fbpx
Home
|
ทั่วไป

‘นายกฯนักประดิษฐ์’ เตือนภัยมีขบวนการนำเข้าสินค้าปลอมแอบอ้างนวัตกรรมไทย

Featured Image
‘นายกฯนักประดิษฐ์’ เตือนภัยมีขบวนการนำเข้าสินค้าปลอมแอบอ้างนวัตกรรมไทย นำมาขายให้กับผู้บริโภคผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เผยไม่ได้มาตรฐานทางเทคนิค พร้อมไม่มีการตรวจสอบภาครัฐ ชี้ถือเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและ ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO)

 

 

 

นายภณวัชร์นันท์ (พะ-นะ-วัด-นัน) ไกรมาตย์ นายกสมาคมนักประดิษฐ์และนวัตกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการนำเข้าสินค้าด้านนวัตกรรมจากต่างประเทศ โดยที่ยังไม่มีการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่า ปัจจุบันมีกลุ่มบุคคล ที่นำเข้าสินค้านวัตกรรมจากต่างประเทศ เข้ามาในประเทศไทย โดยไม่ผ่านการการตรวจสอบ ทดสอบ วิเคราะห์ เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอนามัย

 

 

ทำให้ตนมีความกังวลว่า จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย และอาจจะละเมิดกฎระเบียบขององค์การระหว่างประเทศ โดยเฉพาะองค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งมีความตกลงว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (Agreement on Technical Barriers to Trade: TBT Agreement) ที่ระบุให้ หน่วยงานของรัฐที่จะต้องตระหนักถึงความสำคัญของมาตรฐานระหว่างประเทศ ระบบการตรวจสอบและรับรองในการมีส่วนช่วยในการปรับปรุงประสิทธิภาพของการผลิต และเอื้ออำนวยต่อการดำเนินการค้าระหว่างประเทศ เพื่อประกันคุณภาพของการ ส่งออก หรือเพื่อปกป้องชีวิตหรือสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ พืช หรือสิ่งแวดล้อม หรือเพื่อเป็นการป้องกันการหลอกลวงในระดับที่เห็นว่าเหมาะสม

 

 

ตามที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมประชุม ความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (General Agreement on Tariffs and Trade : GATT) รอบอุรุกวัย ที่เป็นรอบการเจรจาที่กำหนดให้ ประเทศสมาชิกฯ จะต้องมี นโยบายด้านกฎระเบียบ เพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยและมีคุณภาพสูง และปัญหาที่เพิ่มขึ้นของมลพิษทางน้ำ อากาศ และดิน ซึ่งได้สนับสนุนให้ สำรวจด้านสิ่งแวดล้อม ก่อนที่จะขึ้นทะเบียนสินค้าที่เป็นมิตร และมาตรฐานทางเทคนิคในแง่ของกระบวนการของผลิตภัณฑ์และวิธีการผลิตตามที่กำหนดเป็นกติกาเอาไว้

 

 

 

ดังนั้น ตนจึงอยากให้หน่วยงานของรัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง อย่าปล่อยปละละเลย หรือคิดว่าเป็นธุระไม่ใช่ ในการตรวจสอบการสั่งซื้อสินค้านวัตกรรมที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งประเทศไทยเองก็มีมาตรฐานที่วางไว้ในการตรวจสอบต่างๆ มากมาย เช่น มาตรฐานระบบการจัดการความปลอดภัยของอาหาร (ISO 22000) มาตรฐานกระบวนการผลิตควบคุมคุณภาพ ISO 9001 การควบคุมคุณภาพ (Quality control)

 

 

 

การสอบเทียบเครื่องมือวัดมาตรฐานสากล ISO/IEC 17025 และ เทคนิควิธีการทางสถิติที่ใช้ในการทดสอบสมมุติฐานเพื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของกลุ่มตัวอย่าง ตามข้อมูลทางด้านเทคนิคการนำเสนอจำหน่าย ว่าถูกต้องตามคำกล่างอ้างหรือไม่ รวมทั้งการทดสอบผลิตภัณฑ์วัดผลตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ จากสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งนี้ หากหน่วยงานของรัฐไม่ปฏิบัติ จะถือว่า ผิดข้อตกลงของ WTO และจะส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจและสุขภาพของผู้บริโภคด้วย

 

 

“ ที่ผมมองว่า เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและทำให้รัฐเสียหาย คือ ยังมีกลุ่มบุคคลร่วมกับข้าราชการกังฉิน ทำการใช้ราคากลางของรัฐสินค้าที่มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์ หรือทำการจดทะเบียนผลิตภัณฑ์สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม หรือ สินค้าที่ขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยไว้ก่อน แต่กลุ่มบุคคลเหล่านี้ ได้นำเข้าสินค้าจากแผ่นดินใหญ่ โดย กรมศุลกากร ไม่ทำการตรวจสอบ แต่ปล่อยให้นำเข้ามา และหน่วยงานของรัฐเหล่านั้นไม่ทำการตรวจสอบไปยัง สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม หรือ สินค้าที่ขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย ทำการซื้อขายที่มีส่วนต่างเป็นช่องว่าง ค่าใช้จ่ายในการทดสอบ วิเคราะห์ ทดสอบ และระบบ ISO 9001 ทำการซื้อขายกัน ที่สำคัญ หน่วยงาน ปปง.และปปช. และ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จะต้องทำงาน เพื่อคุ้มครองปกป้องกันไทยไม่ให้ถูกหลอกลวงจากสินค้าและบริการ

 

 

 

เป็นการส่งเสริมให้ธุรกิจของคนไทยได้มีช่องทางการจำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพ ทั้งนี้ การที่เจ้าหน้าที่รัฐปล่อยให้ เว็บไซต์ ผู้ให้บริการ ปล่อยปะละเลย โฆษณาสินค้าที่ไม่มีการทดสอบมาตรฐานทางเทคนิค เพื่อการป้องกันการปฏิบัติที่หลอกลวง การคุ้มครองสุขภาพหรือความปลอดภัยของมนุษย์ ชีวิตหรือสุขภาพของสัตว์หรือพืช หรือการปกป้องสิ่งแวดล้อมนั้น ผมเห็นว่า น่าจะเข้าข่ายใน 4 กรณี คือ กรณีแรก มีบทบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 85 และ 85/1 ที่ระบุถึงโทษที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาที่หลอกหลวงประชาชน กรณีที่ 2 พระราชบัญญัติ ศุลกากร พุทธศักราช 2469 มาตรา 27

 

 

 

ที่ห้ามนำของต้องห้ามที่ยังไม่ได้ผ่านศุลกากรส่งออกนอกประเทศ หรือนำเข้ามาในประเทศ มิเช่นนั้นจะมีโทษปรับเป็นเงิน 4 เท่า และจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งจำและปรับ กรณีที่ 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 ประกอบกับพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า ปี 2534 ตามมาตรา 110 ในเรื่องเกี่ยวกับการลอกเลียนแบบสินค้า และกรณีสุดท้าย การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยมีผู้ค้ารายใหญ่จะเป็นผู้ที่นำเข้าสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาจากต่างประเทศ ที่มีการนำเข้าอย่างผิดกฎหมายมาจากประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นฐานผลิตรายใหญ่

 

 

ซึ่งความเสียหายจากสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินจากการใช้สินค้าด้อยคุณภาพและไม่ได้มาตรฐาน และมีการกระจายสินค้าไปให้แก่ผู้ค้ารายย่อยตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย ดังนั้น ผมถือว่า เป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ที่ทางสมาคมฯ จะได้มีการดำเนินการจับตาและหาช่องทางในการดำเนินการตามกฎหมายต่อไป” นายภณวัชร์นันท์กล่าว

 

 

นายภณวัชร์นันท์ กล่าวด้วยว่า ที่จริงตนก็ทราบว่า ใครอยู่เบื้องหลังการนำเข้าสินค้าด้านนวัตกรรมจากต่างประเทศ โดยที่ยังไม่มีการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตนต้องขอบอกกับคนเหล่านั้นว่า อย่าทำร้ายคนไทยและคนทั้งโลก ด้วยสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะไม่อยากให้เกิดปัญหาทางการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้ง ความสูญเสียอันประเมินค่ามิได้ ในการใช้สินค้าที่ไม่ผ่านการตรวจสอบ

 

 

 

ซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ดังนั้น ตนจึงขอร้องให้ หน่วยงานของรัฐดำเนินการตามข้อตกลงของ WTO ที่ได้ส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์ มีมาตรฐานทางเทคนิค การป้องกันการปฏิบัติที่หลอกลวง การคุ้มครองสุขภาพหรือความปลอดภัยของมนุษย์ เพื่อที่จะได้ให้คนไทยได้รับนวัตกรรมที่มาช่วยในการดำรงชีวิต และพัฒนาชีวิตให้ดียิ่งขึ้น

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube