fbpx
Home
|
ภูมิภาค

นครชัยบุรินทร์2เดือนป่วยไข้หวัดใหญ่กว่า2,800

Featured Image
นครชัยบุรินทร์ ช่วง 2 เดือน ป่วยไข้หวัดใหญ่แล้วกว่า 2,800 ราย ขณะโคราชป่วย 872 ระวัง 7 กลุ่มเสี่ยง

 

 

 

วันนี้ (8 สิงหาคม 2566) กลุ่มระบาดวิทยาและตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุข สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา ได้รายงานสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 3 สิงหาคม 2566 ว่า มีผู้ป่วยสะสมป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่แล้ว 84,144 ราย แต่ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต และกลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุด คือ กลุ่มอายุ 0-4 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 10-14 ปี และกลุ่มอายุ 7-9 ปี ตามลำดับ ซึ่งนายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ช่วงนี้ประเทศไทยเป็นช่วงฤดูฝน ทำให้โรคไข้หวัดใหญ่มีการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น โดยสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 29 กรกฎาคม 2566 พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่แล้ว 7,635 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต

 

 

 

ทั้งนี้ สถานการณ์ในช่วง 8 สัปดาห์ที่ผ่านมาในเขตสุขภาพที่ 9 คือช่วงตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2566 – 29 กรกฎาคม 2566 พบผู้ป่วย 2,822 ราย เมื่อแยกเป็นรายจังหวัด พบว่า จังหวัดนครราชสีมา พบผู้ป่วยมากสุด 872 ราย รองลงมาคือ จังหวัดสุรินทร์ พบผู้ป่วย 763 ราย , จังหวัดชัยภูมิ พบผู้ป่วย 747 ราย และจังหวัดบุรีรัมย์ พบผู้ป่วย 440 ราย ตามลำดับ ซึ่งกลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ กลุ่มอายุ 5-9 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 0-4 ปี และกลุ่มอายุ 10-14 ปี ตามลำดับ ดังนั้น ในช่วงฤดูฝน สภาพอากาศจะแปรปรวน มีพายุฝนฟ้าคะนอง

 

 

จึงมีความเสี่ยงที่ภูมิคุ้มกันจะลด ทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย ประชาชนจึงต้องดูแลสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัวอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะ 7 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ 1.หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2.เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี 3.ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด โรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน 4.ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป 5.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 6.โรคธาลัสซีเมียและ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึง ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการ และ 7.ผู้ที่เป็นโรคอ้วน มีน้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือมีดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กิโลกรัม

 

 

 

ต่อตารางเมตร ซึ่งหาก 7 กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อไข้หวัดใหญ่แล้ว จะมีอาการป่วยรุนแรงหรือมีอาการแทรกซ้อนได้ง่ายกว่าคนทั่วไป ดังนั้น 7 กลุ่มเสี่ยง รวมถึงประชาชนทั่วไป จึงต้องดูแลป้องกันตนเองเป็นพิเศษ ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ปีละ 1 ครั้ง เพราะโรคนี้ติดต่อกันได้ง่ายจากการสัมผัสกับน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะ หรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย จะทำให้มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอจาม มีไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย และปวดศีรษะ นอกจากนี้ ให้ใช้มาตรการ “ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” ได้แก่ 1.ปิด คือปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอ จาม

 

 

ต้องใช้ผ้าหรือกระดาษทิชชูปิดปากและจมูกทุกครั้ง หากเจ็บป่วยด้วยไข้หวัดใหญ่ ควรใส่หน้ากากอนามัย 2.ล้าง คือล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่เมื่อสัมผัสสิ่งของ เช่น กลอนประตู ลูกบิด ราวบันได ราวบนรถโดยสาร ปุ่มกดลิฟต์ 3.เลี่ยง คือหลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย และ 4.หยุด เมื่อป่วยควรหยุดเรียน หยุดงาน หยุดกิจกรรมในสถานที่แออัด แม้ผู้ป่วยจะมีอาการไม่มากก็ควรหยุดพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

 

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube