fbpx
Home
|
ทั่วไป

SIAMJNK ผนึก คณะวิศวะ ม.หอการค้าไทยฉายภาพใหญ่ “Hub Logistics ไทย”

Featured Image
SIAMJNK ผนึก คณะวิศวะ ม.หอการค้าไทยฉายภาพใหญ่ “Hub Logistics ไทย”โอกาสหรือความท้าทาย ของตัวแทนนายหน้าอสังหาฯ คลังสินค้าให้เช่ารับกระแสโลจิสติกส์ไทยโต100%

SIAMJNK ผนึกคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.หอการค้า จัดฟรีสัมมนา “ เจาะแผน Hub Logistics ไทย ร่วมเป็นนายหน้ามืออาชีพกับ SIAMJNK” เดินหน้าสร้างตัวแทนนายหน้าอสังหาฯ คลังสินค้าให้เช่ามืออาชีพรองรับ เทรนด์โลจิสต์ติกส์โตก้าวกระโดด หลังจีนรุกเชื่อมโยงภูมิภาคด้วย One belt One Road โชว์เส้นทางสายไหมใหม่ ผนวก ภูมิภาคจีน- อินโดไชน่า หวังปั้นตัวแทนนายหน้าอสังหาฯ คลังสินค้ามือโปรเข้าถึงความต้องการผู้ประกอบการกลุ่มคอนซูเมอร์ที่มองหาคลังสินค้าคุณภาพ
นายธิติ คัณธามานนท์ ประธานบริหาร SIAMJNK ผู้ให้บริการคลังสินค้าให้เช่า พื้นที่ให้บริการรวม กว่า 60 ไร่ ครอบคลุมใจกลาง CBD เปิดเผยว่า การจัดฟรีสัมมนา “เจาะแผน Hub Logistics ไทย ร่วมเป็นนายหน้ามืออาชีพกับ SIAMJNK” เป็นความร่วมมือกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นผลมาจากความเติบโตของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในเขตกรุงเทพฯ ชั้นในและปริมณฑล ที่ความต้องการคลังสินค้าให้เช่าคุณภาพสูงยังเป็นเทรนด์ของกลุ่มผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมโลจิสต์ในภูมิภาคเอเชีย โดยตลาด e Commerce เป็นตัวเร่งอย่างสำคัญที่ทำให้รูปแบบของโลจิสติกส์ไทยเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในช่วง Covid-19 ทำให้ตลาด e Commerceในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีตัวเลขขยายตัวถึง 26% ต่อปี ทำให้กลุ่มธุรกิจคลังสินค้าให้เช่าเติบโตแบบก้าวกระโดด ทั้งในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และกลุ่มหัวเมืองสำคัญในภูมิภาค
โดยเฉพาะความสนใจในการเช่าพื้นที่คลังสินค้าสำเร็จ (Built-to-Suit) และ Warehouse ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ในทางกลับกัน บุคคลากรที่เข้ามาเป็นตัวเชื่อมสำคัญคือ ตัวแทนนายหน้า หรือเอเย่นต์ อสังหาฯคลังสินค้าให้เช่า กลับไม่เพียงพอต่อความต้องการของอุปสงค์และอุปทานในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นโอกาสที่ท้าทายสำหรับผู้ที่มีความสนใจในการแสวงหาโอกาสในการทำอาชีพตัวแทนนายหน้าอย่างยิ่ง
“ขณะนี้ตลาดคลังสินค้ามีมูลค่าสูงถึง 900 ล้านบาท โดยช่วง 2-3 ปีที่เกิดโควิด-19 โตขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด จากการขายสินค้าออนไลน์และการหาพื้นที่ในการจัดเก็บสต๊อกสินค้า ซึ่งเติบโตเฉลี่ยปีละ 10% และทิศทางหลังจากนี้คาดว่าจะมีโอกาสเติบโตเพิ่มขึ้นอีก โดยเห็นได้จากมีผู้เล่นเข้ามาในตลาดนี้เพิ่มมากขึ้น อาทิ กลุ่มธุรกิจอสังหาฯ ที่เริ่มขยายเข้ามาในธุรกิจดังกล่าว ทำให้คาดว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า มูลค่าตลาดมีโอกาสเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตัว อยู่ที่ 1,800 ล้านบาท” ประธานบริหารกล่าว
สำหรับ SIAMJNK GROUP เป็นผู้บริหารคลังสินค้าให้เช่ามากว่า 10 ปี ใน 5 ทำเลสำคัญใจกลาง CBD ประกอบ ด้วย สาทร,ราษฏร์บูรณะ,ลาดพร้าว,วิภาวดี- สุทธิสาร และพระสมุทรเจดีย์ ในเขตพื้นที่สีม่วงชิดกรุงเทพฯรวมพื้นที่กว่า 60 ไร่ มองเห็นโอกาสสำคัญผู้ที่ต้องการค้นหาศักยภาพตนเอง เพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ในการก้าวเข้าสู่เส้นทางสายตัวแทนนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ คลังสินค้าให้เช่า ซึ่งเป็นอาชีพที่สามารถเติมเต็มความฝัน และสร้างความมั่นคงได้ในแบบที่เรียกว่าเสือนอนกิน เพราะทุกครั้งที่มีการทำสัญญาเช่า ตัวแทนนายหน้าจะได้รับค่าคอมมิชชั่นทุกครั้งของการต่อสัญญาแล้วแต่ข้อกำหนดของแต่ละคลังสินค้า

ทางด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงษ์ธนา วณิชย์กอบจินดา ผู้เชี่ยวชาญด้านโครงข่ายโลจิสติกส์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงทิศทางการขยายโครงข่ายโลจิสติกส์ของภาครัฐว่าจากแผนปฎิบัติการด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ไทย(พ.ศ.2566 – 2570) ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) มีเป้าหมายสำคัญเพื่อให้ระบบโลจิสติกส์เป็นกลไกผลักดันให้ไทยเป็นประตูการค้าในอนุภูมิภาค และภูมิภาค ด้วย 5 แนวทาง ประกอบด้วย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก ,การยกระดับมาตรฐานและการเพิ่มมูลค่าโซ่อุปทาน ,การพัฒนาพิธีการศุลกากรกระบวนการนำเข้า – ส่งออกที่เกี่ยวข้องและการอำนวยความสะดวกในการขนส่งระหว่างประเทศ,การพัฒนาศักยภาพผู้ให้บริการโลจิสติกส์ในไทย และการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม การพัฒนาบุคลากรและการติดตามผลด้านโลจิสติกส์ โดยมีตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์เป็นการลดสัดส่วนต้นทุนการขนส่งสินค้าต่อ GDP ให้เหลือร้อยละ 5 ลดสัดส่วนด้านต้นทุนการเก็บรักษาสินค้าคงคลังต่อ GDPให้เหลือร้อยละ 5 อันดับ LPI (Logistics Performance Index) ดรรชนีชี้วัดด้านศุลกากรระหว่างประเทศของไทยอยู่ในอันดับที่ 25 หรือไม่ต่ำกว่า 3.20 คะแนน และ LPIด้านสมรรถนะ และ LSPs (Logistics Service Provider) หรือผู้ประกอบการด้านธุรกิจโลจิสติกส์ภายนอก ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจอยู่ในอันดับที่ 25 หรือ ได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 3.60 คะแนน ภายในปี พ.ศ.2570
ในทางปฏิบัติของกระทรวงคมนาคมได้เดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง พ.ศ. 2558-2565 มุ่งยกระดับการขนส่งและโลจิสติกส์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งทางราง ถนน น้ำ และอากาศ อาทิ โครงการพัฒนาท่าเรือเฟอร์รี่เชื่อมโยงอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออกและตะวันตก ระยะสั้น (การเดินเรือเฟอร์รี่) ,โครงการปรับปรุงและพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง 20G ที่ท่าเรือกรุงเทพ หรือการเดินหน้าก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน 5 เส้นทาง ในทางสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ สายตะวันออก และสายใต้ ซึ่งจะทำให้การเดินทางเชื่อมต่อของระบบขนส่งมวลชนทั้งทางราง ถนน น้ำและอากาศเป็นไปอย่างไร้รอยต่อมากยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการของรัฐบาลไทยในการพัฒนาภาคใต้ ภายใต้การเชื่อมโยงเส้นทางสายไหมทางทะเล หนึ่งในยุทธศาสตร์ One Belt One Road ของจีน ที่ต้องการเชื่อมโยงแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจจีน – คาบสมุทรอินโดจีนเข้าด้วยกัน ที่ภาครัฐของไทยใช้งบประมาณกว่าแสนล้านบาท เพื่อสร้างท่าเรือน้ำลึก 2 แห่ง คือท่าเรือระนองแห่งใหม่ ท่าเรือชุมพร ในรูปแบบ Smart port ที่ควบคุมการบริหารจัดการด้วยระบบ Automation มีความลึกถึง 15 เมตร เพื่อให้เรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่เทียบท่าได้ ควบคู่ไปกับการสร้างรถไฟทางคู่เชื่อมระหว่าง 2 ท่าเรือ พร้อมทั้งก่อสร้างทางหลวงพิเศษ (Moterway) ระหว่างท่าเรือทั้งสอง ที่มีตลอดความยาวประมาณ 120 กิโลเมตร จะช่วยย่นระยะเวลาการขนส่งสินค้าระหว่างฝั่งทะเลอ่าวไทย และฝั่งทะเลอันดามันลงได้ถึง 2 วัน อำนวยความสะดวกให้กับสินค้าระหว่างฝั่งทะเลทั้งสองกระจายไปได้ถึงท่าเรือ Colomboหรือท่าเรือมหินทรา ท่าเรือราชปักษาของศรีลังกา
ในขณะที่การพัฒนาโครงสร้างคมนาคมทางบกนั้น ภายใต้ยุทธศาสตร์ One Belt One Road ของจีนที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจการค้าใน 65 ประเทศบนเส้นทางสายไหมใหม่ ได้มีการพัฒนาเส้นทางรางและถนน เพื่อเชื่อมโยงอนุภูมิภาคและภูมิภาคหลายเส้นทาง อาทิ เส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูง จีน -ลาว ความยาว 414 กิโลเมตรเชื่อมระบบการขนส่งทางรางจากเมืองคุนหมิงของจีนกับสิงคโปร์ โดยผ่านลาว ไทย และ มาเลเซีย ระบบรางถูกออกแบบให้สามารถรองรับรถไฟความเร็วสูงที่ใช้ความเร็วได้มากกว่า 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะเป็นเส้นทางเชื่อมระเบียงเศรษฐกิจจีน กับคาบสมุทรอินโดจีน ที่มีประเทศสมาชิก 6 ประเทศคือ จีน ,สิงคโปร์,พม่า,กัมพูชา,เวียดนามและมาเลเซีย แม้ไทยไม่ได้เป็นประเทศสมาชิก แต่มีความสามารถในการเชื่อมโยงได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน
อีกทั้งการพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง แนวเหนือ- ใต้ (North-South Economic Corridor:NSEC) เส้นทางสาย R3A เชื่อมจีนตอนใต้ ลาว และไทยที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย เส้นทาง R3B เชื่อมคุนหมิง – กรุงเทพ- รัฐฉานในพม่า ,เส้นทาง R5 เชื่อมหนานหนิงเมืองหลวงของกว่างซีในจีน – ลาวเซิน เวียดนาม – สิ้นสุดที่ท่าเรือไฮฟองในเวียดนาม หรือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแนวพื้นที่เศรษฐกิจตอนใต้(Southern Economic Corridor:SEC) เส้นทางทวาย- ทิกิ – กรุงเทพ – อรัญประเทศ – โฮจิมินห์ – หวังเตา เป็นต้น ซึ่งจะทำให้อนุภูมิภาคและภูมิภาคถูกเชื่อมโยงกันทั้งหมด เปิดโอกาสให้สินค้าของไทยเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ได้มากขึ้น
ประกอบกับแผนยุทธศาสตร์กรุงเทพมหานคร 20 ปี(2556-2575) ภายใต้วิสัยทัศน์ “มหานครแห่งเอเชีย” มิติขนาดประชากร กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีจำนวนประชากรรวม 15 ล้านคน ใกล้เคียงกับเมืองใหญ่อันดับ 2 ของญี่ปุ่น คือ เขตนครโอซาก้า โกเบ และ เกียวโต ซึ่งมีประชากรประมาณ 17 ล้านคน ในด้านมิติขนาดเศรษฐกิจ กรุงเทพฯ มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม 8.2 ล้านล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับขนาดเศรษฐกิจของกรุงมะนิลา ของฟิลิปปินส์ ที่มีขนาดเศรษฐกิจเล็กกว่าเขตนครโอซาก้า โกเบ และเกียวโตถึง 3 เท่า
ด้วยความเติบโตของชุมชนเมืองที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในระยะที่ผ่านมา การยกระดับระบบขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพ และปริมณฑลได้พัฒนาอย่างก้าวกระโดดเช่นกัน มีการพัฒนาโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ถึง 10 เส้นทาง ระยะทางรวมกว่า 472.5 กิโลเมตร เพื่อรองรับการเดินทางจากปริมณฑล เข้าสู่กรุงเทพชั้นใน เชื่อมโยงการเดินทางทางน้ำ ทางอากาศ และทางบกอย่างครอบคลุม เงื่อนไขเหล่านี้จะเป็นตัวแปรสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยตลอดห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์
“ส่วนตัวเลือกที่ดีสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ คือตัวเลือกการบริหารจัดการที่คุ้มค่า ได้ประโยชน์สูงสุด ตลอดจนช่องทางที่จะสามารถทำให้การบริหารธุรกิจสามารถแข่งขันได้ เทรนด์ของการเช่าคลังสินค้าของนักบริหารรุ่นใหม่ จึงมักมองหาคลังสินค้าให้เช่าที่ตั้งอยู่ในทำเลที่ดีที่สุดสำหรับการบริหารจัดการธุรกิจ การลดต้นทุนที่ดีที่สุด ประกอบกับนโยบายการสนับสนุนผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ที่ได้ระบุชัดเจนในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมถึงการพัฒนาบุคลากร การลดอุปสรรคการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนลดพิธีการทางศุลกากร เพื่อเอื้อให้ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทยแข่งขันได้ในระดับอนุภูมิภาคและภูมิภาค จะเป็นโอกาสที่สำคัญอย่างยิ่งต่อโฉมหน้าอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของไทย” ผู้เชี่ยวชาญด้านโครงข่ายโลจิสติกส์ จากม.หอการค้าไทย กล่าว
อนึ่งในงานสัมมนาครั้งนี้ ผู้ร่วมงานจะได้รับฟังทิศทางการพัฒนาระบบโครงข่ายโลจิสติกส์ของไทย จาก ผศ.ดร.พงษ์ธนา วณิชย์กอบจินดา ,คุณนพรุจ ธรรมจิโรจ ผู้บริหารด้านโลจิสติกส์ ให้กับบริษัทมหาชน จำกัด ,คุณธิติ คัณธามานนท์ CEO SIAMJNK GROUP ร่วมด้วย จิ๊บ ศิรประภา จากเพจอสังหาเรื่องจิ๊บๆ ที่จะมาเล่าถึงวิธีการเปิดและการปิดลูกค้าของตัวแทนนายหน้า ปิดท้ายด้วยคุณถนอม เกตุเอม กูรูด้านภาษี จากเพจ TAXBugnoms ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นการแจ้งเกิดนายหน้าอสังหาริมทรัพย์รุ่นใหม่ได้รู้จักเข้าใจธุรกิจคลังสินค้าให้เช่ายิ่งขึ้น

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

 

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube