fbpx
Home
|
ข่าว

TJRI จับมือสถานทูตญี่ปุ่นสร้างโอกาสลงทุนใหม่ในไทย

Featured Image
TJRI จับมือสถานทูตญี่ปุ่น จัดงาน TJRI Business Networking Reception 2022 ตั้งเป้าสร้างโอกาสสู่การลงทุนใหม่ในไทย หวังยอดดีลธุรกิจไทย-ญี่ปุ่นโต 200%

 

 

 

โครงการศูนย์วิจัยการลงทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย Thai-Japanese Investment Research Institute (TJRI) จัดงานสัมมนาเชื่อมสัมพันธ์นักลงทุนไทย-ญี่ปุ่น TJRI Business Networking Reception 2022เปิดทําเนียบเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ต้อนรับนักลงทุนไทย-ญี่ปุ่นกว่า 90 บริษัท ร่วมหารือ สร้างโอกาสการทำธุรกิจร่วมกัน ตั้งเป้านำองค์ความรู้ญี่ปุ่นควบรวมทรัพยากรไทยสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจทั้ง 2 ประเทศหนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมอย่างยั่งยืน พร้อมตั้งเป้าปิดดีลธุรกิจไทย-ญี่ปุ่นโต 200% ภายในปี 2566

 

การจัดงาน TJRI Business Networking Reception 2022 ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่จัดงานขึ้นอย่างเป็นทางการ ณ ทําเนียบเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น นำโดย นายคาซูยะ นาชิดะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร กรุงเทพฯ) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

 

พร้อมด้วยนักลงทุนไทย – ญี่ปุ่น จากบริษัทชั้นนำกว่า 90 บริษัทเข้าร่วมพบปะทำความรู้จัก พูดคุยเสนอแนะ และแลกเปลี่ยนแนวคิดแนวทางการทำงานร่วมกัน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการ “ลงทุนร่วม” กันระหว่างบริษัทไทย และญี่ปุ่น โดยโครงการ TJRI เริ่มศึกษาหาวิธีเพื่อสร้างโอกาสการลงทุนรูปแบบใหม่ พร้อมข้อเสนอการจับคู่ธุรกิจตั้งแต่ปี 2564 และมีการจับคู่ธุรกิจมาแล้วทั้งสิ้นมากกว่า 120 ราย ประมาณการมูลค่ารวมกว่า 1,000 ล้านบาท

 

นายคาซูยะ นาชิดะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า ในฐานะเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นในประเทศไทย มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสเปิดบ้านต้อนรับกลุ่มนักลงทุนทั้งชาวไทย และชาวญี่ปุ่นให้มาทำความรู้จักกันจำนวนมากในวันนี้ ประเทศเราทั้งสองมีความสัมพันธ์ที่ดีด้านการค้าการลงทุนกันมาอย่างช้านาน ปัจจุบันมีบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยกว่า 6,000 บริษัท

 

ปีนี้ มีบริษัทญี่ปุ่นในไทยหลายบริษัทที่มีการจัดงานครบรอบ 50 ปี 60ปี แสดงให้เห็นถึงความเป็นศูนย์กลางฐานการผลิตขององค์กรสัญชาติญี่ปุ่นอย่างแท้จริงของประเทศไทย แต่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ในปัจจุบัน รวมทั้งขนาดของธุรกิจสัญชาติไทยที่ขยายตัวตามขนาดของเศรษฐกิจของประเทศในช่วงหลายสิบปีที่มีผ่านมา ทำให้สภาพแวดล้อม และกฎกติกาต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจ เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

 

ดังนั้น ญี่ปุ่นเองก็ควรปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งทางโครงการ TJRI ได้พยายามส่งสัญญาณเตือนถึงความเสี่ยงในอนาคตให้กับบริษัทญี่ปุ่นในไทยมาโดยตลอด ซึ่งผมเองก็เห็นพ้องกับทางโครงการ จึงได้ร่วมกันจัดงานในวันนี้ให้เกิดขึ้น ซึ่งหวังว่าเอกชนที่ได้มาพบปะรู้จักกันในวันนี้จะนำโอกาสนี้ไปขยายผล และสร้างให้เกิดความร่วมมือกันในรู้แบบ Co-Creation เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคง และยั่งยืนของทั้งสองประเทศต่อไป

 

นายกันตธร วรรณวสุ กรรมการผู้จัดการบริษัท เมดิเอเตอร์ จำกัด ผู้ริเริ่ม และดำเนินโครงการ TJRI กล่าวเพิ่มเติมว่า นักลงทุนชาวต่างชาติที่ลงทุนในประเทศไทยสูงเป็นอันดับ 1 ในขณะนี้คือ นักลงทุนชาวญี่ปุ่นที่มีการลงทุนอย่างต่อเนื่องมายาวนาน แม้ในระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา การเข้ามาลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ของนักลงทุนชาวญี่ปุ่นในไทยอาจจะไม่โดดเด่นในสายตาของบุคคลทั่วไปเมื่อเทียบกับประเทศอื่น

 

เช่น ค่ายยานยนต์ของจีน ทั้งยังมีปัญหาปัจจัยภายนอกเช่น ภาวะโรคระบาด การแข่งขันในระดับภูมิภาค แต่ปัจจัยภายในประเทศยังเป็นไปในทิศทางที่ดี ดังนั้นการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนระหว่างประเทศให้กลับมาเติบโตต่อเนื่องตามเป้าอีกครั้งยังสามารถพัฒนาได้ และเพื่อส่งเสริมสนับสนุนด้านการลงทุนระหว่างประเทศที่จะเพิ่มขึ้นในปีต่อๆ ไป

 

โครงการศูนย์วิจัยการลงทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย Thai-Japanese Investment Research Institute (TJRI) จึงได้เกิดขึ้น โดยทาง TJRI มีเครือข่ายการทำงานกับทางญี่ปุ่นที่แข็งแกร่ง ตั้งแต่องค์กรภาครัฐญี่ปุ่น อาทิ สถานทูตญี่ปุ่น JETRO หน่วยงานภาครัฐที่มีสำนักงานในไทยทุกหน่วยงาน ผู้บริหารบริษัทญี่ปุ่นในไทย และในญี่ปุ่นรวมกว่า 5,000 ราย เครือข่ายผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ฝั่งไทยทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน อาทิ EEC / BOI รวมถึงบริษัทขนาดใหญ่ภายใต้การกำกับดูแลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และบริษัท SMEs ที่เคยร่วมงานด้วยกว่า 10,000 ราย

 

ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าประเทศไทยยังคงเป็นเป้าหมายการลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่น แม้จะมีปัจจัยด้านการแข่งขันอื่นๆ เข้ามาสร้างแรงกดดัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าจ้างแรงงานในภูมิภาค จำนวนประชากรที่ส่งผลต่อขนาดของตลาดในประเทศ และจำนวนประเทศที่ได้ทำความตกลงเขตการค้าเสรี FTA ซึ่งส่งผลต่อการเป็นฐานการส่งออก แต่การใช้ความต้องการขององค์กรไทยเป็นที่ตั้งเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นความร่วมมือทางธุรกิจนั้น จะช่วยทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นนำเสนอประเด็นได้ตรงกับความต้องการอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ช่วยสร้างโอกาสให้เกิดการลงทุนใหม่ที่เป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างบริษัทไทย และญี่ปุ่น ทดแทนการ “รอ” และ “ลุ้น” ให้นักลงทุนญี่ปุ่นตัดสินใจเลือกขยายการลงทุนในไทย โดยการนำข้อมูลของประเทศไทยไปเปรียบเทียบจำนวน และอายุเฉลี่ยประชากร ค่าแรงขั้นต่ำ และโอกาสที่จะเป็นตลาดเกิดใหม่กับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน แต่เราต้องใช้จุดแข็งของไทยที่ประเทศอื่นไม่มีคือ มีบริษัทญี่ปุ่นขนาดใหญ่ที่มีสำนักงาน และฐานการผลิตในประเทศของเราอยู่แล้วจำนวนมาก เพียงแต่ขาดเวทีที่จะสร้างจุดเชื่อมกับองค์กรขนาดใหญ่ของไทย เพื่อให้เกิดการหารือกันโดยตรงระหว่างภาคเอกชน จะช่วยเร่งให้การร่วมลงทุนระหว่าง 2 ประเทศสดใสต่อไปในอีกหลายปีข้างหน้าอย่างแน่นอน

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube