fbpx
Home
|
เศรษฐกิจ

ธปท.เร่งสถาบันการเงินดูแลลูกหนี้ตามแผนฟื้นฟู

Featured Image
ธปท. เร่งสถาบันการเงินดูแลลูกหนี้ตามแผนฟื้นฟูจากโควิด-19 ล่าสุด ช่วยแล้ว 11,542 ล้านบาท ชี้ การกระจายวัคซีนสำคัญต่อการฟื้นเศรษฐกิจ

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ทางธปท. และสมาคมธนาคารไทย ได้หารือร่วมกันเพื่อเร่งให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 ให้เร็วขึ้น และกระจายเป็นวงกว้างมากขึ้น หลังจากที่มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อฟื้นฟู และโครงการพักทรัพย์พักหนี้

ได้ดำเนินการผ่านมาแล้ว 3 สัปดาห์ นับตั้งแต่ 26 เมษายน 2564 โดย ณ วันที่ 17 พฤษภาคม 2564 ยอดการให้ความช่วยเหลือจากมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูฯ มีทั้งสิ้น 11,542 ล้านบาท ครอบคลุมลูกหนี้ 5,465 ราย คิดเป็นยอดสินเชื่อเฉลี่ย 2.1 ล้านบาทต่อราย โดยร้อยละ 63 กระจายลงไปยัง SMEs ขนาดเล็ก

ขณะที่โครงการพักทรัพย์พักหนี้ มีมูลค่าทรัพย์สิน ที่ได้รับโอน 753.12 ล้านบาท จำนวนผู้ได้รับความช่วยเหลือ 2 ราย ในช่วงที่ผ่านมา การดำเนินมาตรการอาจยังไม่ทันต่อความคาดหวังของผู้ประกอบธุรกิจ ส่วนหนึ่งเกิดจากแนวโน้มของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังซบเซา เนื่องจากมาตรการด้านสาธารณสุข ที่ยังเข้มงวดเพราะการแพร่ระบาดระลอก 3 ทำให้ความต้องการสำหรับสินเชื่อฟื้นฟูอาจยังไม่มากนัก

อย่างไรก็ตาม ทางธปท. ได้ให้สถาบันการเงิน เร่งรัดกระบวนการพิจารณา และหาข้อสรุปกับลูกหนี้โดยเร็ว รวมถึงสื่อสารทำความเข้าใจกับพนักงานสาขาในการให้ข้อมูลกับผู้ประกอบการ เพื่อให้ความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็วเพียงพอ

 

ธปท.ชี้การกระจายวัคซีนสำคัญต่อการฟื้นเศรษฐกิจ นโยบายดอกเบี้ยยังต่ำต่อเนื่องอีก 1-2 ปี ห่วงหนี้ครัวเรือนสูง

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าผลกระทบจากโควิด 19 ระดับที่ 3 ทำให้มุมมองที่มีต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเปลี่ยนไป เพราะโควิด-19 กระทบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเฉพาะภาคบริการถึงแม้ว่าจะมีภาคการส่งออกเข้ามาช่วยสนับสนุน ทำให้เศรษฐกิจไม่ทรุดตัวลงมาก แต่ก็ไม่สามารถพยุงเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดี

โดยทางธปท. เห็นว่านโยบายสำคัญที่มีผลกับการฟื้นตัวเศรษฐกิจคือการกระจายวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้นในประเทศ ซึ่งหากรัฐบาลสามารถทำได้ตามแผน ปลายปีนี้สามารถฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้ครบ 100 ล้านโดส เชื่อว่าจะเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคบริการท่องเที่ยว GDP จะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 2 แต่หากไม่สามารถกระจายวัคซีนได้ตามแผน GDP ของประเทศมีโอกาสปรับตัวต่ำลง และเป็นเงื่อนไขสำคัญในการขยายตัวทางเศรษฐกิจของปีหน้า

นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายการเงิน การคลัง รวมถึงนโยบายของสถาบันการเงินต่างๆในการปล่อยสินเชื่อ จะมีส่วนทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.5 เวลานี้ถือว่าต่ำที่สุดแล้ว และคาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำไปอีก 1-2 ปี เพราะไม่เห็นว่าเศรษฐกิจจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างชัดเจน

และจากเศรษฐกิจที่ยังเปราะบางทางธปท. มีความเป็นห่วงในเรื่องของหนี้ครัวเรือน ซึ่งเวลานี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ส่วนบุคคลระยะสั้นที่ไม่มีหลักประกัน เป็นการกู้เพื่อใช้จ่ายในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคและเมื่อหนี้ในส่วนนี้ขยายตัวมากขึ้นการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศจะยิ่งลดลง ส่งผลกับเศรษฐกิจในภาพรวม จึงต้องมีการจับตาปัญหาดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube