fbpx
Home
|
คลิปข่าวทั่วไป

ลดได้ไหมค่าไฟลุง ก่อนนักลงทุนหนี

ล่าสุด จากที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. เห็นชอบ ผลการคำนวณค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ ค่า FT สำหรับงวดเดือน พ.ค. – ส.ค. 2566

 

 

ซึ่งมีแนวทางในการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. รวมอยู่ด้วย ไม่ได้มุ่งแต่ พิจารณาลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการภาคเอกชนและช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนเท่านั้น โดยการคำนวณค่าไฟกรณีศึกษาของ กกพ. มีอยู่ 3 กรณี แต่มีเพียง 2 กรณีที่ค่า FT ต่ำกว่าที่เรียกเก็บอยู่ในรอบปัจจุบัน ที่หน่วยละ 5.33 บาท แต่ก็ไม่ได้ลดลงมากนัก โดยอยู่ที่หน่วยละ 4.77 และ 4.84 บาท

 

 

ซึ่งนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้า และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น ว่า ตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขที่ลดลงค่อนข้างน้อย จึงต้องมาวางแผนในการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ตามแนวทางของ กรอ.พลังงานใหม่ โดยเฉพาะตัวเลขที่เหมาะสม เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของภาคบริการ ภาคการผลิต และภาระภาคครัวเรือน เพราะต้นทุนพลังงานเป็นปัจจัยสำคัญ การปรับค่าไฟฟ้าขึ้นจะทำให้ผู้ประกอบการประสบวิกฤติซ้อนวิกฤติ เพราะเพิ่งฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดโควิด-19 แล้วมาได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ราคาพลังงานพุ่งสูง เงินเฟ้อสูง ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงกับทุกภาคส่วนอยู่แล้ว

 

 

โดยภาคอุตสาหกรรมการผลิตทั้งขนาดใหญ่และ SMEs มีต้นทุนสูงขึ้นอย่างมาก ที่ผ่านมาได้พยายามปรับตัวมาตลอด เช่น การใช้พลังงานทดแทน การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อลดต้นทุนและลดผลกระทบต่อผู้บริโภค ซึ่งหากมีการปรับขึ้นค่า FT จะทำให้ต้นทุนการผลิตกระโดดสูงขึ้นทันที โดยในระยะสั้นราคาสินค้าและบริการต้องปรับสูงขึ้นตาม ส่งผลให้ค่าครองชีพประชาชนและเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น และผู้ประกอบการบางรายอาจไม่สามารถประคองธุรกิจต่อไปได้

 

 

ในขณะที่ระยะยาวไทยจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทั้งตลาดในประเทศและการส่งออก ไม่สามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้ เพราะต้นทุนค่าไฟฟ้าในไทยสำหรับภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจจะสูงกว่าประเทศอื่น ๆ

 

ด้านเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มองว่า แม้ค่าFTที่ศึกษาจะลดลงจากงวดเดือนม.ค.-เม.ย. แต่ก็ยังถือเป็นระดับที่สูงหากเทียบกับประเทศคู่แข่ง อย่างเวียดนามที่ค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 2.80 บาทต่อหน่วย จึงกังวลมากว่าจะกระทบต่อนักลงทุนรายใหม่ อย่างจีนและยุโรป ที่กำลังย้ายฐานการผลิต โดยนักลงทุนกลุ่มนี้ จะดูต้นทุนอย่างละเอียด ทั้งค่าแรง ค่าไฟฟ้า หากทำให้ค่าไฟฟ้าไม่ห่างจากคู่แข่งมากจะเป็นโอกาสที่ดึงการลงทุนเพิ่มขึ้น

 

 

ปธ.ส.อ.ท. ยังระบุว่า ข้อมูลการลงทุนโดยตรงจากองค์การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือ เจโทร พบว่า นักลงทุนญี่ปุ่นร้อยละ 10 จากทั้งหมดกว่า 2,000 บริษัท ย้ายฐานการผลิตออกจากไทยแล้ว เพราะปัญหาค่าแรงและค่าไฟฟ้าสูง เนื่องจากนักลงทุนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น สิ่งทอ และยังมีอีกร้อยละ 2 ที่ลดขนาดการลงทุนลง หากต้นทุนค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น กังวลว่าจะมีการย้ายฐานการผลิตเพิ่มขึ้นอีก

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube