fbpx
Home
|
เศรษฐกิจ

คนกรุงฉลองปีใหม่2566 คาดเงินสะพัด 30,900 ล้านบาท

Featured Image
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาด เม็ดเงินการใช้จ่ายรวมของคนกรุงเทพฯ ช่วงปีใหม่ 2566 อยู่ที่ประมาณ 30,900 ล้านบาท ขยายตัว 10.5% (YoY)

 

 

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เม็ดเงินการใช้จ่ายรวมของคนกรุงเทพฯ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ปี 2566 จะอยู่ที่ประมาณ 30,900 ล้านบาท ขยายตัว 10.5% (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จากการกลับมาทำกิจกรรมและเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้นจากช่วงปีใหม่ปีที่แล้วซึ่งมีการระบาดของโอมิครอน ประกอบกับแรงหนุนส่วนหนึ่งจากมาตรการช้อปดีมีคืนที่อาจช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของกลุ่มที่มีกำลังซื้อปานกลางถึงสูงที่ต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี

 

 

อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่จะจัดสรรงบประมาณเฉพาะเพื่อการเฉลิมฉลองในช่วงเวลาจำกัด 4 วัน ของวันหยุดปีใหม่ (30 ธันวาคม 2565 ถึง 2 มกราคม 2566) และกลับมาวางแผนการใช้จ่ายอย่างรัดกุมหลังช่วงเทศกาล เนื่องจากยังมีความกังวลด้านค่าใช้จ่ายและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวในระดับสูงส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค

 

 

ทั้งนี้ เม็ดเงินการใช้จ่ายช่วงปีใหม่ 2566 ของคนกรุงเทพฯ อยู่ในระดับใกล้เคียงกับเทศกาลปีใหม่ 2561 (ก่อนการระบาดของโควิด-19) แต่การขยายตัวในปีนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำของเทศกาลปีใหม่ 2565 ประกอบกับผลของราคาสินค้าบริการที่ปรับตัวสูงขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อ ขณะที่คนกรุงเทพฯ กลับมาทำกิจกรรมตามปกติเพราะโควิด-19 คลี่คลายลง

 

 

ศูนยวิจัยกสิกรไทย มองว่า พฤติกรรมการใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ อาจเติบโตได้ดีในช่วงเวลาที่จำกัด ภายใต้สถานการณ์ที่กำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ประกอบกับธุรกิจยังต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ดังนั้นนอกจากการส่งเสริมการขายช่วงเทศกาลแล้ว ผู้ประกอบการยังมีความท้าทายในการบริหารจัดการต้นทุน และตอบโจทย์ของผู้บริโภคทั้งด้านคุณภาพสินค้าและประสบการณ์ของลูกค้าเพื่อช่วยกระตุ้นยอดขาย โดยเฉพาะการใช้จ่ายจากกลุ่มลูกค้าที่ยังมีกำลังซื้อเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็น

 

 

-เทรนด์สินค้าเพื่อสุขภาพได้รับความนิยมในการเลือกซื้อมากที่สุด (65%) โดยเฉพาะกลุ่มตัวอย่างในช่วงอายุ 35-49 ปี ที่มีแผนเลือกซื้อสินค้ากลุ่มนี้มากที่สุด กว่า 50% ของกลุ่มตัวอย่างที่สนใจซื้อสินค้าเพื่อสุขภาพทั้งหมด โดยสินค้ากลุ่มนี้ เช่น อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง อุปกรณ์ออกกำลังกาย มีแนวโน้มเติบโตได้ตามจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นตามโครงสร้างประชากร และกลุ่มวัยทำงานที่หันมาใส่ใจสุขภาพ นอกจากนี้ เทรนด์สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยลำดับรองลงมาที่ผู้บริโภคจะเลือกซื้อ (34%) โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่มีความเต็มใจที่จะจ่ายเพิ่มขึ้นสำหรับสินค้ากลุ่มนี้ ทั้งในแง่ของการใช้วัสดุรักษ์โลก ลดการใช้สารเคมีที่ทำลายระบบนิเวศ รวมไปถึงสินค้าที่สามารถใช้ซ้ำหรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้

 

 

-การช้อปปิ้งซื้อสินค้าช่วงปีใหม่ ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ยังไปเลือกซื้อสินค้าที่หน้าร้าน ทั้งห้างสรรพสินค้าและไฮเปอร์มาร์เก็ตมากที่สุด (29%) แต่กลุ่มที่เลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ E-marketplace และ Social Commerce (24%) ก็มีสัดส่วนใกล้เคียงกับการซื้อสินค้าหน้าร้าน ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากความสะดวกและความคุ้นเคยในการสั่งซื้อสินค้าเป็นประจำ ประกอบกับมีแคมเปญการตลาดในช่วงปลายปีต่อเนื่อง ดังนั้นการสื่อสารทางการตลาดที่หลากหลาย ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ (Omni-channel) จึงมีความสำคัญในการสร้างประสบการณ์การซื้อสินค้าและให้บริการที่ต่อเนื่อง เพื่อช่วยกระตุ้นยอดขาย สร้างการรับรู้ของแบรนด์ และจัดเก็บข้อมูลลูกค้าสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการต่อไป รวมถึงการจัดเตรียมระบบการออกใบกำกับภาษีเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าตามมาตรการช้อปดีมีคืน

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube