fbpx
Home
|
ไลฟ์สไตล์

ที่มาและความสำคัญของ “วันเข้าพรรษา”

Featured Image

          สวัสดีวันเข้าพรรษานะทุกคน ในปี 2564 นี้ วันเข้าพรรษาตรงกับวันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม ซึ่งวันนี้ถือเป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธ ที่ต่อเนื่องมาจากวันอาสาฬหบูชา ว่าแต่วันเข้าพรรษาจะมีความสำคัญอย่างไรบ้าง ไปอ่านพร้อมๆกันเลย

ประวัติวันเข้าพรรษา

          “เข้าพรรษา” แปลว่า “พักฝน” หมายถึง พระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งระหว่างฤดูฝน เนื่องจากในอดีตสมัยพุทธกาล พระสงฆ์ต้องเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆเพื่อเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนแก่ประชาชนโดยไม่จำเป็นต้องมีที่อยู่ประจำแม้ในฤดูฝน ระหว่างที่เดินทาง ชาวบ้านเข้ามาตำหนิว่าไปเหยียบข้าวและพืชอื่นๆจนเสียหาย เมื่อเรื่องนี้ทราบถึงพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงทรงวางระเบียบการจำพรรษาให้พระภิกษุอยู่ประจำที่ตลอด 3 เดือน ในฤดูฝน

ความสำคัญของวันเข้าพรรษา

  1. ช่วงวันเข้าพรรษา เป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านจะประกอบอาชีพทำไร่ทำนา ดังนั้นการกำหนดให้ภิกษุสงฆ์หยุดการเดินทางไปในสถานที่ต่างๆ จะช่วยให้ต้นกล้าของพันธุ์พืช ตลอดจนสัตว์เล็กสัตว์น้อยไม่ได้รับความเสียหายจากการเดินธุดงค์
  2. ในช่วงเข้าพรรษานี้จะเป็นช่วงที่พระภิกษุได้หยุดพักผ่อนเพื่อศึกษาพระธรรมวินัยและหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า
  3. วันนี้เป็นวันที่พุทธศาสนิกชนได้บำเพ็ญกุศลเป็นพิเศษ ด้วยการทำบุญตักบาตร ถวายเทียน ถวายผ้าอาบน้ำฝน ตลอดจนถือศีลฟังเทศ ฟังธรรมในช่วงวันเข้าพรรษา
  4. นอกจากเป็นเทศกาลที่พุทธศาสนิกชนงดเว้นอบายมุขและความชั่วต่างๆแล้ว ในช่วงเวลาพรรษา พุทธศาสนิกชนทั่วไปจะบำเพ็ญทาน รักษาศีลฟังธรรม และเจริญภาวนามากขึ้น

การเข้าพรรษาของพระสงฆ์แบ่งออกเป็น 2 ประเภท

1.การเข้าพรรษาแรก หรือ ปุริมพรรษา 

          จะเริ่มวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 (ในปีอธิกมาสจะมีเดือน 8 สองหน จะเริ่มในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หลัง) จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หลังจากนั้นพระสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือน จะมีสิทธิในการรับกฐินในช่วงเวลาหนึ่งเดือน

2.การเข้าพรรษาหลัง หรือ ปัจฉิมพรรษา

          จะใช้ในกรณีที่พระสงฆ์มีเหตุสุดวิสัยไม่สามารถกลับเข้ามาพรรษาแรกได้ จึงต้องรอเข้าพรรษาหลังในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 9 และไปออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 พระสงฆ์ที่จำพรรษาในวันออกพรรษาหลังจากนั้นจึงไม่มีสิทธิ์ได้รับกฐิน

ข้อยกเว้นการจำพรรษาของพระสงฆ์

          ถึงแม้ว่าการเข้าพรรษาจะถือเป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระภิกษุโดยตรงที่ไม่สามารถละเว้นได้ไม่ว่ากรณีใดๆก็ตาม แต่ในการจำพรรษาของพระสงฆ์ในระหว่างพรรษานั้นอาจมีกรณีจำเป็นบางอย่างที่ทำให้ต้องออกจากสถานที่จำพรรษาเพื่อไปค้างแรมที่อื่น ซึ่งกรณีที่พระภิกษุต้องออกไปจำพรรษาที่อื่นนั้นสามารถขออนุญาตทำได้ เรียกว่า “สัตตาหกรณียะ” และต้องกลับมาภายใน 7 วัน เพื่อไม่ให้พรรษาขาด ไม่อย่างนั้นถือว่าอาบัติ ได้แก่

  1. การไปรักษาพยาบาลภิกษุ หรือบิดามารดาที่เจ็บป่วย 
  2. การไประงับภิกษุสามเณรที่อยากจะสึกมิให้สึกได้ 
  3. การไปเพื่อกิจธุระของคณะสงฆ์ เช่น การไปหาอุปกรณ์มาซ่อมกุฏิที่ชำรุด
  4. หากทายกนิมนต์ไปทำบุญ ก็สามารถไปฉลองศรัทธาในการบำเพ็ญกุศลได้

          และนี่ก็คือที่มาและความสำคัญของ “วันเข้าพรรษา” ที่ทางทีม iNN ได้นำมาฝากทุกคนกัน ซึ่งในปี 2564 นี้ที่เราทุกคนกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของ โควิด-19 อาจจะไม่ได้ทำกิจกรรมต่างๆ ที่ควรปฏิบัติในวันเข้าพรรษา ไม่ว่าจะเป็นการถวายผ้าอาบน้ำฝน รวมถึงการทำบุญ ตักบาตร แต่ทุกคนสามารถฟังพระธรรมเทศนาผ่านออนไลน์เพื่อให้ธรรมะนำชีวิต สู้โควิด-19 ทีม iNN ขอให้พวกเราทุกคนผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ไปได้ และสำหรับใครที่ไม่อยากพลาดทุกเรื่องอินเทรนด์ สามารถติดตามบทความสุขภาพดีๆหรือ ไลฟ์สไตล์ต่างๆได้ที่ iNN Lifestyle

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

ขอขอบคุณข้อมูล

กรมศาสนา

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube