fbpx
Home
|
ภูมิภาค

ไข้เลือดออกส่อระบาดหน้าฝนป่วยสะสม 379 ราย

Featured Image
ไข้เลือดออก ส่อเค้าระบาดช่วงหน้าฝน พบ 4 จังหวัดเขตสุขภาพที่ 9 สัปดาห์ล่าสุด ป่วยสะสมมากถึง 379 ราย เสียชีวิตแล้ว 1 ราย

 

 

นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึงโรคไข้เลือดออกว่า ในช่วงนี้หลายพื้นที่ของประเทศไทยเริ่มมีฝนตกอย่างต่อเนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนในช่วงรอยต่อฤดูร้อนเข้าสู่ฤดูฝน เกิดน้ำขังตามภาชนะและวัสดุต่างๆ ทำให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ซึ่งสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย ล่าสุดช่วงสัปดาห์ที่ 19 ระหว่างวันที่ 7 – 13 พฤษภาคม 2566 พบผู้ป่วยสะสม 14,811 รายแล้ว และมีผู้เสียชีวิต 13 ราย ในขณะที่เขตสุขภาพที่ 9 ในช่วงดังกล่าว พบผู้ป่วยสะสมมากถึง 379 รายและมีผู้เสียชีวิต 1 ราย โดยผู้ที่เสียชีวิตมีปัจจัยเสี่ยงเป็นโรคอ้วน คลินิกวินิจฉัยเป็นโรคอื่นทำให้ได้รับการรักษาช้า และยังเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลช้าด้วย

 

และเมื่อแยกสถานการณ์เป็นรายจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 9 พบว่า จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ป่วยมากสุด 139 ราย ,จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ป่วย 129 ราย , จังหวัดชัยภูมิ มีผู้ป่วย 62 ราย และจังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 49 ราย จากการสุ่มสำรวจค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายของ สคร.9 พบความเสี่ยงสถานที่ที่มีค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายไม่ได้มาตรฐาน ก็คือ ในหมู่บ้าน ชุมชน โรงพยาบาล โรงงาน และวัด ซึ่งในช่วงหน้าฝน คาดว่า จะพบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น

 

สคร.9 จึงขอเตือนประชาชน ได้ป้องกันตนเองและครอบครัวจากโรคไข้เลือดออกด้วย โดยกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ยึดหลัก 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค คือ “เก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บน้ำ” ได้แก่ เก็บบ้านให้สะอาดไม่ให้ยุงลายเข้ามาเกาะพัก , เก็บขยะ ภายในบริเวณบ้านและชุมชนให้เรียบร้อย ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และเก็บน้ำ เก็บภาชนะกักเก็บน้ำให้มิดชิด ป้องกันยุงลายไปวางไข่ และให้สำรวจแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายทุกสัปดาห์ ขัดล้างภาชนะกำจัดไข่ยุงลายที่เกาะภาชนะ และใส่ทรายกำจัดลูกน้ำ ทายากันยุง กับนอนในมุ้งหรือนอนในห้องที่มีมุ้งลวดกันยุง จะทำให้สามารถป้องกันได้ทั้ง 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา

 

แต่ทั้งนี้ หากสังเกตว่ามีอาการป่วย มีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย หน้าแดง และอาจมีจุดแดงเล็กๆ ขึ้นตามลำตัว คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง เบื่ออาหาร หากมีไข้สูงลอยเกิน 2 วัน และเช็ดตัวหรือกินยาลดไข้แล้วไข้ไม่ลดลง ขอให้คิดว่าอาจป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ไม่ควรซื้อยาลดไข้ในกลุ่มแอสไพริน ไอบูโพรเฟน และไดโคลฟีแนค มารับประทาน และให้รีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์หรือสถานบริการสาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน เพื่อให้ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง และรวดเร็ว จะช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตได้ ซึ่งสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

 

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube