fbpx
Home
|
ข่าว

มณเฑียร-อลงกรณ์-ปริญญา ย้ำจุดยืนต้องโหวตนายกฯ ตามเสียง ปชช.

Featured Image
มณเฑียร-อลงกรณ์-ปริญญา ย้ำจุดยืนต้องโหวตนายกฯ ตามเสียง ปชช. หากพิธาไม่ผ่าน ให้เป็นสิทธิพรรคอันดับ 2 เสนอตามรัฐสภา

 

 

 

ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ตัวแทนเครือข่าย ‘Respect My Vote เคารพผลเลือกตั้ง ฟังเสียงประชาชน’ จัดเสวนา นำโดย ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกพรรคพรรคประชาธิปัตย์ และมณเฑียร บุญตัน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)

 

โดย มณเฑียร กล่าวว่า เห็นด้วยร่างแก้ไข ม.272 เสนอเข้ามาแพ้ทุกครั้ง ก่อนวันเลือกตั้ง 2-3 วันได้มีโอกาสร่วมงานเสวนา เพื่อเป็นการสืบสานหลักการที่ได้ยืนยันมาตลอดคือการตัดอำนาจ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกฯ การงดออกเสียงเป็นการคงเส้นคงวากับหลักการที่ว่าไว้ เป็นการปิดสวิตช์ เวอร์ชัน 1.0 ไม่ใช้อำนาจเลือกนายกฯ มันคือเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ หลังวันเลือกตั้งใช้เวอร์ชัน 2.0 คือ ไม่มีผลกระทบต่อคะแนนเสียง โหวตตามมติเสียงข้างมากของสภาผู้แทนฯ เสียงข้างมากเป็นอย่างไร ส.ว. อย่างตนก็เป็นแบบนั้น ไม่ต้องพูดเรื่องความชอบหรือไม่ชอบ ใครรวบรวมเสียงข้างมากได้ก็เลือกตามนั้น ไม่ว่าแคนดิเดตนายกฯ จะเป็นใคร

 

 

มณเฑียร ย้ำว่า สมการปิดสวิตช์ ส.ว. 1.0 คือไม่มีองค์ประชุมของ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ แต่ในการปิดสวิตช์ ส.ว. 2.0 องค์ประชุมยังเป็น 750 การปิดสวิตช์คือต้องโหวตตาม ส.ส. แต่ไม่สามารถเข้าใจได้ว่าอีก 60 กว่าท่านยังคิดตามตนหรือเปล่า ส่วนประเด็น ม.112 เนื่องจาก ส.ว. ไม่ได้มีการประชุมอย่างเป็นกิจลักษณะหลังยุบสภาฯ เพราะ ส.ว. ไม่ได้มีโครงสร้างที่รัดตรึงในทางอุดมการณ์เหมือนพรรคการเมือง จะรวมกันเป็นหมู่คณะตามประเด็นที่แต่ละคนสนใจ

 

 

อีกทั้งอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือกฎหมาย ม.44 นั้นไม่มีแล้ว การเปลี่ยนผ่านรัฐบาลที่มาจากวิธีการพิเศษก็จบไปแล้วตั้งแต่ปี 2562 การเปลี่ยนผ่านในปัจจุบันคือการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลประชาธิปไตยชุดหนึ่งสู่อีกชุดหนึ่ง มันจึงยากที่จะบอกว่า ส.ว. มีความแตกต่าง หรือหวาดกลัวเรื่องใดเป็นพิเศษ แต่เผอิญว่าคนที่ออกมาแสดงความเห็นคือคนที่มีน้ำหนัก แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นจุดมุ่งหมายร่วม ไม่มีอะไรที่เป็นเงื่อนไขให้คนคิดเหมือนกัน

 

 

ด้าน อลงกรณ์ กล่าวว่า หลังเลือกตั้งเมื่อทราบผลแล้ว ด้วยประสบการณ์ทางการเมืองพอรู้ว่ามันจะมีอะไรเกิดขึ้น ในส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอ ส.ส. ของพรรคสนับสนุน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะมันคือหลักการของระบบเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ เพียงแต่รัฐธรรมนูญระบุว่า ต้องได้รับเสียงเห็นชอบจากทั้งสองสภาฯ มันจึงควรเป็นไปโดยราบรื่น และรวดเร็ว ไม่ควรนำประเทศไปสู่จุดเสี่ยงซึ่งนำมาการเผชิญหน้าของกลุ่มการเมือง และการรัฐประหาร

 

 

เสียงที่ประชาชนเลือกมานั้นต้องการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล ถือเป็นเจตจำนงค์ที่เด็ดขาดของประชาชน ทุกรัฐธรรมนูญระบุว่า ส.ส. และ ส.ว. คือ ผู้แทนปวงชนชาวไทย แต่ยังไม่มีใครพูดหลักการที่ซ่อนไว้ ไม่ว่าจะมาจากแต่งตั้งก็แล้วแต่ แต่ล้วนมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญในการเป็นผู้แทนประชาชน ดังนั้นเมื่อประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริงต้องการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล ส.ส. และ ส.ว. ไม่มีสิทธิไปขัดขวางเสียงของประชาชน

 

 

การแข่งขันเรื่องนโยบายมันจบไปแล้ว ประชาชนเลือกไปแล้ว หลังจากนั้นเมื่อจัดตั้งรัฐบาลก็จะเป็นนโยบายของรัฐบาลผสม แต่ละพรรคไม่มีใครได้ทั้งหมด เพียงแต่ต้องเข้าใจหลักการเป็นผู้แทนประชาชน และสิ่งที่ประชาชนเลือกมาแล้ว ดังนั้น ส.ส. และ ส.ว. ไม่มีสิทธิ์ไม่เห็นด้วย

 

 

90 ปีที่ผ่านมาของระบอบประชาธิปไตย เราอยู่ในระบบรัฐสภาเสียงข้างมาก-เสียงข้างน้อย ดังนั้น ภายหลังการเลือกตั้ง ต้องให้สิทธิความชอบธรรมแก่พรรคอันดับ 1 ในการจัดตั้งรัฐบาล และเมื่อรวมเสียงได้ 312 เสียงจาก 8 พรรคแล้ว จึงเป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ ไม่ใช่รัฐบาลปริ่มน้ำ ซึ่งสถานะของแคนดิเดตนายกฯ ในปัจจุบัน ไม่ใช่แค่สถานะเป็นแค่แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคก้าวไกล แต่เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ

 

 

เราต้องคำนึกถึงหลักประโยชน์ของประเทศชาติ ต้องทำไปด้วยความรวดเร็ว ดังนั้น พรรคที่แพ้การเลือกตั้งมันต้องมีสปิริตในการประกาศยอมแพ้ เพื่อยอมรับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การยอมรับความพ่ายแพ้คือ การเริ่มต้นของโอกาสใหม่ในการแข่งขันอีก 4 ปีข้างหน้า หากวันที่ 13 ก.ค. นี้ ไม่สามารถโหวตให้ พิธา ผ่าน ก็ต้องโหวตครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 และถ้าไม่ผ่านก็เป็นสิทธิ์ของพรรคเพื่อไทยไปตามครรลอง ดังนั้นบ้านเมืองต้องมีสปิริต และมีความอดทน ยืนยันว่า ถ้าตนมีโอกาสจะโหวตให้ พิธา แน่นอน

 

 

ขณะที่ ปริญญา กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา เราไม่ได้เลือกนายกฯ โดยตรง แต่เราเลือกทางอ้อมผ่านการเลือก ส.ส. แต่ละพรรคการเมือง ดังนั้นหมายถึงการเลือก ส.ส. พร้อมนายกฯ ไปด้วยกัน สิ่งที่มันเกิดขึ้นคือ หลักการที่เราพูดกันมาเสมอตั้งแต่ก่อนยึดอำนาจรัฐประหาร 2557

 

 

คำถามคือ ท่านเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้ประเทศชาติเดินหน้า การที่คนจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ประชาชนไม่รู้ว่าประเทศจะเป็นไปอย่างไร มีแต่ความดำมืด ไม่ได้บอกว่า หากไม่รับจะเป็นอย่างไร 5 ส.ค. 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รักษาการนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์นักข่าวว่า “รับไปก่อน โดยผมจะไม่สืบทอดอำนาจ” แต่ปัจจุบัน ส.ว. ยังคงมาขัดขวางเจตนารมณ์ของประชาชนอยู่

 

 

ตามหลักการ ส.ว. ไม่ได้จากปวงชนชาวไทย แล้วท่านจะเป็นตัวแทนปวงชนชาวไทยได้อย่างไร ดังนั้นการจะเป็นตัวแทนปวงชนต้องฟังเสียงปวงชนชาวไทย และไม่ตกอยู่ใต้อาณัติ หรือการครอบงำของใคร ให้คิดประโยชน์ของปวงชนเป็นที่ตั้ง การที่ไม่ฟังเสียงข้างมาก แต่ไปฟังเสียงที่แต่งตั้งขึ้นมาเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ ม.114

 

 

แต่เชื่อว่า มี ส.ว. ที่ไม่สามารถกดปุ่มสั่งได้ไม่ต่ำกว่า 60 คน ส่วนที่เหลือนั้นก็คงมี บทบาท ส.ว. มีตอนที่สภาล่างฯ รวมเสียงไม่ได้ แต่ตอนนี้เขารวมกันได้ และอยากให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ออกมาประกาศให้ ส.ว.ฟรีโหวตไปเลยเพื่อเเสดงความโปร่งใสในการโหวต ส่วนเรื่อง ม.112 ที่ ส.ว.ไม่เห็นด้วย ก็ยังไม่มีใน MOU

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube