fbpx
Home
|
อาชญากรรม

สตช. ยอมรับ ตร.บางนายไม่แม่นกฎหมายบุหรี่ไฟฟ้า

Featured Image
ฝ่ายกฎหมาย สตช. ยอมรับ มีตำรวจบางนายไม่แม่นข้อกฎหมายบุหรี่ไฟฟ้า เตรียมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คลี่คลายความชัดเจน แต่ยืนยัน ยังเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ไม่สามารถนำเข้าประเทศได้

 

 

พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี (กมค.) เปิดเผยถึงกรณีที่ ส.ส.เอกภพ เพียรพิเศษ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 1 จ.เชียงราย อ้างเอกสารจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถจับกุมหรือดำเนินคดีกับผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้า หรือผู้ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ทั้งในสถานที่ส่วนตัว และสาธารณะได้

รวมถึงประเด็นความผิดพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 และที่แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 242 และ 246 นั้น เมื่อตำรวจจะจับกุมผู้ต้องหาที่กระทำความผิด ต้องมีคำสั่งจากอัยการที่สั่งให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาผู้ต้องหาในความผิดฐานดังกล่าวด้วยนั้น

พล.ต.ท.ไตรรงค์ ยืนยันว่า ตำรวจยังมีอำนาจในการจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร รวมทั้งยังมีความผิดตามพ.ร.บ.ศุลกากร พ.ร.บ. กระทรวงพาณิชย์ และพ.ร.บ.กระทรวงสาธารณสุข

แต่ยอมรับว่า อาจมีตำรวจบางนายที่ไม่แม่นยำข้อกฎหมาย เข้าไปจำกุมผู้ต้องหา แล้วแจ้งดำเนินคดีตามมาตรา 242 ว่าด้วย ผู้ใดนำเข้ามาหรือส่งออกไปนอก ราชอาณาจักรซึ่งของที่ยังไม่ได้ผ่านพิธีการศุลกากรหรือเคลื่อนย้ายของออกไปจากยานพาหนะคลังสินค้าทัณฑ์บนโรงพักสินค้าที่มั่นคงท่าเรือรับอนุญาตหรือเขตปลอดอากรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากรต้องระวังโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีหรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของ ซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วหรือทั้งจำทั้งปรับและให้ริบของนั้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า สินค้าหนีภาษี

แต่ในกรณีของบุหรี่ไฟฟ้า ตามกฎหมายเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร จึงไม่สามารถเสียภาษีได้ ทำให้ตำรวจต้องแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 244 ,246 จึงจะถูกต้อง

 

ซึ่งมาตรา 244 ว่าด้วย ผู้ใดนำของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรหรือส่งของดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักรหรือนำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้นต้องระวังโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีหรือปรับไม่เกิน 500,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับและศาลอาจสั่งริบของนั้นก็ได้ไม่วาดจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่

ส่วน มาตรา 246 ว่าด้วย ช่วยซ่อนเร้นผู้ใดช่วยซ่อนเร้นช่วยจำหน่ายช่วยพาเอาไปเสียซื้อรับจำนำหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนพึ่งรู้ว่าเป็นของอันเนื่องด้วยความผิดตามมาตรา 242 ต้องระวังโทษจำคุก ไม่เกินห้าปีหรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วหรือทั้งจำทั้งปรับ

อย่างไรก็ตาม หลังจากจับกุมแล้ว ตามขั้นตอนตำรวจต้องรวบรวมพยานหลักฐานส่งให้กับพนักงานสอบสวน มีความเห็นส่งไปยังศาลเพื่อพิจารณาต่อไป หรือบางกรณีหากผู้เสียหายยินยอมเสียค่าปรับ และเข้าข่ายมีความผิด พ.ร.บ.ศุลกากร พนักงานสอบสวนก็จะส่งไปยังกรมศุลกากรให้พิจารณาอัตราโทษปรับต่อไป

พล.ต.ท.ไตรรงค์ ยังระบุอีกว่า ฝ่ายกฎหมายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับหนังสือขอความเห็นจากคณะกรรมาธิการชุดหนึ่ง เกี่ยวกับการดำเนินคดีผู้กระทำความผิดบุหรี่ไฟฟ้า เมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคม ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดทั้งหมด รวมถึงทางฝ่ายกฎหมาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติเอง ก็อยากขอความเห็นจากทางกรมศุลกากร เกี่ยวกับความชัดเจนในเรื่องด้วยเช่นกัน

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube