fbpx
Home
|
ข่าว

“วชิราภรณ์”ย้ำรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้เสียรอบโรงไฟฟ้าต้องชัดเจน

Featured Image

 

 

ประธาน กมธ.พลังงาน ย้ำชัดกระบวนการรับฟังความเห็น ทำความเข้าใจผู้มีส่วนได้เสียรอบโรงไฟฟ้าต้องชัดเจน แจ้งสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับเพื่อสร้างความเชื่อมั่นก่อนจะสรุปเป็นรายงานเสนอ กกพ.

 

 

 

น.ส.วชิราภรณ์ กาญจนะ สส.สุราษฎร์ธานี พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า กมธ.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรม ไฮเทค กบินทร์ จังหวัดปราจีนบุรี และโรงไฟฟ้าในพื้นที่ตำบลปลวกแดง จังหวัดระยอง ประกอบด้วย ผู้แทนกลุ่มปราจีนเข้มแข็งได้ขอให้กมธ.พิจารณาเกี่ยวกับการออกประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง รายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากที่ได้รับการคัดเลือก ตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed – in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573สำหรับขยะอุตสาหกรรม พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 5 เมษายน 2566 และการดำเนินการรับฟังความเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าของบริษัท กรีน แคร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด บริษัท มี พรีม เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด และบริษัท พราวฟ้า พาวเวอร์ จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรม ไฮเทค กบินทร์ จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าไม่ได้รับทราบข้อมูลและการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการจัดการรับฟังความเห็น

 

 

นอกจากนั้น มีผู้แทนกลุ่มผู้คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงจากขยะอุตสาหกรรมในพื้นที่ตำบลปลวกแดง จังหวัดระยอง ได้ขอให้กมธ.พิจารณาเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของโครงการและกระบวนการรับฟังความเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อนำมาจัดทำรายงานสรุปผลการรับฟังความเห็นประกอบการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าของ บริษัท มีขวัญ พาวเวอร์ จำกัด และบริษัท เดอะ พราว พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าไม่ได้รับทราบข้อมูลและการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการจัดรับฟังความเห็นดังกล่าว

 

 

น.ส.วชิราภรณ์ กล่าวว่า ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานได้ชี้แจงและให้ข้อมูลต่อที่ประชุมว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดยกำหนดเงื่อนไขและกรอบหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกโครงการทั้งในด้านคุณสมบัติและความพร้อมด้านเทคนิค ประกอบด้วย 1. ความพร้อมด้านพื้นที่ 2. ความพร้อมด้านเทคโนโลยี 3. ความพร้อมด้านเชื้อเพลิง 4. ความพร้อมด้านการเงิน และ 5. ความเหมาะสมของแผนการดำเนินงาน เมื่อมีการประกาศผลการคัดเลือกแล้ว ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องปฏิบัติตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ว่าด้วยการรับฟังความเห็นและทำความเข้าใจกับประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า พ.ศ. 2565 โดยโครงการต่าง ๆ อยู่ระหว่างดำเนินการรับฟังความเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียเพื่อจัดทำรายงานสรุปผลการรับฟังความเห็นเสนอ กกพ.พิจารณาต่อไป

 

 

ทั้งนี้ ผู้แทนจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ชี้แจงและให้ข้อมูลต่อที่ประชุมว่า บริษัท กรีน แคร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด บริษัท มี พรีม เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด และบริษัท พราวฟ้า พาวเวอร์ จำกัด ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม ไฮเทค กบินทร์ แต่ในส่วนของบริษัทมีขวัญ พาวเวอร์ จำกัด และบริษัท เดอะ พราว พาวเวอร์ จำกัด มีพื้นที่ตั้งอยู่ในจังหวัดระยอง อยู่นอกเขตการนิคมอุตสาหกรรม

 

 

อย่างไรก็ตาม บริษัท กรีน แคร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด บริษัท มี พรีม เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด และบริษัท พราวฟ้า พาวเวอร์ จำกัด ได้มีการยื่นขอใช้ที่ดินและประกอบกิจการโรงผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรมต่อ กนอ. ซึ่ง กนอ. อยู่ระหว่างการพิจารณาอนุญาตใช้ที่ดินและประกอบกิจการ ซึ่งการพิจารณาเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขที่ กนอ. ประกาศกำหนด รวมถึงกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

 

ประธานกมธ.พลังงาน กล่าวว่า ในส่วนของบริษัทต่าง ๆ ที่ได้รับการคัดเลือกตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed – in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับขยะอุตสาหกรรม พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 5 เมษายน 2566 ทั้งในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรีและจังหวัดระยองได้กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการรับฟังความเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อจัดทำรายงานสรุปผลการรับฟังความเห็นเสนอ กกพ. พิจารณาต่อไป

 

 

สำหรับในส่วนของความพร้อมด้านพื้นที่ ความพร้อมด้านเทคโนโลยี และความเหมาะสมของแผนการดำเนินงาน แต่ละบริษัทมีความมั่นใจว่าสามารถดำเนินโครงการดังกล่าวได้ เนื่องจากได้มีการปฏิบัติตามระเบียบ ประกาศ และกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมีประสบการณ์ในการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าประเภทนี้ โดยที่ประชุมได้มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะว่า การดำเนินการต่าง ๆ ของโครงการ โดยเฉพาะกระบวนการรับฟังความเห็น และทำความเข้าใจกับประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อจัดทำรายงานสรุปผลการรับฟังความเห็นเสนอ กกพ. พิจารณาต่อไป ควรดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ประชาสัมพันธ์ สื่อสารและทำความเข้าใจกับประชาชน ในประเด็นผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และวิถีชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่รอบโรงไฟฟ้า รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่จะได้รับ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียที่ได้รับผลกระทบ

 

 

 

น.ส.วชิราภรณ์ กล่าวย้ำว่า ที่ประชุมได้มีมติให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานจัดส่งข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อตอบข้อซักถามในประเด็นการหลีกเลี่ยงการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environment Impact Assessment : EIA) โดยการจดทะเบียนบริษัทย่อยเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีกำลังผลิตติดตั้งต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ สามารถดำเนินการได้หรือไม่ และการกระทำดังกล่าวเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของระเบียบ ประกาศ และกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องหรือไม่

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube