Home
|
ข่าว

ก้าวไกลแถลงจับตานโยบายปราบปรามทุจริต

Featured Image
“วิโรจน์- ณัฐพงษ์”แถลงจับตานโยบายปราบปรามทุจริต ชี้ ดัชนีทุจริตเลวร้ายถึงจุดต่ำสุดต่อเนื่องหลังรัฐประหาร 57 แนะประกาศเจตจำนงเข้าร่วมภาคีเปิดข้อมูลภาครัฐภายใน 2 ปี

 

 

 

 

 

 

 

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร พร้อมด้วย นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ร่วมแถลงข่าวจับตานโยบาย “ชำแหละปัญหา-เสนอทางแก้คอร์รัปชัน” เพื่อส่งสัญญาณไปสู่รัฐบาล เนื่องในโอกาสที่วันพรุ่งนี้ (9 ธ.ค.66) เป็นวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล พร้อมเสนอมาตรการที่นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลสามารถจัดการปัญหาได้ทันที

 

 

 

โดยนายวิโรจน์ ระบุว่า มูลค่าของการทุจริตคอร์รัปชัน มีการประเมินว่าสูงถึง 3 แสนล้านบาทต่อปี เทียบเท่ากับงบประมาณกระทรวงศึกษาธิการ 1 ปี เป็น 42 เท่าของงบประมาณกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และเป็น 3 เท่าของเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และเมื่อพิจารณาจากดัชนีการรับรู้คอร์รัปชัน ตั้งแต่ปี55-65 จะเห็นได้ว่าการทำรัฐประหารในปี57 ที่อ้างว่าเพื่อมาจัดการปัญหาการทุจริต กลับทำให้ปัญหาการทุจริตอยู่ในจุดที่เสื่อมทรามลง และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ก็เป็นเพียงเอกสารที่ไม่มีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงปัญหาคอร์รัปชันในเชิงระบบใดๆ กลายเป็นการสร้างระบบอุปถัมภ์ที่หยั่งรากลึกในสังคมไทยด้วยซ้ำ

 

 

 

ซึ่งการทุจริตมูลค่า 3 แสนล้านบาทที่เกิดขึ้นในแต่ละปี ส่วนใหญ่มาจากการปล้นผู้ประกอบการที่รับงานภาครัฐ ระดมไถจากภาษีของประชาชน ทำให้การลงทุนภาครัฐอยู่ในจุดที่ด้อยคุณภาพ สาธารณูปโภคต่ำกว่ามาตรฐานที่ประชาชนควรจะได้รับ ทั่วโลกรู้ คนในประเทศรู้ เคยมีการสำรวจพบด้วยซ้ำว่า 1 ใน 6 ของคนไทยเคยเข้าไปมีส่วนโดยตรงในการถูกเรียกรับผลประโยชน์

 

 

 

 

ซึ่งเท่าที่ตนได้ติดตามปัญหา ประเทศไทยยังคงอยู่ในวังวนของหลุมดำของการคอร์รัปชันทั้ง 9 หลุม ประกอบด้วย ระบบตั๋วเส้นสาย การวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่ง ระบบอุปถัมภ์ และเครือข่ายทุนผูกขาด, การขาดความโปร่งใส และอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูลภาครัฐ ทำให้ประชาชนอยู่ในภาวะที่ตรวจสอบได้ลำบาก, กฎหมายปิดปาก การคุกคามสื่อ และการลิดรอนเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์, การใช้อำนาจขององค์กรอิสระที่ปราศจากความรับผิดชอบ ไร้กลไกในการตรวจสอบถ่วงดุล, เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ เอื้อให้เกิดการผูกขาดหรือการฮั้วประมูล, การใช้กฎหมายแบบสองมาตรฐาน,

 

 

 

 

ความไม่จริงจังในการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหาการคอร์รัปชัน, การตอบสนองต่อการทุจริตคอร์รัปชันอย่างล่าช้าไร้ประสิทธิภาพ และสังคมมองว่าการรีดไถและการเรียกรับผลประโยชน์ที่เป็นเรื่องปกติ กลายเป็นเรื่องปกติที่ใครๆ ก็ทำกัน

 

 

 

 

ดังนั้นการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันจำเป็นต้องแก้ไขที่โครงสร้าง ตลอดจนมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่ล้าสมัยควบคู่กันไปด้วย มีการดำเนินนโยบาย และตรากฎหมายที่ส่งเสริมความโปร่งใส คุ้มครองเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ตลอดจนมีการบังคับใช้กฎหมายในการปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง อาทิ การแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง, พ.ร.ก.การบริหารการจัดการทำงานคนต่างด้าว และ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เพื่อแก้ไขปัญหาส่วยแรงงานข้ามชาติ, การออก พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการฟ้องคดีปิดปากในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติมิชอบ (Anti-SLAPP Act) เพื่อส่งเสริมการตรวจสอบถ่วงดุลจากภาคประชาชน เป็นต้น

 

 

 

 

ซึ่งมาตราการข้างต้นเหล่านี้เป็นตัวอย่างเบื้องต้นเท่านั้น แต่ล้วนเป็นสิ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้โดยไม่ยากเย็น หากนายกรัฐมนตรีมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน สิ่งต่างๆ เหล่านี้สามารถให้ความร่วมมือกับสภา และสั่งการดำเนินการได้ทันที ตนย้ำตรงนี้อีกครั้งว่า สภาพของความขึงขัง เรียกข้าราชการไปนั่งบ่นนั่งด่า หรือการจัดอีเว้นท์ในการปราบปราม อย่างดีที่สุดก็ทำให้การทุจริตคอร์รัปชันกบดานหายตัวไปชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น

 

 

 

แต่พอเวลาผ่านไปสักพักสิ่งโสโครกเหล่านั้นก็จะผุดกลับขึ้นมาใหม่ด้วยวิธีการที่แยบยลตรวจสอบได้ยากกว่าเดิม ที่สำคัญวันนี้จีนสีเทา มาเฟียข้ามชาติ ธุรกิจผิดกฎหมาย ก็จะแห่แหนกันมาลงหลักปักฐานที่ประเทศไทย

 

 

 

 

การรีดไถเก็บส่วยจะมีเต็มบ้านเต็มเมือง โจษจันกันไปทั่วโลก ขัดขวางการลงทุนในธุรกิจสุจริตจากทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ถ้าเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น จะมีแต่ new s-curve เป็นธุรกิจสีเทา เป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ พนันออนไลน์ ถ้าบ้านเมืองเรายังเต็มไปด้วยการคอร์รัปชัน ผมกังวลว่าประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศต้องสาปที่ไม่สามารถพัฒนาได้ดีกว่านี้

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube