fbpx
Home
|
ข่าว

คิดใหม่ ทำใหม่ เข้าใจลูกค้า เจ้าของเซเว่นตัวจริงแนะกรณีดราม่าเจ้าแม่โชห่วย

Featured Image

ในช่วงที่ผ่านมา จากประเด็นดราม่าในโซเชียล เมื่อมีการสัมภาษณ์เจ๊ติ๋มเจ้าของร้านโชห่วยแห่งหนึ่ง ที่ออกมาจุดประเด็นว่า แข่งขันกับร้านสะดวกซื้อไม่ได้ ทำให้ถูกผลักดันไปทำผิดกฏหมายเพื่อความอยู่รอด ทำให้เป็นห่วงกระบวนการคิดของสังคม ซึ่งอาจไม่ใช่ทางออกเดียว และ ที่สำคัญ มีร้านโชห่วยจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จ และยังคงเป็นร้านประจำชุมชน เพราะจำนวนร้านเซเว่นในประเทศไทยเทียบร้านโชห่วย คือ 1 ร้านเซเว่น ต่อ 50 ร้านโชห่วย ดังนั้น โอกาสของร้านโชห่วยยังมีอีกมากมายและเป็นคนละตลาดกับคนที่มาซื้อความสะดวกรวดเร็ว นอกจากนี้มีร้านโชห่วยจำนวนมากที่ปรับตัวสู่ค้าปลีกสมัยใหม่ และตอบโจทย์ชุมชน ซึ่งการตั้งคำถามที่ถูกต้องนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น วันนี้โชห่วยต้องเลิกคิดว่า ตัวเองแข่งกับร้านสะดวกซื้อ แต่ต้องคิดว่า เรากำลังแข่งกับการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค หากวันนี้เจ๊ติ๋ม มีแก้ว 3 ประการ บันดาลให้ไม่มีร้านสะดวกซื้อในโลก แน่นอนว่า โชห่วยจะยังเป็นทางเลือกของลูกค้าหรือไม่ ลูกค้ายังคงหาวิธีที่จะได้ของที่ดีที่สุดอยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นการซื้อของออนไลน์ การไปซื้อของในห้าง ในซูเปอร์มาเก็ต ซึ่งแจ็ค หม่า จากอาลีบาบา ก็บอกชัดเจนว่า ลูกค้ายุคนี้พร้อมจะสั่งของออนไลน์ ลูกค้าพร้อมจะเปรียบเทียบราคา และ ลูกค้าจะมีทางเลือกมากขึ้นจากผู้เล่นระดับโลก ที่ไม่มีกำแพงในการกีดกันการแข่งขันอีกต่อไป ดังนั้น การที่เจ๊ติ๋มมองมิติแบบตลาดปิดว่า การแข่งขันกับร้านสะดวกซื้อเป็นผู้ใหญ่รังแกเด็กนั้น ต้องเข้าใจว่า ในโลกของการแข่งขันทางธุรกิจ ใครไม่ปรับตัว ล้วนไปไม่รอด ไม่ว่าจะเป็นรายเล็ก รายกลาง หรือว่ารายใหญ่ วันนี้ลูกค้าต้องการของที่ไม่หมดอายุ ต้องการของที่ไม่มีฝุ่นเกาะ มีการจัดโปรโมชั่น ลูกค้าต้องการสะสมแต้ม ลูกค้าเปรียบเทียบราคาได้ในอินเตอร์เนต ลูกค้ารู้ว่าของแบบไหน เหมาะกับตนเอง เฉพาะบุคคลมากยิ่งขึ้น การเปลี่ยนแปลงของลูกค้าไม่ใช่ความผิดของร้านสะดวกซื้อ แต่ยุคนี้ลูกค้ามีทางเลือก และ คนที่พร้อมสนับสนุนโชห่วย ก็มีทางเลือกในการเข้าไปซื้อของในร้านโชห่วย แต่คำถามที่สำคัญกว่าคือ โชห่วยยุค 4.0 จะตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างไร หรือ ต้องปรับปรุงร้าน หารูปแบบร้านที่สามารถแข่งขันได้ในอนาคต เจ๊ติ๋มเคยเห็นบริษัทโนเกีย ออกมาทำคลิป บอกว่า ทำไมแอปเปิลต้องออกไอโฟนหรือไม่ เจ๊ติ๋ม เคยเห็นโกดัก ออกมาโวยบริษัทที่ทำกล้องดิจิทัล หรือไม่ เจ๊ติ๋ม เคยเห็นโรงงานเย็บผ้าที่ต้องปิดตัว เพราะสู้ราคาในตลาดโลกไม่ได้หรือไม่ ออกมาโวยไนกี้หรือไม่ การที่ทุกคนต้องปรับตัวนั้น เป็นเพราะเราหยุดการหมุนของโลกไม่ได้ แม้กระทั่งคนในองค์กรใหญ่ๆ ยังต้องให้คนรุ่นใหม่ ขึ้นมาบริหาร นั่นก็เป็นเพราะการหยุดนิ่ง และ การขอให้ทุกคนหยุดพัฒนาเพราะคุณแข่งขันไม่ได้ ไม่ใช่ทางออก แต่หากเป็นการพัฒนาตัวเองตลอดเวลาต่างหาก ที่ทำให้ประสบความสำเร็จได้ หากเจ๊ติ๋ม ดูจำนวนผู้ประกอบการร้านโชห่วยในประเทศไทย มีกว่า 600,000 ร้านค้า เราต้องมองว่า ทำไมเขาเหล่านั้น ยังคงหาช่องว่างทางการตลาด ทำไมเขาเหล่านั้น ทำโปรโมชั่นการขาย ทำไมเขาจัดทำรายการของหมดอายุ และ ที่สำคัญ ทำไมเขาถึงรู้จักลูกค้าของเขาทุกคน ดังนั้น ร้านโชห่วย ไม่จำเป็นต้องขายของเหมือนเดิม ร้านโชห่วย สามารถปรับตัวเป็นอะไรก็ได้ที่ชุมชนต้องการ โดยไม่ต้องทำผิดกฎหมาย อย่างที่เจ๊ติ๋มกล่าวอ้าง เพราะมีผู้ที่เคยทำโชห่วยมากมายที่ประสบความสำเร็จในวันนี้ และตัวเลขร้านโชห่วย ก็ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง “เฮียมิ้ง” หรือ คุณบุญมี บุญยิ่งสถิต เป็นผู้ร่วมธุรกิจของเซเว่นอีเลฟเว่นรายแรกของไทย เรียกว่าเป็นบุคคลในตำนานสำหรับเซเว่นฯเลยทีเดียว เรามาฟังเรื่องราวของการเริ่มต้นทำงานกับเซเว่นฯ การตัดสินใจเปิดสาขาอื่นๆ (จนปัจจุบันเปิดในละแวกเดียวกัน 5 สาขาแล้ว) พร้อมข้อคิดที่น่าสนใจ สำหรับเรื่องราวของ “เฮียมิ้ง”ตลอด 26 ปีของการทำร้านเซเว่นอีเลฟเว่นที่ส่งต่อธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่นและทำให้ครอบครัวได้อยู่ใกล้ชิดกัน ในบทความนี้จะพาทุกท่านมานั่งคุยกับเฮียมิ้งเพิ่มเติม และคำถามที่หลายคนอยากรู้ สรุปข้อมูลที่น่าสนใจ

  • เฮียมิ้งเปิดร้านโชห่วยมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่ออยู่ที่ เพชรบุรีซอย 5 เมื่อกระแส Convenience Store(ร้านสะดวกซื้อ)เริ่มมา เฮียจึงสนใจที่จะปรับปรุงร้านให้เป็นระบบและทันสมัยมากขึ้น เมื่อเปิดเซเว่นอีเลฟเว่น หน้าที่ที่เคยทำเปลี่ยนไป ทำงานเป็นระบบ มีพนักงานต้องดูแล ตอนแรกเหนื่อยเพราะต้องปรับตัว แต่ไม่นานก็ลงตัวขึ้นมาก
  • เมื่อมีลูกค้าหนาแน่นขึ้น ทาง เซเว่นอีเลฟเว่นแนะเฮียให้เปิดสาขาที่2 ในซอยเดียวกัน เฮียลังเลแต่ก็เปิด จากนั้นสาขาที่ 2ช่วยแบ่งลูกค้าทำให้งานสบายขึ้น และหลังจากนั้นไม่นานชุมชนหนาแน่นขึ้น และรายได้ดีขึ้น
  • ปัจจุบันมี เซเว่นอีเลฟเว่นที่เป็นของเฮียในย่านนั้นทั้งหมด 5 สาขา สำหรับเพชรบุรี 5 ที่เคยลังเลว่าจะเปิดสาขาที่สองใกล้กัน ตอนนี้ในซอยนั้นมีสาขาที่ 3 แล้ว ทุกอย่างลงตัว เฮียให้ลูกชายมาบริหารเต็มตัว
  • จุดเริ่มต้นธุรกิจของเฮียมิ้ง

แรกเริ่มเป็นร้านโชห่วยอยู่ที่เพชรบุรีซอย 5 เป็นร้านขายของทั่วไป ตอนแรกเข้ามาดูแลกิจการต่อจากรุ่นพ่อ ดูแลกันเองแบบธุรกิจครอบครัว เน้นไปทางขายถูก ขายปริมาณเยอะๆ คล้ายกับขายส่ง ทำให้มีลูกค้าเยอะ เมื่อก่อนก็รับของมาจากแม็คโคร หรือมีเซลล์มาติดต่อขายที่หน้าร้าน บางครั้งเราไปเจอร้านโมเดิร์นเทรดที่ลดราคาสินค้า สมัยนั้นจะเรียกว่าสินค้าป้ายแดง ก็ไปซื้อมาขายต่อ เป็นของลดราคาที่มีจำนวนจำกัด เปิดร้านโชห่วยอยู่สิบกว่าปี ย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว เซเว่นอีเลฟเว่นเพิ่งเข้ามาเปิดสาขาในเมืองไทย ตอนนั้นยังไม่เป็นที่รู้จัก แต่โดยส่วนตัวชอบติดตามข่าวสารธุรกิจ และกระแสของร้านสะดวกซื้อเริ่มเข้ามา เริ่มเห็นมินิมาร์ทตามที่พักตากอากาศต่างจังหวัด ได้ไปเห็นรูปแบบการจัดเรียงสินค้าสวยงาม ทำให้เริ่มมีความคิดอยากจะปรับปรุงร้านให้ดูดี

  • จุดเริ่มต้นก้าวเป็นส่วนหนึ่งกับเซเว่นอีเลฟเว่น

หลังจากเซเว่นฯเริ่มขยายสาขา มีรูปแบบร้านที่ใหญ่และสวยกว่าร้านสะดวกซื้ออื่น ขณะนั้นมีเจ้าหน้าที่มาหาทำเลขยายสาขา และยื่นข้อเสนอการเปิดร้านเซเว่นฯที่ทำให้ร้านเป็นระบบมากขึ้น จึงสนใจและตกลงร่วมธุรกิจกับ เซเว่นอีเลฟเว่น เป็นต้นมา โดยเริ่มตั้งแต่การเข้าอบรม ทำตามระบบที่วางไว้ ทำให้บทบาทของเราเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ไม่ต้องวิ่งไปซื้อของเองแต่ทางเซเว่นฯจัดส่งสินค้าให้โดยตรง กำหนดราคาและจัดโปรโมชั่นทุกอย่าง เรามีหน้าที่บริหารร้านและพนักงานที่มีอยู่ประมาณ 10 คน ซึ่งในขณะนั้น ทางเซเว่นฯเป็นคนจัดหาพนักงานล็อตแรกให้ทั้งหมด มีฝ่ายบุคคลรับสมัครพนักงานและอบรมเรียบร้อยแล้วค่อยส่งมาประจำร้าน

  • การส่งต่อรุ่นสู่รุ่น

ปัจจุบันรูปแบบร้านเซเว่นฯมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ได้นำระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาปรับใช้มากขึ้น การบริหารจัดการสะดวกกว่าในอดีตมากแต่ร้านโชห่วยยังอยู่ได้เพราะสินค้าบางประเภทไม่มีขายในเซเว่นฯ และเป็นความต้องการของคนในชุมชน ซึ่งกลุ่มลูกค้าหลักของเซเว่นอีเลฟเว่นจะเป็นกลุ่มคนทำงาน กลุ่มคนที่ซื้ออาหารรับประทาน ไม่ได้เข้าครัวทำอาหารเอง ดังนั้น อยู่ที่มุมคิดต้องกลับมามองที่ตัวเราว่ารูปแบบเดิมที่ทำมานานยังตอบโจทย์ผู้บริโภคในปัจจุบันหรือไม่ และจะพัฒนาไปในแนวทางใด ต้องเริ่มจากการเข้าใจลูกค้าในชุมชน และปรับตัว เพราะมีโชห่วยจำนวนมากที่แข็งแกร่ง และ เป็นร้านคู่ชุมชนอย่างสมดุล

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube