fbpx
Home
|
คลิปข่าวทั่วไป

นักวิชาการ ตั้งข้อสังเกต เปลี่ยนรพ.ผ่าพิสูจน์ศพแตงโมทำได้หรือไม่

ในวันนี้ทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ ประธานเครือข่ายทนายคลายทุกข์,, รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อย และประธานกรรมการ คณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต และรศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ร่วมวงเสวนาในหัวข้อ “ความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม” กรณีคดีของ “แตงโม นิดา” หรือ น.ส.ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ ที่พลัดตกเรือสปีดโบ๊ทกลางแม่น้ำเจ้าพระยาเสียชีวิต

 

โดยช่วงหนึ่งของการเสวนาได้มีการนำเสนอประเด็นการวนรถนำร่างของแตงโมจากที่ต้องไปผ่าพิสูจน์ศพที่ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ รพ.ธรรมศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม กลับมีคำสั่งให้ไปผ่าพิสูจน์ที่สถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจ อาจารย์วีระศักดิ์ กล่าวว่า พื้นที่ทั้งหมดในประเทศไทย ที่เกี่ยวข้องกับการผ่าพิสูจน์ศพอยู่ภายใต้อำนาจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีคำทิ้งท้ายว่าในกรณีแบบนี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาขึ้นอยู่กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าจะให้ส่งผ่าพิสูจน์ที่ใดก็ได้

 

ขณะเดียวกัน หากดูตามข้อกฎหมายพนักงานสอบสวนเป็นหัวหน้าทีมในการผ่าชันสูตรพลิกศพในที่เกิดเหตุ เพราะฉะนั้น อำนาจของพนักงานสอบสวนมีอยู่เต็ม ส่วนแพทย์หรือกองพิสูจน์หลักฐานเป็นเสมือนทีมงาน เพราะฉะนั้นการตัดสินใจของพนักงานสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนต้องใช้ดุลพินิจตามอำนาจกฎหมายที่มี ซึ่งบางครั้งบางคราวอาจไม่ได้ส่งในพื้นที่ สรุปได้ว่ากรณีที่เกิดขึ้นอยู่ภายใต้การตัดสินใจภายใต้อำนาจที่มี แต่ด้วยเหตุผลลึกๆอันใดไม่สามารถทราบได้

 

ด้านอาจารย์กฤษณพงค์ กล่าวว่า ตามหลักมาตรฐานสากล หากความโปร่งใสจะเกิดขึ้นได้ต้องมีหน่วยงานภายนอกเข้ามาร่วมในการตรวจสอบ และเป็นเรื่องปกติที่สังคมตั้งคำถามในทุกกระบวนการยุติธรรม ส่วนการวกรถเปลี่ยนโรงพยาบาลผ่าพิสูจน์ นำเรียนว่าไม่ทราบข้อเท็จจริง ต้องไปถามผู้มีอำนาจในการสั่งการ

 

ด้านทนายเดชา ตอบในฐานะทนายความของผู้เสียหาย ตำรวจได้ชี้แจงโดยยก พระราชบัญญัติการให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ มาตรา 5 (1) บอกไว้ว่า การที่ผ่าชันสูตรพลิกศพครั้งแรก พนักงานสอบสวนต้องร้องขอ และการผ่าซ้ำให้ดูมาตรา 5 (4) ต้องเป็นกรณีที่มีความจำเป็นและได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการของนิติวิทยาศาสตร์ ตำรวจจึงอธิบายให้ฟังว่า คดีนี้เมื่อเริ่มต้นเป็นคดีอาญา และอยู่ในอำนาจตำรวจ ถ้าจะเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดตำรวจก็ต้องดำเนินการโดยหน่วยงานที่อยู่ภายใต้สังกัดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมบอกว่านี่เป็นเหตุผลง่ายๆและทุกคดีที่ผ่านมาตำรวจทำเช่นนี้ตลอด มีกี่คดีที่มาที่ นิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม

 

พร้อมย้ำว่านี่คือความจริง ใครจะเชื่อหรือไม่ก็แล้วแต่ เป็นสิ่งที่ตนได้รับทราบมาเพราะว่าไม่ต้องขออนุญาต แต่หากไปนิติวิทยาศาสตร์ต้องทำเรื่อง และหากถามว่ามีเรื่องการทุจริตรับเงินหรือไม่ยืนยันว่าไม่มี ส่วนการที่ตำรวจเอาร่างของแตงโมไปส่งผ่าพิสูจน์ที่นิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจ ยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องแปลกเป็นเรื่องปกติที่ทำกันมาตลอด

 

ทั้งนี้ อาจารย์กฤษณพงศ์ ยังให้ความเห็นเกี่ยวกับ “ความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม” ว่า จริงๆ แล้วได้ถูกเชิญไปให้การและให้ความเห็นด้านอาชญาวิทยา ตำรวจนั้นทำหลายอย่าง ทั้งฝ่ายสืบสวน สอบสวน ตรวจผลทางเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ GPS-ความเร็วเรือ ตรวจปากคำพยานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวบรวมหลักฐานทางนิติเวชทั้งหมด แต่คำถามคือ ทำไมประชาชนจึงรู้สึกไม่เชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม ซึ่งอาจมองย้อนกลับไปได้จากคดีต่างๆก่อนหน้านี้ที่มีการนำเสนอข่าวส่งผลให้สะเทือนต่อความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจากคดีนี้ต้องมีการถอดบทเรียนเพื่อเป็นอุทาหรณ์

 

ส่วนความคืบหน้าทางคดีทนายเดชา กล่าวว่าอาจจะมีการสรุปสำนวนคดีคาดว่าไม่เกินสิ้นเดือนนี้ โดยพยานหลักฐานในตอนนี้ยังคงเป็นประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube