fbpx
Home
|
ทั่วไป

กรมทรัพย์สินทางปัญญา ใช้ GI Plus ยกระดับสินค้า GI ไทย

Featured Image

กรมทรัพย์สินทางปัญญา ใช้ GI Plus ยกระดับสินค้า GI ไทย ดึงนักออกแบบระดับประเทศร่วมพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้า GI ไทย ผลักดันสินค้าชุมชนสู่สินค้าพรีเมี่ยมระดับนานาชาติ

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “ปัจจุบัน กรมฯสามารถดำเนินการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ไทย ครอบคลุม 77 จังหวัด ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการคุ้มครองสินค้า และผลักดันด้านการตลาด การพัฒนายกระดับภาพลักษณ์ของสินค้า และเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ กรมฯ จึงได้ดำเนินการโดยใช้ GI Plus ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญในการยกระดับสินค้า GI ไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าทางการตลาดให้แก่สินค้าที่มีตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของไทย คือ การนำเอาการออกแบบเข้ามาช่วยให้สินค้าน่าดึงดูด ผ่านโครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ไทย

โดยเชิญนักออกแบบมืออาชีพ ที่มากด้วยประสบการณ์ และมีผลงานด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์ไม่น้อยกว่า 5 ปี ระดับแนวหน้าของประเทศ ร่วมกันสร้างสรรค์ เพื่อปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ที่ใช้บรรจุสินค้า GI ไทย ให้โดดเด่น ทันสมัย สวยงาม ให้สมกับคุณภาพและชื่อเสียงของสินค้าที่มาจากแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจง ที่มีจำนวนจำกัด เป็นต้นแบบของการสร้างภาพลักษณ์ (Branding) ตลอดจนสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับสินค้าของชุมชน รวมถึงให้บุคคลทั่วไปเข้าใจและรับรู้ถึงคุณภาพของสินค้า GI ไทย โดยบนบรรจุภัณฑ์จะสอดแทรกความรู้ และเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับคุณลักษณะเฉพาะของสินค้า GI นั้น ๆ อีกด้วย”

การดำเนินโครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย ปี 2565 นี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ตั้งคณะกรรมการคัดเลือกผู้ผลิตผู้ประกอบการสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่มีศักยภาพจำนวน 10 ราย ที่โดดเด่นจากการสมัครเข้ามาทั่วประเทศ จำนวนถึง 87 รายเข้าสู่การปรับโฉม สร้างอัตลักษณ์ให้กับบรรจุภัณฑ์

สำหรับสินค้า GI เข้าร่วมโครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ประจำปี พ.ศ. 2565 มีดังนี้
⦁ กระเทียมศรีสะเกษ และหอมแดงศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ
⦁ กาแฟเทพเสด็จ จังหวัดเชียงใหม่
⦁ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดมหาสารคาม
⦁ ข้าวแต๋นลำปาง จังหวัดลำปาง
⦁ ทุเรียนปราจีน จังหวัดปราจีนบุรี
⦁ ปลาช่อนแม่ลา จังหวัดสิงห์บุรี
⦁ ผ้าหมักโคลนหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร
⦁ พริกไทยจันท์ จังหวัดจันทบุรี
⦁ ลูกหยียะรัง จังหวัดปัตตานี
⦁ หมูย่างเมืองตรัง จังหวัดตรัง

หลักจากคัดเลือกผู้ผลิต ผู้ประกอบการ GI ครบ 10 รายแล้วได้มีการจัดประชุม 3 ฝ่าย ระหว่าง ผู้ผลิตผู้ประกอบการสินค้า GI นักออกแบบ และเจ้าหน้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อหารือแนวทางการออกแบบบรรจุภัณฑ์ 3 แนวทาง ต่อ 1 สินค้า เพื่อให้ผู้ประกอบการเลือกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการทั้งเรื่องการใช้งาน และความสวยงาม โดยกรมจะผลิตบรรจุภัณฑ์ให้แก่ผู้ผลิตผู้ประกอบการแต่ละราย ภายใต้วงเงิน 30,000 บาท และผู้ผลิต ผู้ประกอบการจะได้รับต้นแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อผลิตใช้ซ้ำ ในครั้งต่อไป

“มั่นใจว่าโครงการนี้ จะช่วยยกระดับภาพลักษณ์สินค้า GI ไทย ให้เป็นสินค้าชุมชนระดับพรีเมี่ยม เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันตลอดจนสร้างโอกาสทางการตลาดให้แก่ผู้ผลิตและผู้ประกอบการสินค้า GI ไทย มีรายได้ที่สูงขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยความโดดเด่นและอัตลักษณ์อันงดงามที่ถูกถ่ายทอดผ่านบรรจุภัณฑ์สินค้า GI ไทยนี้ จะเป็นสะพานให้ทั่วโลกได้รู้จักกับสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่อยู่ในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย เป็นกลไกสำคัญที่ดึงดูดผู้ซื้อที่มีศักยภาพ สร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ประเทศก้าวสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนในอนาคตต่อไป”

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/channel/UCmL7sBjm02WNURAOxGzq25w

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

 

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube