fbpx
Home
|
ภูมิภาค

หน้าฝนระวังโรคไข้ปวดข้อยุงลายหลังพบป่วยอื้อ

Featured Image
หน้าฝนระวังโรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา หลังช่วง 5 เดือนปี 2566 เขตสุขภาพที่ 9 พบผู้ป่วยแล้ว 12

 

 

นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคไข้ปวดข้อยุงลาย ในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม 2566 หรือช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา พบผู้ป่วยแล้ว 12 ราย ยังไม่มีผู้เสียชีวิต เมื่อแยกเป็นรายจังหวัด พบว่า จังหวัดชัยภูมิ มีผู้ป่วย 5 ราย ,จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ป่วย 5 ราย ,จังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 2 ราย ส่วนจังหวัดนครราชสีมา ยังไม่มีรายงานผู้ป่วย ทั้งนี้ กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสะสมสูงที่สุด คือ 15-24 ปี รองลงมาคือ 25-34 ปี และอาชีพที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ นักเรียน รองลงมาคือ อาชีพรับจ้าง ค้าขาย เกษตรกร และข้าราชการ ซึ่งในฤดูฝน แม้ปีนี้ฝนจะยังไม่มากนัก แต่ประชากรยุงลายยังคงชุกชุม จึงมีความเสี่ยงที่โรคซึ่งนำพาโดยยุงลายจะระบาดไปพร้อม ๆ กันกับโรคไข้เลือดออก

 

เนื่องจากโรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา เป็นโรคติดเชื้อที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค เหมือนกับโรคไข้เลือดออก มักพบการระบาดอยู่เป็นระลอก ๆ โดยเฉพาะในประเทศเขตร้อนชื้น รวมถึงประเทศไทย ส่วนอาการป่วยจะแตกต่างกัน โดยโรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือโรคชิคุนกุนยา ผู้ป่วยจะไม่มีอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต เพราะไม่มีการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด จึงไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากจนถึงมีการช็อก เมื่อผู้ป่วยถูกยุงลายที่มีเชื้อกัด จะทำให้มีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ หรือปวดกระบอกตา คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย มีผื่นแดงตามตัวแต่ไม่คัน และอาการที่สำคัญคือ ปวดข้อ ปวดกระดูก โรคนี้ยังไม่มียารักษา แต่เป็นการรักษาตามอาการ เมื่อมีอาการเหล่านี้ให้รีบไปพบแพทย์ ไม่ควรซื้อยาลดไข้ในกลุ่มแอสไพริน ไอบูโพรเฟน และไดโคลฟีแนค มารับประทานเอง

 

จึงต้องช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด โดยสวมเสื้อผ้าสีอ่อน แขนยาว ขายาว ป้องกันยุงกัดเมื่อออกจากบ้านหรือทายากันยุง นอนกางมุ้งแม้ในเวลากลางวัน หรือใช้มุ้งชุบสารเคมี ให้ผู้ป่วยทายาป้องกันยุง และให้ยึดหลักปฏิบัติเช่นเดียวกับโรคไข้เลือดออก คือ เก็บบ้าน เก็บขยะ และเก็บน้ำ ซึ่งจะช่วยป้องกัน 3 โรคได้ในคราวเดียวกัน ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา นอกจากนี้ ต้องขอให้ชุมชนรวมพลังจิตอาสา ร่วมมือกันสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงไปพร้อมๆ กัน เพื่อกำจัดยุงลายให้หมดสิ้นไป ป้องกันไม่ให้ยุงกัดแล้วไปแพร่เชื้อต่อ ในขณะเดียวกัน ต้องขอแจ้งเตือนร้านยาหรือคลินิก ห้ามใช้ยากลุ่ม NSAIDS ได้แก่ ยาไดโคลฟีแนค หรือยาที่คนทั่วไปรู้จักในชื่อทางการค้าว่า บูฟีแนค (Bufenac), ไดฟีลีน (Difelene), โดซาแนค (Dosanac) หรือโวลทาเรน อีมัลเจล (Voltaren emulgel) ที่เป็นยาในกลุ่มยาแก้ปวดจำพวกเอ็นเสด (NSAIDs) ,ยาแอสไพลินหรือไอบูโปรเฟน เป็นต้น เพราะจะเพิ่มโอกาสให้เลือดออกตามเนื้อเยื่อต่างๆ ได้ หากมีข้อสงสัย สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube