fbpx
Home
|
ข่าว

‘รอมฎอน’ ชี้ มติ กบฉ. ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ล่าสุดต่างจากอดีต

Featured Image
‘รอมฎอน’ ชี้ มติ กบฉ. ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ล่าสุด เป็นแบบแผนแตกต่างจากอดีต ตั้งข้อสังเกตรัฐบาลถูกต่อรอง-กดดันจากหน่วยงานความมั่นคง ย้ำข้อเสนอ สภาผู้แทนฯ ควรมีส่วนร่วมประเมินผล พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในชายแดนใต้

 

 

นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่ประชุมของคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน (กบฉ.) มีมติต่ออายุการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ต่อไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่ 20 ตุลาคม 2566 – 19 มกราคม 2567 ว่า เมื่อวานนี้ (11 ตุลาคม) มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 4 อย่างเกิดขึ้นในเวลาเดียวกันแต่ต่างสถานที่

 

 

โดยทั้งหมดเกี่ยวข้องกับทิศทางอนาคตของจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งในทางการทูต กลไกนิติบัญญัติ และการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร ที่ผ่านการพูดคุย การสร้างความร่วมมือ และเจรจาต่อรอง ทำให้เห็นมิติทางการเมืองในความขัดแย้งและการสร้างสันติภาพในพื้นที่ชายแดนใต้ที่น่าสนใจ

 

 

กรณีแรก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการเพื่อหารือกับ อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซียเกี่ยวกับความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยและพื้นที่ตอนเหนือของมาเลเซีย แม้จะมีหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ

 

 

แต่ก็น่าเสียดายที่ในคำแถลงไม่ได้มีการระบุถึงกระบวนการสันติภาพที่ทางการมาเลเซียมีบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวกมานานหลายปี การไม่กล่าวถึงประเด็นนี้จึงน่าจะมีความหมายบางอย่างและส่งสัญญาณว่ารัฐบาลทั้งสองอาจลดระดับความสำคัญของความร่วมมือในมิตินี้ลงแล้ว ซึ่งควรต้องประเมินว่าเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีนัก

 

 

กรณีสอง ในสภาผู้แทนราษฎรมีการอภิปรายญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี กรณีสาม มีการหารือระหว่าง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กบฉ. กับ สส.เขตในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เกี่ยวกับการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกรณีสี่ ที่ประชุม กบฉ. ที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ทำเนียบรัฐบาล มีมติต่ออายุการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อไปอีก 3 เดือน ยกเว้น 3 อำเภอ (อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส และ อ.กรงปินัง จ.ยะลา) โดยประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ในพื้นที่ดังกล่าว

 

 

นายรอมฎอน กล่าวว่า มติการขยายการประกาศใช้มาตรการตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่กำลังจะเข้าที่ประชุม ครม.ในสัปดาห์หน้านั้น อาจถือเป็นการต่ออายุครั้งที่ 74 มีความแตกต่างไปจากแบบแผนเดิมที่เคยเป็นมา แม้จะมีการกลับมาขยายออกไปในวงรอบ 3 เดือนเหมือนก่อนหน้านี้ แต่ก็มีการยกเลิกการประกาศพร้อมกัน 3 อำเภอ โดยกระจายตัวอยู่ในทั้ง 3 จังหวัด สิ่งที่แตกต่างอีกประการคือการกลับมาประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ใน อ.ศรีสาคร อีกครั้ง หลังจากยกเลิกไปเมื่อปลายปี 2562 นี่เป็นครั้งแรกที่หวนกลับมาใช้กฎหมายฉบับนี้นับตั้งแต่ทยอยยกเลิกเมื่อปี 2553 เป็นต้นมา

 

 

เหตุผลสำคัญที่ฟื้นการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตามที่มีการแถลงของรองนายกฯ คือ มีเหตุรุนแรงที่เพิ่มขึ้นโดยเปรียบเทียบกับก่อนหน้าที่จะประกาศยกเลิก ทำให้น่าตั้งข้อสังเกตว่าหลักเกณฑ์ในการประกาศยกเลิกหรือรื้อฟื้นกลับมาใช้ ต่อจากนี้จะอยู่บนข้อเท็จจริงหรือปัจจัยใดบ้าง การประเมินผลการบังคับใช้มีความสมเหตุสมผลมากน้อยเพียงใด เป็นไปได้ด้วยหรือไม่ว่าทิศทางในการปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายพิเศษจะมีความไม่แน่นอนมากขึ้นกว่าเดิม

 

 

ทั้งหมดนี้ เป็นไปได้หรือไม่ว่าแบบแผนที่เกิดขึ้นใหม่ในครั้งนี้เป็นผลจากการต่อรองและกดดันของฝ่ายต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานความมั่นคงที่ไม่ประสงค์จะให้มีการยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ

 

 

นายรอมฎอน กล่าวด้วยว่า บังเอิญว่าการลงมติของ กบฉ. ในครั้งนี้ เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับที่สภาผู้แทนราษฎรกำลังพิจารณาญัตติในการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ซึ่งมีขอบเขตการทำงานติดตาม ศึกษา และสนับสนุนการสร้างสันติภาพในชายแดนใต้
จึงเห็นว่า กมธ. ควรต้องติดตามตรวจสอบการประเมินผลการบังคับใช้กฎหมายที่ส่งผลต่อบรรยากาศโดยรวมของการสร้างสันติภาพและความปลอดภัยของประชาชน ตลอดจนยังมีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนในพื้นที่ด้วย กลไกของสภาผู้แทนราษฎรควรมีส่วนอย่างสำคัญในการถ่วงดุลกับการประเมินโดยหน่วยงานภาครัฐและฝ่ายบริหาร สิ่งนี้น่าจะเป็นประเด็นที่ทาง กมธ. ต้องมีการหารือและเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล
นอกจากนี้ การประเมินการบังคับใช้ในครั้งถัดไปก่อนหน้าที่จะครบกำหนดในเดือนมกราคมปีหน้า กมธ.วิสามัญฯ ชุดนี้ก็ควรมีบทบาทในการร่วมประเมินเช่นกัน โดยมีกระบวนการที่เปิดรับฟังประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างรอบด้านและโปร่งใส
ทั้งนี้ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ที่โดยพื้นฐานแล้วเป็นมาตรการที่ละเว้นการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนด้วยเหตุผลที่มีความจำเป็นบางอย่างนั้น สภาผู้แทนฯ ที่มีองค์ประกอบสมาชิกมาจากการเลือกตั้งและยึดโยงกับประชาชน ควรมีส่วนพิจารณาและทบทวน หลักการดังกล่าวนี้เป็นส่วนหนึ่งของร่าง พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. …. ที่ นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ยื่นร่างกฎหมายไปเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ในระหว่างการบรรจุวาระ การผลักดันให้สภาผู้แทนราษฎรมีบทบาทที่เพิ่มมากขึ้น จึงเป็นสิ่งที่ควรดำเนินการอย่างยิ่ง
ตนเห็นด้วยว่าการที่รองนายกฯ เปิดวงปรึกษาหารือและรับฟังความคิดเห็นของผู้แทนราษฎรหรือ สส.เขตนั้น เป็นสิ่งที่ควรได้รับการสนับสนุนให้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แต่ในเมื่อสภาผู้แทนราษฎรมีกลไกของ กมธ.วิสามัญเพิ่มเข้ามา ก็ควรเปิดช่องทางในการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเข้ามาด้วย

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube