fbpx
Home
|
ภูมิภาค

มาเลเซียจับจริง!42คนไทยเตรียมลักลอบกลับไทย

Featured Image
มาเลเซีย จับจริง! คนไทย 42 ราย เตรียมลักลอบเดินทาง ผ่านช่องทางธรรมชาติ ริมฝั่งแม่น้ำโก-ลก หลังพ้นเส้นตายผลักดันบุคคลต่างสัญชาติออกนอกประเทศ

นายรุ่งเรือง ธิมาบุตร นายอำเภอสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ได้รับแจ้งว่า ทางการประเทศ มาเลเซีย ได้จับกุมคนไทย จำนวน 42 คนขณะเตรียมลักลอบเดินทางกลับประเทศไทย ทางช่องทางธรรมชาติ ริมฝั่งแม่น้ำโก-ลก ภายหลังพ้นเส้นตายที่อนุโลมให้บุคคลที่พำนักในประเทศมาเลเซีย เกินกำหนดจากสถานการณ์โควิด-19 และผู้ที่ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย เดินทางออกจากประเทศมาเลเซียภายในวันที่ 21 เมษายน 2564

จากการตรวจสอบ ล่าสุด เจ้าหน้าที่ตำรวจมาเลเซียได้นำคนไทย ที่เป็นผู้ชาย จำนวน 32 คน ไปสอบสวนที่สถานีตำรวจรันเตาปันยัง รัฐกลันตัน ส่วนผู้หญิงอีกจำนวน 10 คน นำไปสอบสวนที่สถานีตำรวจปาเสมัส รัฐกลันตัน โดยผู้หญิง 1 คน มีอาการตกเลือด จึงต้องนำส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษา และเมื่อพ้นขีดอันตราย จึงจะส่งกลับมาที่สถานีตำรวจปาเสมัส เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารูได้เข้าเยี่ยมคนไทยทั้งหมดแล้ว

สำหรับคนไทย จำนวน 42 คนที่ถูกจับกุมในครั้งนี้ ได้เตรียมลักลอบเดินทางกลับประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย ในช่วงค่ำของวันที่ 21 เมษายน 2564 หลังด่านพรมแดนรันเตาปันยังปิดทำการ โดยติดต่อนายหน้าทางมาเลเซีย ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 6,000 บาทต่อคน เดินทางมาจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ และรับคนไทยตามรายทางมาจนถึงรันเตาปันยัง

โดยมีการถือเอกสารปลอม ที่ได้รับจากนายหน้าด้วย เมื่อมาถึงบริเวณหน้าร้านค้าปลอดภาษี รันเตาปันยัง เจ้าหน้าที่ตำรวจมาเลเซียได้แสดงตัวและจับกุมคนไทยทั้งหมด ตามมาตรการจับกุมผู้ที่พำนักในมาเลเซียเกินกำหนด และผู้ที่ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย โดยทั้งหมดจะเข้ากระบวนการสืบสวนสอบสวน อย่างน้อย 14 วัน และอาจถูกตัดสินจำคุกอย่างน้อย 3 เดือน

ทางด้าน นายรุ่งเรือง ธิมาบุตร นายอำเภอสุไหงโก-ลก กล่าวว่า ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอย จึงขอเน้นย้ำให้คนไทยเดินทางกลับเข้าประเทศไทย ผ่านช่องทางที่ถูกกฎหมาย ห้ามหลงเชื่อผู้ที่แอบอ้างจะเข้าช่วยเหลือ รวมทั้งห้ามปลอมแปลงเอกสารทางราชการ เพราะจะมีโทษในคดีอาญาอย่างหนัก

 

เชียงใหม่ เตือนประชาชนสวมหน้ากากอนามัย 100% หลังยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลับมาสูงขึ้นอีกครั้ง

นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ชี้แจงถึงสาเหตุที่ตัวเลขของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของจังหวัดเชียงใหม่ ได้สูงขึ้นแบบก้าวกระโดด ว่า เกิดจากการตรวจเชิงรุก ทำให้พบการระบาดใน 3 คลัสเตอร์ใหม่ คือ เรือนจำ ศูนย์เด็กเล็ก และสถานปฏิบัติธรรม

โดยลักษณะของการติดเชื้อในระลอกนี้พบว่าส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มในการทำกิจกรรม การสังสรรค์ และการพบปะกันในโอกาสต่าง ๆ โดยละเลยมาตรการควบคุมโรค โดยเฉพาะการไม่สวมหน้ากากอยามัย และเว้นระยะห่าง ขณะทำกิจกรรมร่วมกัน จึงขอให้ประชาชนตระหนักถึงสุขอนามัยส่วนบุคคลเป็นสำคัญ และปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดสถานการณ์ซ้ำรอย

ด้าน ดร.ทรงยศ คำชัย หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า วันนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงถึง 237 ราย ทำให้ผู้ติดเชื้อสะสมในระลอกเดือนเมษายนของจังหวัดเชียงใหม่ อยู่ที่ 2,819 ราย ยังคงรักษาตัวในโรงพยาบาล 2,597 ราย โดยยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มในวันนี้มาจาก 3 คลัสเตอร์

ได้แก่ คลัสเตอร์เรือนจำกลาง อำเภอแม่แตง จำนวน 37 ราย ซึ่งไม่ได้เป็นการระบาดในแดนผู้ต้องขัง แต่เป็นผู้ต้องขังแรกรับ ที่พบ จากการตรวจในระหว่างกักตัวตามมาตรการ 14 วัน ซึ่งผู้ติดเชื้อทั้ง 37 ราย ได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลสนามเรือนจำกลางเชียงใหม่

สำหรับการพบผู้ติดเชื้อจากศูนย์เด็กเล็กเทศบาลตำบลแม่คือ พบว่าเกิดจากคุณครูที่ติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการ ทำให้เกิดการแพร่ระบาดในกลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งจากการตรวจกลุ่มเสี่ยงสูงทั้งหมด 120 ราย พบว่ามีเด็กในศูนย์เด็กเล็กอายุ 4-6 ปี ติดเชื้อทั้งหมด 14 ราย และอีก 2 ราย เป็นผู้ใหญ่

ทั้งนี้ ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ ได้มอบหมายให้โรงพยาบาลนครพิงค์และโรงพยาบาลดอยสะเก็ด ร่วมกับทางอำเภอดอยละเก็ด จัดตั้งโรงพยาบาลสนามเฉพาะกิจขึ้นเพื่อดูแลรักษาผู้ติดเชื้อกลุ่มนี้

 

จังหวัดอุตรดิตถ์เร่งฉีดฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็ม2 ให้กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 2,380 คน พบมีผลข้างเคียงเล็กน้อย

นายแพทย์เกษม ตั้งเกษมสำราญ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด พร้อมเจ้าหน้าที่และบุคคลากรสายสนับสนุน ที่เป็นบุคลากรด่านหน้าในการปฏิบัติงานพื้นที่เสี่ยงผู้ติดเชื้อและผู้ป่วย นำร่องเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มแรก

โดยกลุ่มที่ได้รับการฉีดทั้ง 2 รอบ ได้แก่ พยาบาลในทีมตรวจโรค สอบสวนโรค ทีมตรวจคัดกรองโรค(swab) ทีมห้องปฏิบัติการตรวจ และบุคลากรการแพทย์ที่มีความเสี่ยง รวมจำนวน จำนวน 4,625 คน การวัคซีนโควิด-19
รอบที่ 1 ได้ดำเนินการฉีดระหว่างวันที่ 4-7 เม.ย.2564 เป็นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ด่านหน้า 425 คน และเป็นกลุ่ม อสม.ด่านหน้า จำนวน 474 คน รวม 899 คน

การฉีดวัตซีนโควิด-19 รอบที่ 2 ดำเนินการ ฉีดในระหว่างวันที่ 22-23 เม.ย.2564 เป้าหมายเป็นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมด จำนวน 2,380 คน สรุปรวมการฉีดวัคซีนเฉพาะกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขรอบที่ 1 และ รอบที่ 2 จำนวน 2,805 คน คิดเป็นร้อยละ 61 ซึ่งตั้งเป้าหมายไว้ 100 เปอร์เซ็นต์

จังหวัดอุตรดิตถ์ มีแผนการเตรียมฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรในกลุ่มอื่นๆ ต่อไป ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ที่เหลือ อสม. ด่านหน้า ตำรวจ ทหารปกครอง กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 7 โรคได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรงเช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรังระยะที่ 5 ขึ้นไป(ไตวายเรื้อรัง) โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งทุกชนิดที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัด โรคเบาหวาน และ โรคอ้วน

หลังจากกลุ่มนี้แล้ว เป้าหมายต่อไปเป็นกลุ่มประชาชนทั่วไป อาจมีอาการข้างเคียงเกิดขึ้นได้ โดยพบว่ามีอาการข้างเคียงตั้งแต่อาการน้อย อาการปานกลาง เช่น ปวดเมื่อยตามตัว เป็นไข้ คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลียและอาการรุนแรง โดยมีอาการคล้ายโรคหลอดเลือดสมอง มีอาการแขนซาอ่อนแรง ซา ซึ่งกรณีที่เกิดอาการรุนแรงต้องเข้ารับการรักษาทันที

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

 

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube