fbpx
Home
|
ทั่วไป

รู้จัก “Home Isolation” รักษาโควิดที่บ้าน

Featured Image

          จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อในแต่ละวันเพิ่มจำนวนมากขึ้นเฉลี่ยวันละกว่า 3,000-5,000 คน โดยประมาณ จนทำให้ “เตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยไม่เพียงพอ”  ส่งผลให้หลายคนที่ติดเชื้อโควิดไม่สามารถเข้ารับการรักษา เพราะโรงพยาบาลหลายที่ก็อยู่ในสถานะที่วิกฤตจนให้บริการไม่ได้ และทำให้ผู้ป่วยรอเตียงนั้นไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที บางรายอาการหนักจนถึงเสียชีวิต

          ทำให้มีการเสนอแนวทางการ “ดูแลตัวเองที่บ้าน” หรือ Home Isolation ที่มีการใช้ในต่างประเทศ โดยของไทยต่างกันที่ ผู้ป่วยยังอยู่ในการดูแลของโรงพยาบาล มีการให้อุปกรณ์วัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนไปที่บ้านเพื่อวัดค่าต่างๆ มีแพทย์โทรศัพท์หรือวิดีโอคอลตรวจสอบอาการทุกวันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง มีการส่งอาหารและน้ำให้วันละ 3 มื้อ 

          หากอาการทรุดลงก็จะส่งยาฟ้าทะลายโจรและยาฟาวิพิราเวียร์ไปให้ที่บ้านหรือส่งรถไปรับมานอนที่โรงพยาบาล ที่ผ่านมามีการทำกับผู้ป่วยที่โรงพยาบาลราชวิถี ในผู้ป่วย 18 ราย พบว่า 16 รายอาการดีขึ้น ส่วนอีก 2 รายมีอาการปอดบวม เป็นผู้ป่วยสีเหลือง มีการนำส่ง รพ. และรักษาจนหายดี

          คุณสมบัติผู้ป่วยดูแลตัวเอง

          Home Isolation เป็นการดูแลผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียวที่บ้าน ซึ่งถูกกำหนดให้ใช้เฉพาะในพื้นที่ กทม. และเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. 2564 ทั้งนี้ กรมการแพทย์  ได้เผยแพร่แนวทาง  Home Isolation  สำหรับ ผู้ป่วยโควิด 19 มีดังนี้

  1. เป็นผู้ติดเชื้อที่สบายดีหรือ ไม่มีอาการ (ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว)  
  2. มีอายุน้อยกว่า 60 ปี
  3. มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง
  4. อยู่คนเดียว หรือ มีผู้อยู่ร่วมที่พักไม่เกิน 1คน
  5. ไม่มีภาวะอ้วน  หมายถึง ดัชนีมวลกาย มากกว่า 3030กก./ม.2 หรือ น้ำหนักตัว มากกว่า 90 กก.
  6. ไม่มีโรคร่วม ดังต่อไปนี้ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคไตเรื้อรัง  โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ หรือโรคอื่นๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์
  7. ยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเอง

           7 ข้อปฏิบัติผู้ป่วยจากบ้าน

          นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์  ระบุว่า  กรมการแพทย์  ได้มีแนวทางปรับการรักษาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของผู้ติดเชื้อโควิดที่เพิ่มสูงขึ้น  โดยให้กลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ สามารถกักตัวรักษาได้ที่บ้าน ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์ พยาบาล ซึ่งจะทำให้โรงพยาบาลสนาม สามารถบริหารจัดการเตียงให้กับ ผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีอาการหนักได้ พร้อมย้ำการปฏิบัติตัวเมื่อ ต้องแยกการกักตัว หรือ  Home Isolation ให้ปฏิบัติตัว ดังนี้ 

  1. ห้ามผู้ใดมาเยี่ยมบ้านระหว่างแยกกักตัว
  2. ไม่เข้าใกล้หรือสัมผัสกับผู้สูงอายุหรือเด็กอย่างเด็ดขาด โดยรักษาระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร
  3. แยกห้องพัก ของใช้ส่วนตัวกับผู้อื่น หากแยกห้องไม่ได้ควรแยกบริเวณที่นอนให้ห่างจากคนอื่นมากที่สุด และควรเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทได้ดี ไม่ควรนอนรวมกันในห้อง ปิดที่ใช้เครื่องปรับอากาศ
  4. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกัน ควรรับประทานในห้องของตนเอง หรือหากรับประทานอาหารด้วยกันควรแยกรับประทานของตนเอง ไม่รับประทานอาหารร่วมสำรับเดียวกัน หรือใช้ช้อนกลางร่วมกัน และรักษาระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 2 เมตร
  5. สวมหน้ากากอนามัย หรือ หน้ากากผ้า ตลอดเวลาที่จะออกมาจากห้องที่พักอาศัย
  6. ล้างมือด้วยสบู่หรือทำความสะอาดมือด้วย Alcohol gel ทุกครั้งที่จำเป็นจะต้องสัมผัสกับผู้อื่นหรือหยิบจับของที่จะต้องใช้ร่วมกับผู้อื่น
  7. แยกซักเสื้อผ้า ผ้าขนหนู และเครื่องนอน ด้วยน้ำและสบู่หรือผงซักฟอก ควรใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่น หากเลี่ยงไม่ได้ ให้ใช้คนสุดท้าย ปิดฝาชักโครกก่อนกดน้ำและหมั่นทำความสะอาดอยู่เสมอ

          รักษาที่บ้านแบบใกล้หมอ

          “นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี” เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ‘สปสช.’ ระบุว่า ระบบ Home isolation ของไทยต่างจากต่างประเทศที่ปล่อยให้คนป่วยดูแลตัวเองจริงๆ  แต่ของไทยหมอไม่ปล่อยให้ผู้ป่วยเผชิญชะตากรรมคนเดียว แต่ดูแลเหมือนอยู่ในโรงพยาบาลเพียงแต่เปลี่ยนสถานที่เป็นที่บ้าน ซึ่งคนไข้ที่จะทำแบบนี้ได้นั้น ไม่ใช่ผู้ป่วยทั้งหมดแต่ขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์และลักษณะบ้านว่ามีความเหมาะสมที่จะกักตัวได้หรือไม่ 

          โดย “สปสช.” สนับสนุนค่าบริการให้แก่โรงพยาบาลตั้งแต่ค่าตรวจหาเชื้อ ค่ารักษา ค่ายา และยังจะสนับสนุนค่าอุปกรณ์ไม่เกิน 1,100 บาท และค่าดูแลผู้ป่วยรวมอาหาร 3 มื้อ ไม่เกิน 1,000 บาท/วัน เป็นเวลา 14 วัน

          “สปสช.”จัดให้รพ.ดูแล

          ทั้งนี้ โรงพยาบาล จะได้เงินสนับสนุนจากสปสช. ประกอบด้วย 

  1. เงินที่เสมือนเป็นค่าที่ผู้ป่วยนอน รพ. 
  2. เงินเพิ่มเติมอีก 1,000 บาท/วัน สำหรับค่าอาหารผู้ป่วย 3 มื้อจนครบ 14 วัน มีแพทย์ที่ติดตามอาการ 
  3. ค่าอุปกรณ์ชุดละ 1,100 บาท อย่างน้อยต้องประกอบด้วย 2 ชิ้น คือ เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด และเครื่องวัดอุณหภูมิ ที่อยู่ในระดับการแพทย์ยอมรับ (Medical Grade) เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการวัดค่าออกซิเจนทุกวัน และรายงานให้แพทย์ เพราะหากมีความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่แย่ลง รพ.จะต้องเตรียมรถพยาบาลไปรับผู้ป่วยมาที่ รพ.ทันที

          สิ่งสำคัญที่สุด คือ หมั่นสังเกตอาการตนเอง วัดอุณหภูมิทุกวัน หากมีอาการแย่ลง คือ มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ เช่น หอบ เหนื่อย ไข้สูงลอย ไม่สามารถปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ ให้รีบโทรติดต่อโรงพยาบาลที่ท่านรักษาอยู่ และเมื่อต้องเดินทางไปโรงพยาบาลกรณีไม่มีรถพยาบาลมารับให้ใช้รถยนต์ส่วนตัว ไม่ใช้รถสาธารณะ พร้อมสวมใส่ หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่เดินทาง หากมีผู้ร่วมยานพาหนะมาด้วย ให้เปิดหน้าต่างรถเพื่อเพิ่มการระบายอากาศและเพื่อความปลอดภัยของคนรอบข้าง

          หมอห่วงแพร่เชื้อติดคนในบ้าน

          ขณะเดียวกันยังมีข้อน่ากังวล จาก  รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่แสดงความห่วงใยต่อมาตรการดังกล่าว ว่า อาจจะเกิดปัญหา มีคนเพียงบางส่วนที่จะมีที่พักอาศัยที่มีพื้นที่แยกกักตัวออกจากสมาชิกในบ้านได้  ความรู้ทางการแพทย์ที่เรามีปัจจุบัน ความเสี่ยงในการติดเชื้อแพร่เชื้อแก่สมาชิกในบ้าน มีราว 30 % ซึ่งถือว่าสูง จึงมีโอกาสที่เราจะเห็นผลกระทบตามมาหลังจากประกาศนโยบายกักตัวที่บ้านใน 2 ลักษณะ ได้แก่  

  1. การติดเชื้อระหว่างสมาชิกในครอบครัวจะเพิ่มขึ้น  
  2. จากนั้นเมื่อเวลาผ่านไป จะมีการกระจายไปยังส่วนอื่นในสังคมเป็นทอดๆ และคนที่บ้านไม่มีพื้นที่เพียงพอ และไม่มีทางเลือกอื่นเลย ก็อาจตัดสินใจเร่ร่อนออกจากบ้าน มีโอกาสทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน และเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยได้มากขึ้น.

          สามารถติดตามอัพเดทสถานการณ์โควิด สรุปเรื่องเกี่ยวกับวัคซีนได้ที่ ไอ.เอ็น.เอ็น.

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube