fbpx
Home
|
คลิปข่าวทั่วไป

ลุยต่อรฟม. ยัน 27ก.ค. ประมูลสายสีส้มรอบใหม่

 

การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท ส่อวุ่นเพิ่ม เมื่อบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ประกอบการกิจการขนส่งมวลชนระบบรถไฟฟ้า

 

โดยยื่นหนังสือต่อพันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษและขอให้ดีเอสไอ สืบสวนสอบสวนกระบวนการแข่งขันประกวดราคาเนื่องจาก พบพิรุธการเปลี่ยนเงื่อนไข หลักเกณฑ์ บริษัทยื่นซองประมูล หรือการฮั้วประมูล

 

ทำให้การตั้งเป้าของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม.และคณะกรรมการมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ จะดำเนินการยื่นอุทธรณ์ตามขั้นตอน ต่อศาลปกครองกลาง ภายใน 30 วัน พร้อมกับออกประมูลรอบใหม่ที่ รฟม.กำลังเปิดรับซองเอกสารจากเอกชนวันที่ 27 ก.ค.นี้ อาจจะต้องสะดุดหรือไม่

 

ซึ่งเรื่องนี้ ล่าสุด รฟม.ได้ออกมาเปิดเผยว่า เนื่องจากคำพิพากษาศาลปกครองกลางชั้นต้น ซึ่งยังไม่ถึงที่สิ้นสุด และยังไม่มีสภาพบังคับคดี อีกทั้งรฟม.ใช้สิทธิ์ในการยื่นอุทธรณ์ ซึ่งเป็นไปตามตามมาตรา 70 ตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง ดังนั้น ในส่วนของการเปิดประกวดราคา และการประมูลราคาเพื่อคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ครั้งที่ 2 ซึ่งมีเอกชนเข้าซื้อ เอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนจำนวน 14 ราย และรฟม.กำหนดรับซองเอกสารข้อเสนอในวันที่ 27 ก.ค. 2565 ยังคงเป็นไปตามกำหนดเดิม

 

ทั้งนี้ คำพิพากษาศาลปกครองกลาง ว่าการยกเลิกประมูลครั้งที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ยังไม่ถึงที่สุด จึงยังไม่มีผลบังคับใช้แล้ว นอกจากนี้ในคำพิพากษา ศาล ไม่ได้มีคำสั่งห้ามการประกวดราคาใหม่แต่อย่างใด

 

โดย ขณะนี้ รฟม.อยู่ระหว่างร่างคำอุทธรณ์เพื่อเตรียมยื่นภายใน 30 วัน นับจากที่ศาลมีคำพิพากษา รฟม.และคณะกรรมการมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ จะดำเนินการยื่นอุทธรณ์ตามขั้นตอน ซึ่งคณะกก.มาตรา 36 จะมีการประชุมหารือเพื่อรับทราบคำพิพากษาของศาลและแนวทางการดำเนินการ ในขั้นตอนอุทธรณ์ เพื่อต่อสู้คดีต่อไป

 

ขณะที่นาย สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้ความเห็นกับสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า เรื่องของหลักเกณฑ์การประมูลโครงการลงทุนมีหลายรูปแบบซึ่งแล้วแต่ว่าหน่วยงานจะใช้รูปแบบและหลักเกณฑ์การตัดสินลักษณะไหนที่เหมาะสมกับการประมูลในแต่ละโครงการ โดยในส่วนของ รฟม. ใช้รูปแบบอ้างอิงคะแนนด้านเทคนิคควบคู่คะแนนราคา

 

การใช้คะแนนด้านเทคนิคมาคิดคู่กับคะแนนด้านราคา ไม่ค่อยนิยมทำกันมากในการประมูลโครงการขนาดกลาง-ขนาดใหญ่ แต่การใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าว มองว่า สามารถใช้ได้ เพราะที่ผ่านมาการใช้เกณฑ์ด้านคุณสมบัติเพียงอย่างเดียวในการตัดสินก็เคยมีมาแล้ว สิ่งสำคัญ คือ การกำหนดเงื่อนไขต้องชัดเจน และจะต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความโปร่งใส ดังนั้น กระบวนการประมูลรอบใหม่จะต้องมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของแต่ละภาคส่วนก่อนว่ามีความเหมาะสม ถูกต้องหรือไม่

 

ส่วนปัญหาการฟ้องร้อง มองว่า เกิดจากการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ระหว่างทางหรือผิดขั้นตอนไปเล็กน้อยจนทำให้เกิดช่องว่างมีการฟ้องร้องกันขึ้น ซึ่งหากมีการกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆตั้งแต่เริ่มโครงการ เริ่มต้นประมูลและรฟม.ทำตามกระบวนการจะไม่มีปัญหาเกิดขึ้น เมื่อปัจจุบันจะเกิดการเริ่มต้นประมูลใหม่ ย่อมต้องทำตามกระบวนการให้ถูกต้องเพื่อปิดช่องโหว่ต่างๆ ไม่ให้โครงการล่าช้าต่อไปอีก

 

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี

 

จากนี้ต่อต้องติดตามว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) จะสามารถเปิดประมูลโครงการและเดินหน้าเพื่อให้สามารถเปิดใช้บริการแก้ไขปัญหาการจราจรให้กับพี่น้องประชาชนได้เมื่อใดและปัญหาการฟ้องร้องที่เกิดขึ้นจะจบลงเช่นไร

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

 

 

 

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube