fbpx
Home
|
อาชญากรรม

กทม.จัดอบรมช่วยชีวิตพื้นฐาน

Featured Image
กทม. จัดอบรมเสริมทักษะการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (CPR) ให้กับนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา พร้อมช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉิน

 

 

รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เยี่ยมชมกิจกรรมโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรการปฐมพยาบาลฉุกเฉินและการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานให้กับนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา ณ โรงเรียนสุเหร่าสนามกลางลำ เขตหนองจอก กิจกรรมโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรการปฐมพยาบาลฉุกเฉินและการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน เป็นการฝึกอบรมให้นักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร

ให้มีความรู้เรื่องการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (CPR) การใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) และการปฐมพยาบาลช่วยเหลือเมื่ออาหารติดคอ เป็นการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บ ผู้ป่วยที่มีอาการภาวะหยุดหายใจกะทันหัน ผู้ที่อาหารติดคอได้อย่างทันท่วงที ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา ดังนั้นการช่วยชีวิตเบื้องต้นจึงจำเป็นอย่างยิ่ง ทั้งคนใกล้ตัวและที่พบเห็น หากได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นอย่างถูกวิธี และส่งต่อไปยังโรงพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว จะช่วยลดการสูญเสียทำให้มีโอกาสรอดชีวิตได้

 

สำหรับกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย นักเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา ครูพี่เลี้ยงศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน อาสาสมัครสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตหนองจอก รวมทั้งสิ้น 10,271 คน มีวิทยากรจากจิตอาสา 904 ศูนย์บริการสาธารณสุข 44 โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ และมูลนิธิอาสาหนองจอกราชพฤกษ์ ดำเนินการฝึกอบรมระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 ถึงวันที่ 21 ธันวาคม 2565

 

สำหรับการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (CPR) การใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) มีขั้นตอนดังนี้

1.ปลอดภัยในการเข้าไปช่วยเหลือ ตรวจสอบบริเวณที่เกิดเหตุ เช่น พื้นที่แห้งไม่เปียกน้ำ ไม่มีไฟฟ้ารั่ว ปราศจากควันไฟ คราบน้ำมัน 2.ประเมินสถานการณ์ เรียกผู้ป่วย ตรวจสอบว่าผู้ป่วยรู้สึกตัวหรือไม่ 3.ประกาศขอความช่วยเหลือ เรียกผู้ที่อยู่ในระยะใกล้เข้ามาช่วยเหลือผู้ป่วย โทร. 1669 ขอความช่วยเหลือ พร้อมนำเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) มาด้วย 4.ปั๊มหัวใจ เมื่อตรวจสอบแล้ว ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ ให้ทำการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (CPR) ทันที

 

โดยจัดท่าผู้ป่วยนอนหงาย วางสันมือข้างหนึ่งตรงครึ่งล่างกระดูกหน้าอก และวางมืออีกข้างประสานกันไว้ แขนเหยียดตรง ให้หัวไหล่อยู่เหนือผู้ป่วย แล้วกดลึกประมาณ 5-6 เซนติเมตร ความเร็ว 100-120 ครั้งต่อนาที 5.เปลี่ยนมาใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) โดยสลับกับการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (CPR) อย่างต่อเนื่อง จนกว่าผู้ป่วยจะรู้สึกตัว หรือรถพยาบาลฉุกเฉินเดินทางมาถึง

 

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube