fbpx
Home
|
อาชญากรรม

สภาทนายความฯ จ่อยื่น 6 ข้อ ช่วย ปชช. รับผลกระทบ “กากแคดเมียม”

Featured Image
นายกสภาทนายความฯ เตรียมยื่นหนังสือ 6 ข้อ ช่วยเหลือด้านกฎหมาย ปชช. ได้รับผลกระทบจากการขนย้ายกากแร่แคดเมียม จี้ตรวจเลือดและปัสสาวะทุกคนไม่ใช่การสุ่มตรวจ

 

 

วันนี้ (18 เม.ย. 67) นายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ พร้อมด้วย นายสัญญาภัชระ สามารถ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ นางทัดดาว จตุรภากร กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม และผู้เกี่ยวข้องร่วมกันแถลงข่าวการให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย กรณีได้รับผลกระทบจากการขุดและส่งต่อกากแร่แคดเมียม จากบ่อฝังกลบโรงงานถลุงแร่สังกะสีใน จ.ตาก พร้อมเสนอข้อเรียกร้องมาตรการด้านกฎหมาย

 

นายวิเชียร กล่าวว่า จากกรณีการลักลอบขนย้าย “กากเเคดเมียม” จากสถานที่ฝังกลบในพื้นที่ จ.ตาก ไปยังพื้นที่โรงงานใน จ.สมุทรสาคร จ.ชลบุรี และกรุงเทพมหานคร ซึ่งก่อให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมาย โดยสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะเป็นองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จึงมีภาระบทบาทสำคัญในฐานะองค์การด้านกฎหมาย คือ ปกป้อง คุ้มครองประโยชน์สาธารณะและประชาชน

 

ประกอบกับมีความเกี่ยวข้องกับกรณีแร่กากแคดเมียมมาตั้งแต่ปี 2552 เนื่องจากได้รับข้อร้องขอช่วยเหลือทางกฎหมายจากชาวบ้านในพื้นที่ ต.แม่กุ ต.แม่ตาว ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก รวมกว่า 1,000 คน ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่สังกะสี และได้ยื่นฟ้องคดีเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ชาวบ้านจำนวน 6 คดี ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ซึ่งมี 3 คดีสิ้นสุดในชั้นอุทธรณ์ โดยศาลอุทธรณ์แผนกคดีสิ่งแวดล้อมมีคำพิพากษาให้ผู้ประกอบการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ชาวบ้าน ส่วนอีก 3 คดี อยู่ระหว่างการวินิจฉัยของศาลฎีกา

 

โดยสภาทนายความได้มีการหารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดยคดีอาญา ให้ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษดูแลส่วนคดีปกครองและคดีเพ่ง ขอให้สภาทนายความฯดูแล โดยกําหนด 6 แนวทาง ดังนี้ 1.จะได้แต่งตั้งคณะทำงานให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย 2.จะดำเนินการเรียกร้องและดำเนินคดีตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมกับเจ้าของหรือผู้ครอบครองมลพิษหรือแหล่งกำเนิดมลพิษ 3.จะดำเนินการเรียกร้องและดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐหรือหน่วยงานรัฐที่อนุญาตให้ขนย้าย 4.ขอเรียกร้องให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ทำการตรวจเลือดและปัสสาวะประชาชน จ.ตาก และชุมชนโดยรอบโรงงานถลุงแร่สังกะสี ที่ได้รับผลกระทบ

 

5.ขอเรียกร้องให้ภาครัฐให้ผลักดันและผ่านการออกกฎหมายเกี่ยวกับการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ เพื่อเป็นมาตรการให้ผู้ประกอบการต้องเปิดเผยข้อมูลการปล่อยมลพิษที่เกิดจากการผลิตในโรงงานและตรวจสอบบ่อดักตะกอนแคดเมียมและบ่อฝังกลบกากตะกอนแคดเมียมในบ่อฝังกลบภายในโรงงานว่าปฏิบัติตามขั้นตอนของรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสุดท้ายขอให้นํากากแคดเมียมทั้งหมดที่ตรวจพบไปกำจัดหรือฝังกลบในโรงงานที่มีใบอนุญาตประเภท 101 หรือโรงงานปรับคุณภาพของเสียรวม “Central Waste Treatment” ฝังกลบกากของเสียอันตรายเท่านั้น

 

ด้าน นางทัดดาว กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนว่าขณะนี้ทราบว่ามีการสุ่มตรวจประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งส่วนตัวมองว่าควรจะต้องตรวจทุกคนแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ รวมถึงผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบคุ้มครองด้านสุขภาพ แม้จะต้องใช้เวลา 5-10 ปี ก็ตาม เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดของประชาชน ขณะที่ ว่า ร.ต.สมชาย อามีน ประธานอนุกรรมการฝ่ายคดีและปฏิบัติการ กล่าวทิ้งท้ายฝากถึงผู้เกี่ยวข้องให้ดําเนินการตรวจสอบหลุมฝั่งกลบต่างๆว่ามีการแอบลักลอบขุดแคดเมียมออกมาใช้ประโยชน์หรือไม่

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube