fbpx
Home
|
เศรษฐกิจ

พาณิชย์ชี้การค้า RCEP โตดีหลังมีผลบังคับใช้

Featured Image
กระทรวงพาณิชย์ เผย การค้า RCEP ช่วง 2 เดือนแรกหลังมีผลใช้บังคับ ขยายตัว 9.1%

 

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถิติการส่งออกของไทยไปกลุ่มประเทศ RCEP ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2565 พบว่า มีมูลค่า 23,501.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 52.5 ของการส่งออกไทยไปตลาดโลก ขยายตัวร้อยละ 9.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยไทยส่งออกไปอาเซียนมากที่สุด ร้อยละ 24.8 รองลงมาคือ จีน ร้อยละ 11.5 ญี่ปุ่น ร้อยละ 9.4 ออสเตรเลีย ร้อยละ 3.9 เกาหลีใต้ ร้อยละ 2.3 และนิวซีแลนด์ ร้อยละ 0.6 ขณะที่ไทยนำเข้าจากกลุ่มประเทศ RCEP มูลค่า 28,890.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 16.6

 

โดยมีการใช้สิทธิ์ RCEP ส่งออก มูลค่า 1,165.52 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.15 ของการส่งออกไทยไป RCEP การค้าของไทยกับกลุ่มประเทศ RCEP มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ดำเนินโครงการ “จับคู่กู้เงิน ลุยตลาด RCEP” ร่วมกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดหาสินเชื่อให้ผู้ประกอบการไทยที่สนใจส่งออกไปตลาด RCEP รวมทั้งยังได้ลงพื้นที่จัดสัมมนา “ชี้ช่องโอกาส ลุยตลาด RCEP” ทั้งในกรุงเทพฯ และในภูมิภาค เพื่อให้ความรู้และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP อย่างเต็มที่อีกด้วย

 

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP เริ่มมีผลใช้บังคับ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 ปัจจุบันมีประเทศสมาชิก RCEP ให้สัตยาบันความตกลง RCEP แล้ว 13 ประเทศ ได้แก่ บรูไนฯ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ส่วนอีก 2 ประเทศ คือ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย อยู่ระหว่างดำเนินกระบวนการภายในเพื่อให้สัตยาบัน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube