fbpx
Home
|
คลิปข่าวทั่วไป

“ก้าวไกล”อย่าล้อเล่น กระชากขึ้นค่าแรง 450 บาท

 

น่าติดตามเป็นอย่างยิ่งกับสมการจัดตั้งรัฐบาลใหม่หลังผ่านพ้นเลือกตั้งใหญ่ 14 พ.ค.2566นั่นเพราะเกมนี้ไม่เพียงแต่เกิดการสลับขั้วในการจัดตั้งรัฐบาลเท่านั้น ยังมีตัวแปลสำคัญคือ “ส.ว.” แม้ว่า “ก้าวไกล” จะเป็นผู้ชนะเลือกตั้ง

 

 

ฝ่ายวิจัย บล.เอเซียพลัส ระบุว่า การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จะผ่านการคัดเลือกต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วย ส.ส. 500 คน และ ส.ว. 250 คน รวม 750 คน หมายความว่าต้องได้คะแนนเสียงสนับสนุน 376 คน ขึ้นไป ซึ่งปัจจุบันพรรคก้าวไกล รวมเสียงสส.พรรคร่วมรัฐบาล 310 เสียง

 

ทั้งนี้ หากไม่ได้เสียงจาก ส.ว. หรือ ส.ส. ที่ไม่อยู่ในพรรคร่วมรัฐบาล สนับสนุน ก็อาจทำให้กระบวนการในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ต้องยืดยาวออกไป ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ-การลงทุน

 

ดังนั้นในช่วง 60 วันจากนี้ ก่อนที่จะเปิดประชุมรัฐสภา ต้องติดตามดูว่าจะมีความคืบหน้า หรือทิศทางที่จะทำให้กระบวนการในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเดินหน้าต่อได้อย่างไร

 

ขณะที่ฝากฝั่งเอกชน ผู้ประกอบการ มีท่าทีอย่างไรกับประเด็นการเมือง สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.คุยกับ “ดร.ธนิต โสรัตน์” รองประธานองค์การนายจ้างผู้ประกอบการการค้าและอุตสาหกรรมไทย หรือ อีคอนไทย โดย “ดร.ธนิต” กล่าวว่า ภาคเอกชนห่วงประเด็นในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งอยากให้จัดตั้งโดยเร็ว

 

“ในฐานะเป็นภาคเอกชน ประเด็นที่เราห่วง ก็คือในเรื่องของการจัดตั้งรัฐบาล เราก็อยากให้เร็ว พรรคการเมืองที่เข้ามาก็ยังไม่ชัดนะว่าพรรคไหน 2 พรรคนี้ เขาจะได้เป็นแกนนำตั้งรัฐบาลถึงแม้ว่า พรรคก้าวไกลจะเปิดตัวมาก่อน แต่ก็มีปัจจัยอีกเยอะนะ แต่ยังไงก็อยู่กับ 2 พรรคนี้ เนื่องจากเขามีคะแนนสูสีกันมาก ประเด็นก็คือว่า 1. ต่างคนต่างก็มีนโยบายของตัวเอง เราก็อยากให้เขารอมชอมกัน แล้วก็อย่าใช้ประเด็นการเมืองกันมากนัก ก็ให้เอาประชาชนเป็นตัวตั้ง”

 

“ดร.ธนิต” กล่าวอีกว่า วันนี้ไม่อยากให้มีสุญญากาศทางการเมือง และไม่ต้องการเห็นเกมการเมืองเพื่อแย่งชิงอำนาจ ขณะเดียวกันมองว่านโยบายหาเสียงของพรรคร่วม ควรจะมีการรอมชอมกัน โดยยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง เพราะไม่เช่นนั้นจะใช้เงินงบประมาณที่สูงมาก

 

“ไม่อยากให้มีสุญญากาศทางการเมือง ทุกคนก็ต้องร่วมมือกัน ไม่ว่าฝ่ายไหนก็แล้วแต่ เพราะดูเริ่มต้นทั้ง ส.ว. ทั้งพรรคคนละซีก คนละฝาก ก็เริ่มเกมกัน ก็อยากให้เอาปัญหาของประเทศเป็นตัวตั้ง เรื่องต่อไปก็คือว่า นโยบายที่เอามาผลักดัน ก็ต้องมีแบ่งเป็นเร่งด่วน จะ 3 เดือน หรืออะไรก็แล้วแต่ ประเด็นคือ เขาคงไม่ได้ตั้งพรรคเดียวกัน ที่ผมห่วงก็คือว่า เขารอมชอมเรื่องนโยบายกันได้อย่างไร เพราะถ้าต่างคน ต่างเอานโยบายที่หาเสียงไว้ ใช้เงินเยอะนะ”

 

นอกจากนี้ “ดร.ธนิต” ยังได้ฝากถึงรัฐบาลชุดใหม่ถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำด้วยว่า ถ้าจะมีการขึ้น ก็ควรทยอยขึ้น แต่ไม่เห็นด้วยที่จะขึ้นทันที เพราะจะเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ และจะทำให้สินค้ามีราคาแพงขึ้น

 

“คุณนึกภาพละกัน ถ้าค่าจ้าง กระโดดขึ้นไป 30% ต้นทุนเราแข่งได้ไหม สถานประกอบการก็ทยอยปิดไป เราก็เข้าใจนะตอนหาเสียง คุณก็ประกาศนโยบายค่าจ้างหวังจะเอาคะแนนพวกแรงงาน แต่ผมคิดว่าพอเป็นรัฐบาลจริงแล้ว มันก็เป็นเรื่องเศรษฐกิจจะกระทบอะไรบ้างทั้งโครงสร้าง ฉะนั้นถ้าเป็นไปได้ ผมก็อยากให้เขาทยอยขึ้น ทยอยปรับ ให้มีเวลาปรับตัว กระชากทีเดียว 450 บาท เพิ่มเดือนนึงต่อคน 3,000 บาท มันไม่ใช่เรื่องล้อเล่นนะ เรามีกลไกค่าจ้าง ทำไมเราไม่ให้กลไกค่าจ้าง เขาทำหน้าที่ไป”

 

และนี่ก็เป็นประเด็นทางการเมืองที่ภาคเอกชนเป็นห่วงหลังจากจบการเลือกตั้งและรอวันที่จะได้รัฐบาลใหม่นั่นเอง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

 

 

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube