fbpx
Home
|
ภูมิภาค

ควบคุมมลพิษจับตาโคราชเป็นพท.เฝ้าระวัง

Featured Image
กรมควบคุมมลพิษจับตาโคราชเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง หลังพบ ลักลอบเผาต่อเนื่อง 3 เดือนพบจุดความร้อนมากถึง 690 จุด

 

 

วันนี้ ( 8 กุมภาพันธ์ 2567 ) นายธนัญชัย วรรณสุข ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 11 (นครราชสีมา) เปิดเผยว่า นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการเพื่อการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ผ่านทางระบบ Video Conference เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ปี 2567 ทั้งการจัดการไฟในพื้นที่ป่า-พื้นที่เกษตรกรรม การบังคับใช้กฎหมายภาคการจราจรและผู้กระทำผิดลักลอบเผาในที่โล่ง รวมถึง การประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ กรณีฉุกเฉิน มาตรการฉุกเฉินยกระดับแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในช่วงสถานการณ์วิกฤต ปี 2567 และความร่วมมือไทย – กัมพูชา ป้องกันแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน

 

 

ซึ่งที่ประชุมฯ ได้มีการรายงานสถานการณ์ ฝุ่นพิษ PM2.5 ของแต่ละภูมิภาค ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบจุดความร้อนมากถึง 5,795 จุด ตรวจพบในพื้นที่นาข้าวมากสุด 2,743 จุด รองลงมา คือ พื้นที่ป่า,พื้นที่เกษตรอื่นๆ, ไร่อ้อย, ไร่ข้าวโพด และพื้นที่อื่นๆ ในขณะที่ 4 จังหวัด “นครชัยบุรินทร์” สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 11 (นครราชสีมา) ตรวจพบจุดความร้อนมากสุดที่ จ.ชัยภูมิ จำนวน 857 จุด รองลงมาคือ จ.นครราชสีมา 690 จุด , จ.สุรินทร์ 273 จุด และ จ.บุรีรัมย์ 229 จุด

 

 

ซึ่งจุดความร้อนที่ตรวจพบในช่วงดังกล่าวของ จ.นครราชสีมา ตรวจพบในพื้นที่นาข้าวมากสุด 291 จุด รองลงมาคือ พื้นที่เกษตรอื่นๆ 135 จุด ,พื้นที่ป่า 117 จุด , พื้นที่อื่นๆ 75 จุด , ไร่อ้อย 57 จุด และไร่ข้าวโพด 15 จุด ล่าสุดยังพบการลักลอบเผาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้คุณภาพอากาศแย่ลง เป็นสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ และจากการคาดการณ์ของกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองในอีก 7 วันข้างหน้า จ.นครราชสีมา เป็นพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากห้วง 7 วันก่อนหน้านี้

 

 

สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ของจังหวัด เริ่มพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากปัจจัยมวลอากาศเย็นกำลังอ่อนปกคลุมประเทศไทย ทำให้อากาศร้อนจัดในช่วงกลางวัน ประกอบกับมีการลักลอบเผาตอซังและซากพืชผลเกษตรในช่วงฤดูเผาช่วงเดือนพฤศจิกายน-เมษายน จึงทำให้คุณภาพอากาศของจังหวัดแย่ลง ซึ่งวันนี้ตรวจวัดคุณภาพอากาศที่บริเวณสถานีสูบน้ำประตูพลแสน อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา ตรวจวัดค่าฝุ่น PM 2.5 ได้ 56.2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนดัชนีคุณภาพอากาศ พุ่งสูงถึง 150 AQI (Air Quality Index) ประชาชนทั่วไปควรใช้อุปกรณ์ป้องกัน สวมหน้ากากป้องกัน PM 2.5 ทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร และจำกัดระยะเวลาในการทำกิจกรรมหรือการออกกำลังกายกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก ส่วนประชาชนกลุ่มเสี่ยงให้ใช้อุปกรณ์ป้องกัน สวมหน้ากากป้องกัน PM 2.5 ทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร เลี่ยงการทำกิจกรรมหรือการออกกำลังกายกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก และให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์

 

 

ทั้งนี้ นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดฯ ได้ออกประกาศกำหนดเขตควบคุม “เขตห้ามเผาเด็ดขาด” และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากไฟป่า หมกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ช่วงฤดูหนาวต่อเนื่องฤดูแล้ง โดยประชาชนต้องให้ความร่วมมือเจ้าหน้าที่ฯ ในการดับไฟป่ากรณีราชการร้องขอ และหากพบต้องช่วยดับตั้งแต่ต้น หากจุดไฟเผาป่าหรือปล่อยให้ไฟลามเข้าเขตป่าฯ มีโทษจำคุกและปรับ ห้ามราษฎรเผาในที่โล่งแจ้ง หากพบเห็นการเผาให้รีบแจ้งหน่วยดับเพลิง ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจให้สอบสวนหาสาเหตุการเผาทุกกรณี ดึงผู้นำท้องที่-ท้องถิ่นร่วมสอบสวนและดำเนินคดีผู้กระทำผิดอย่างเคร่งครัด

 

ส่วนโรงงานอุตสาหกรรม ให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดค่ามาตรฐานฝุ่นละอองของโรงงานอุตสาหกรรม กิจกรรมก่อสร้าง-รื้อถอนอาคารขนาดใหญ่ และการก่อสร้างทางหลวง ต้องเป็นไปตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และขอให้ทุกภาคส่วนที่ใช้รถยนต์โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซล ร่วมมือดูแลบำรุงรักษาเครื่องยนต์ เพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้ และให้เจ้าหน้าที่เข้มงวดตรวจจับยานพาหนะควันดำ และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ห้ามนำยานพาหนะที่ควันดำเกินมาตรฐานมาใช้งานบนถนน รวมถึง ให้กวดขันยานพาหนะที่จอดอยู่ในเขตชุมชนและตลาด ไม่ให้ติดเครื่องยนต์ขณะจอดด้วย

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube