fbpx
Home
|
ข่าว

ก้าวไกล เผย แนวทางการสร้าง “โรงเรียนปลอดภัย ไร้อำนาจนิยม” โดยรัฐบาลก้าวไกล

Featured Image
ก้าวไกล เผย แนวทางการสร้าง “โรงเรียนปลอดภัย ไร้อำนาจนิยม” โดยรัฐบาลก้าวไกล

 

 

 

วันนี้ (31 พ.ค. 66) ทางเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ของพรรคก้าวไกล ได้โพสต์ถึงปัญหาเรื่องอำนาจนิยมและความรุนแรงในโรงเรียน ว่าเป็นปัญหาเรื้อรังของระบบการศึกษาไทย ซึ่งถูกพูดถึงในวงกว้างอีกครั้ง หลังปรากฎคลิปที่ถูกเผยแพร่โดย The Isaan Record เมื่อวานถึงเหตุการณ์ในโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี ที่คุณครูมีการตบหน้านักเรียนโดยอ้างว่านักเรียนไม่ตั้งใจเรียน (twitter.com/isaanrecord/st…) ซึ่งผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคก้าวไกลในพื้นที่ วิศรุต สวัสดิ์วรได้เข้าไปสอบถามและรับฟังปัญหาเพิ่มเติม

 

 

พรรคก้าวไกลยืนยันว่าความปลอดภัยของนักเรียนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของนักเรียนที่ต้องได้รับการคุ้มครองทุกคน และไม่มีเหตุผลหรือกรณีใดๆที่ทำให้ครูหรือบุคลากรทางการศึกษามีสิทธิที่จะละเมิดสิทธิของนักเรียน ไม่ว่าจะทำในนามของการสอนหรือการลงโทษก็ตาม

 

 

ทั้งนี้พรรคก้าวไกลต้องการกำจัดปัญหาความรุนแรงและอำนาจนิยมในโรงเรียน เพื่อทำให้โรงเรียนทุกแห่งเป็นพื้นที่ปลอดภัยโดยเร็วที่สุด ด้วยการเสนอนโยบายเบื้องต้นดังต่อไปนี้

 

 

1. กฎระเบียบทุกโรงเรียนต้องไม่ขัดหลักสิทธิมนุษยชน และไม่เปิดช่องให้มีการละเมิดสิทธิ

1.1. ออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ และกำชับไปยังหน่วยงานอื่นที่จัดการศึกษา เพื่อกำหนดหลักการว่ากฎระเบียบของทุกสถานศึกษาทุกสังกัดต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนนักเรียน พร้อมระบุตัวอย่างของกฎระเบียบที่เป็นการละเมิดสิทธิ (เช่น การลงโทษด้วยวิธีรุนแรงทุกประเภท การบังคับให้เด็กบริจาคเงินหรือสิ่งของ การบังคับซื้อของ การบังคับเรื่องทรงผม)

1.2. แก้ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548 (โดยเฉพาะข้อ 6) ให้ชัดเจนและรัดกุมขึ้นในการปิดทุกช่องโหว่ ที่เสี่ยงจะนำไปสู่การลงโทษด้วยวิธีรุนแรงโดยอ้างถึง “เจตนาที่จะแก้นิสัยและความประพฤติไม่ดีของนักเรียน” เช่น การอ้างว่า “ตีเพื่อสั่งสอน”

 

 

 

2. ครูละเมิดสิทธิ พักใบประกอบทันที

2.1. แก้ข้อบังคับคุรุสภา เพื่อเพิ่มเงื่อนไข กระบวนการ และกรอบเวลาที่ชัดเจน ในการพักใบประกอบวิชาชีพครูที่มีการละเมิดสิทธิเด็ก (เช่น การทำร้ายร่างกายเด็ก การล่วงละเมิดทางเพศ) แทนที่จะแก้ปัญหาด้วยการงดโทษหรือลงโทษเพียงแค่ย้ายโรงเรียน ซึ่งอาจนำไปสู่ความไม่ปลอดภัยของผู้เรียนในสถานศึกษาอื่น

 

 

 

3. ผู้ตรวจการนักเรียน (Student Ombudsman) ที่เป็นอิสระจากโรงเรียน-เขตพื้นที่

3.1. เพิ่มประสิทธิภาพของ ศูนย์ความปลอดภัยกระทรวงศึกษาธิการ (MOE Safety Center) ในการรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิในโรงเรียน โดยรับประกันกรอบเวลาในการดำเนินการสืบสวนสอบสวน และรับประกันความเป็นอิสระจริงจากโรงเรียน-เขตพื้นที่ โดยอาจพิจารณาให้เป็นกลไกที่ขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

 

 

 

4. เพิ่มทักษะครูและบุคลากรทางการศึกษา เรื่องสิทธิมนุษยชน

4.1. เพิ่มความรู้และทักษะให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา เกี่ยวกับความสำคัญของสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของเด็ก กฎหมายที่เกี่ยวข้อง (เช่น อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก / พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546) และแนวทางการรับมือสถานการณ์ต่างๆในห้องเรียนโดยปราศจากความรุนแรงและการทำร้ายร่างกายและจิตใจของผู้เรียน

4.2. เพิ่มการดูแลสุขภาพจิตของครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อลดภาวะทางความเครียดที่อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรงในห้องเรียน

4.3. รณรงค์กับสังคมในวงกว้าง เพื่อส่งเสริมให้เด็กตระหนักถึงสิทธิของตนเอง และส่งเสริมให้ผู้ปกครองคุ้มครองสิทธิเด็ก

การทำให้โรงเรียนทุกแห่งเป็นพื้นที่ปลอดภัย เป็นหนึ่งในหลายวาระที่สำคัญของการ “ปฏิวัติการศึกษา” ภายใต้รัฐบาลก้าวไกล

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube