fbpx
Home
|
เศรษฐกิจ

ก.คลังเผยผลการจัดมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ ครั้งที่ 4

Featured Image
โฆษกกระทรวงการคลัง เผยการจัด “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” ครั้งที่ 4 วันที่ 20 – 22 ม.ค. 2566 จังหวัดชลบุรี ได้รับความสนใจจากประชาชน ผู้ประกอบการ จำนวนมาก

 

 

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การจัด “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 20 – 22 มกราคม 2566 ณ ศาลาประชาคมเทศบาลเมืองบ้านสวน จังหวัดชลบุรี ได้รับความสนใจจากประชาชน ผู้ประกอบการ รวมทั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจำนวนมาก โดยมีจำนวนรายการที่ขอรับบริการภายในงานกว่า 5,000 รายการ”

 

การจัด “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” ครั้งที่ 4 จังหวัดชลบุรี กระทรวงการคลังได้บูรณาการร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ โดยประชาสัมพันธ์ให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาสามารถเข้าร่วมขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ภายในงานได้

 

ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากงานมหกรรมการเงินเพื่อครูไทย นอกจากนี้ การจัดงานมหกรรมในครั้งนี้ยังได้รับความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์ 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) รวมทั้งสมาคมธนาคารไทยเข้าร่วมออกบูธช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการภายในงานมหกรรมด้วย

 

ผลของการจัดงานมหกรรมประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์และได้รับความสนใจจากประชาชนและผู้ประกอบการจำนวนมาก โดยมีรายการที่ขอรับบริการภายในงานกว่า 5,000 รายการ ประกอบด้วยการขอแก้ไขปัญหาหนี้สินที่มีอยู่เดิมกว่า 1,800 รายการ จำนวนเงินประมาณ 1,900 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าครั้งที่ผ่านมา

 

ส่วนหนึ่งเกิดจากการบูรณาการระหว่างกระทรวงการคลังและกระทรวงศึกษาธิการที่ประชาสัมพันธ์ให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ประสบปัญหาสามารถเข้าร่วมงานมหกรรมเพื่อขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ รองลงมา คือ การขอรับคำปรึกษาด้านการเงินและแนวทางในการประกอบอาชีพกว่า 1,200 รายการ จำนวนเงินประมาณ 400 ล้านบาท การขอสินเชื่อเพิ่มเติมกว่า 800 รายการ จำนวนเงินประมาณ 1,600 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์เงินฝากเพื่อส่งเสริมการออมกว่า 200 รายการ จำนวนเงินประมาณ 35 ล้านบาท

 

และการเข้าร่วมกิจกรรมอื่น ๆ เช่น การตรวจข้อมูลเครดิต การขาย NPA ของทั้งสถาบันการเงินและบริษัทเอกชน การขอคำแนะนำผ่านสมาคมพิโกไฟแนนซ์ประเทศไทย เป็นต้น ประมาณ 1,000 รายการ

 

นอกจากการจัดงานมหกรรมสัญจรแล้ว กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยยังจัดให้มีการลงทะเบียนเพื่อขอแก้ไขหรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ผ่านระบบออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2565 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2566 โดยปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนเพื่อขอแก้ไขหรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ผ่านระบบออนไลน์มากกว่า 180,000 ราย คิดเป็นจำนวนรายการสะสมประมาณ 400,000 รายการ ประเภทสินเชื่อที่มีการลงทะเบียนสูงสุด คือ บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลร้อยละ 75 สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ร้อยละ 6 และจำนำทะเบียนรถร้อยละ 4 ทั้งนี้ ลูกหนี้ส่วนใหญ่ที่ลงทะเบียนอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล คิดเป็นร้อยละ 35 ของลูกหนี้ที่ลงทะเบียนทั้งหมด

 

โฆษกกระทรวงการคลังกล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” สัญจรครั้งสุดท้าย คือ ครั้งที่ 5 จะจัดขึ้นที่จังหวัดสงขลา วันที่ 27 – 29 มกราคม 2566 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จังหวัดสงขลา จึงขอเชิญชวนประชาชนหรือผู้ประกอบการที่สนใจให้เข้าร่วมงานโดยสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานมหกรรมสัญจรได้ทางเว็บไซต์ https://ln15.gsb.or.th/WEB-DEBT หรือ Scan QR Code ท้ายแถลงข่าว

 

หรือแจ้งความประสงค์เข้าร่วมงานได้ที่หน้างานมหกรรม และสามารถลงทะเบียนเพื่อขอแก้ไขหรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ผ่านระบบออนไลน์ได้จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2566 ได้ทางเว็บไซต์ https://www.bot.or.th/DebtFair หรือ Scan QR Code ท้ายแถลงข่าว หรือสามารถขอรับความช่วยเหลือได้จากสาขาของสถาบันการเงินของรัฐทุกแห่งทั่วประเทศได้เช่นกัน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube