fbpx
Home
|
ข่าว

รุมกินโต๊ะ “เศรษฐา” แจกหมื่น?

@จังหวะโลกยังป่วนหนักขึ้นจากสงครามอิสราเอลกับเหตบอมบ์โรงพยาบาลในฉนวนกาซา

 

 

 

ที่ไทยต้องตกกระไดเข้าไปเกี่ยวต้องวางตัวในสถานการณ์ระหว่างคู่ขัดแย้งอิสราเอลปาเลสไตน์และฮามาส และความขัดแย้งแฝงผลประโยชน์การเมืองมหาอำนาจโลก เหตุเรายังมีแรงงานไทยจำนวนมากที่ยังตกอยู่ในอันตรายทั้งถูกจับเป็นตัวประกันทั้งที่รอการช่วยกลับ ที่ถือเป็นการบ้านรับน้อง“นายกฯเศรษฐา”ในฐานะผู้นำ ที่แม้เพิ่งเข้ามาบริหารได้เพียงเดือนเศษแต่ก็เหมือนต้องแก้วิกฤติหลายเรื่องนับตั้งแต่เข้าบริหารประเทศ ไม่นับรวมที่จ่อๆจะเป็น “วิกฤติ”กับเจ้าตัวที่กำลังเริ่มลุกลามบานปลาย แบบ ยิ่งทอดวันนับถอยหลังไปสู่กำหนด 1ก.พ. ที่ประกาศไว้ว่าจะ “แจกเงินหมื่นดิจิทัลวอลเล็ต”กับประชาชนเพื่อ “กระตุ้นเศรษฐกิจ”ตามที่ลั่นวาจาไว้ให้ได้

 

 

@อย่างที่ปรากฎกระแสคัดค้านของฝ่ายต่างๆ ที่เริ่มก่อตัวมากขึ้นเรื่อยๆจากทุกฝ่าย นับแต่เกิด “สารตั้งต้น”มาจาก“กลุ่ม99นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์”ที่ร่วมด้วยกับ อดีตผู้ว่าแบงค์ชาติ อดีต รมว.คลัง ที่ออกมาเคลื่อนไหวกระทั่งไหลเข้าไปถึงองค์กรอิสระทั้ง ปปช. และ ผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมไปถึง สว. และเหล่าบรรดา “นักร้อง”แม้กระทั่งเจ้าของผลงานแฉโครงการจำนำข้าว สมัย “นายกฯยิ่งลักษณ์”“อย่าง “หมอวรงค์”ที่ออกมาขยับอย่างจริงจังจากเตือนสู่คัดค้านจนมาสู่การยื่นร้องให้มีการสั่งให้ยกเลิกและเอาผิด แม้จะยังไม่ทันได้แจกเงิน

 

 

@ในขณะที่ปีกฝ่ายการเมือง “ฝ่ายค้าน” ก็เริ่มเห็นร่องรอยมาในคีย์เดียวกันระหว่าง พรรคก้าวไกล และ ประชาธิปัตย์(ปชป.)ที่คัดค้าน ทั้งเคลื่อนขยับผ่านกรรมาธิการ ทั้งเตรียม“จองกฐินล่วงหน้า”ที่จะมีการตรวจสอบ“ซักฟอก”ไม่ไว้วางใจรัฐบาลในสภาโดยยกเรื่องนี้เป็น “ไฮไลท์” อย่างที่วันนี้ “จุรินทร์”จาก ปชป.ที่ออกมาบอกก่อนประชุม กมธ.พัฒนาเศรษฐกิจ ว่ามีการเสนอญัตติให้พิจารณานโยบายแจกเงินดิจิทัล เพราะนโยบายนี้ถูกหลายฝ่ายตั้งคำถาม

 

 

โดยกมธ.ได้เชิญทั้งตัวแทนจากกระทรวงการคลัง แบงค์ชาติ และ ปปช.มาชี้แจง ส่วนตัวจะตั้งคำถามแทนประชาชน คือ รัฐบาลจะดำเนินนโยบายเงินดิจิทัลอย่างไร จะเอาเงินจากไหน และจะทำอย่างไร โดยไม่กู้ เป็นคำถามที่เชื่อว่าคนไทยทั้งประเทศอยากได้คำตอบซึ่งจนวันนี้ยังไม่มีคำตอบจากรัฐบาล ยังมีความคลุมเครือ ไม่มีความชัดเจน มีเพียงได้ติดตามแนวโน้มจากข่าวไม่มีคำยืนยันจากผู้มีหน้าที่กำหนดนโยบายและลงมือปฏิบัติ วันนี้ก็หวังว่าจะได้คำตอบที่ชัดเจน สิ่งที่กังวลที่สุดคือความไม่ชัดเจนตั้งแต่ต้น ถ้าเป็นนโยบายสำคัญก็ต้องชัดเจนตั้งแต่วันหาเสียงแล้ว นี่กลายเป็นว่ามาเริ่มต้นนับหนึ่งกันหลังจากเป็นรัฐบาลแล้ว และจนเดี๋ยวนี้ก็ยังไม่นับหนึ่งจุดหนึ่ง คือยังไม่มีความชัดเจนใดๆ เกิดขึ้น

 

 

@ไม่แต่เท่านั้นนอกจาก “หมอวงรค์”ที่ไปยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อให้มีการยับยั้งโครงการนี้เมื่อวาน(18ต.ค.)แล้วใน วันนี้(19ต.ค.)ก็ยังมาการออกมาเคลื่อนไหวในท่วงทำนองเดียวกัน ของ “รสนา โตสิตระกูล”อดีตสว. ที่ก็ ยื่นหนังสือต่อ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทของรัฐบาล ว่าชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 8 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2561หรือไม่หากไม่ชอบด้วยกฎหมายขอให้จัดประชุมร่วมกับ กกต.และ ป.ป.ช.เพื่อสั่งให้ระงับหรือยับยั้งโครงการ

 

 

@เรียกว่ายามนี้ ประเด็น “แจกหมื่นดิจิทัลวอลเล็ต”ที่ถือเป็น “ไอเดีย”ของ “เศรษฐา”ตั้งแต่หาเสียง และพยายามผลักดันเมื่อเข้ามาเป็นแกนนำรัฐบาล กำลังถูกมองเป็น นโยบายเรียกแขก ทำให้รัฐบาลเพื่อไทย กลายเป็น ตำบลกระสุนตกโดยเป้าโฟกัสไปที่ “นายกฯเศรษฐา”ที่เมื่อหันมองรอบข้าง ถูกมองว่าเพื่อนทั้งพรรคร่วมรัฐบาล ที่มาจาก “รัฐบาลเก่า”และในพรรคเหมือนจะไม่ค่อยออกมาช่วยอธิบายความให้สักเท่าไหร่จะมีก็เพียง”จุลพันธ์”รมช.คลัง ที่มีหน้าที่ตรงๆส่วนรัฐมนตรีคนอื่นๆถูกมองว่ามาแบบประปรายที่ก็รวมถึงการคิด กระบวนท่า

 

 

จัดมวลชนมาเชียร์ ที่ทำให้ “เศรษฐา”ถูกวิจารณ์ ที่ทั้งหมดมีการวิเคราะห์ไปถึง “ปลายทาง”ในสภาฯที่จะมีการ “ซักฟอกรัฐบาล”ว่า “เศรษฐา”จะอยู่ในสภาพที่ทุกฝ่าย “รุมกินโต๊ะ”และจากนั้น จะให้แสดงความรับผิดชอบอย่างที่ “อ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว”จากคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา บอกว่าเกมการเมืองยามนี้เหมือนโดดเดี่ยว “เศรษฐา”ยิ่งมีการเล็งจะ เปิด“ซักฟอก”และให้หน่วยงานตรวจสอบยิ่งเหมือนเร่งปิดเกม คล้ายบีบ“เศรษฐา”ลาออกส่วนคนที่อยู่เบื้องหลังตั้งรัฐบาลอาจมองตัวนายกฯคนใหม่ที่สั่งได้ตามใจอาจไม่เกิน7เดือนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาลชุดนี้.

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube