฉบับที่ 144 ว่าด้วยการปรึกษาหารือไตรภาคี และฉบับที่ 155 ว่าด้วยความปลอดภัยและสุขภาพ อนามัยในทำงาน โดยเฉพาะฉบับที่ 144 นั้น จะเสนอคณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบในเดือนพฤษภาคม 2567 และลงนามให้สัตยาบันได้เดือนมิถุนายน 2567 ณ นครเจนนีวา ต่อไป” นายพิพัฒน์ กล่าว

 

 

สำหรับข้อเรียกร้องวันแรงงาน ปี 2567 จำนวน 10 ข้อ ได้แก่

 

 

 

1) รัฐบาลต้องรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98

2) ให้รัฐบาลตราพระราชบัญญัติ หรือประกาศเป็นกฎกระทรวงให้มีการจัดตั้ง กองทุนประกันความเสี่ยง “เพื่อเป็นหลักประกัน” ในการทำงานของลูกจ้าง

3) ให้รัฐบาลปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคม เช่น การปรับฐานการรับเงินบำนาญ โดยให้มีอัตราเริ่มต้นที่ 5,000 บาท

4) ให้รัฐบาล (กระทรวงแรงงาน) จัดสร้างโรงพยาบาลประกันสังคม และจัดตั้งธนาคารแรงงานเพื่อผู้ใช้แรงงาน

5) ให้รัฐบาล (กระทรวงแรงงาน) ใช้มาตรการอย่างเคร่งครัด ให้สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างรับเหมาค่าแรง ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 11/1

6) ให้รัฐบาลเร่งรัดให้ได้ข้อสรุปในแนวทางการจัดระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลหลังเกษียณอายุ ให้ลูกจ้างภาครัฐวิสาหกิจได้มีระบบสวัสดิการจากรัฐเทียบเคียงกับข้าราชการบำนาญ
และลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33 รวมถึงให้ลูกจ้างภาครัฐวิสาหกิจได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้จากค่าตอบแทนความชอบด้วยหลักเกณฑ์เช่นเดียวกับการลดหย่อนเงินได้ก้อนสุดท้าย
หรือลดหย่อนเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างเอกชนได้รับเมื่อถูกเลิกจ้าง

7) ให้รัฐบาลเพิ่มหลักประกันความมั่นคงให้กับลูกจ้าง โดยเร่งดำเนินการให้พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติมีผลใช้บังคับโดยเร็ว

8) ขอให้รัฐบาลยกระดับกองความปลอดภัยแรงงานขึ้นเป็น “กรมความปลอดภัยแรงงาน”

9) ให้สำนักงานกองทุนเงินทดแทนจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลส่วนที่เกินให้กับลูกจ้างจนสิ้นสุดการรักษาพยาบาลเมื่อลูกจ้างบาดเจ็บ เจ็บป่วย หรือประสบอันตราย เนื่องจากการทำงานให้กับนายจ้าง

10) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แต่งตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ ปี พ.ศ.2567 และจัดให้มีการประชุมเพื่อติดตามผลทุก 2 เดือน

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube