Home
|
คลิปข่าวทั่วไป

แจกเงินหมื่น เรตติ้งพุ่งคงดอกเบี้ย ลุยงบปี 67

 

 

จับสัญญาณเศรษฐกิจไทย “วิกฤต” หรือ “ไม่วิกฤต” ผ่านการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. วันที่ 29 พ.ย.นี้

 

 

 

 

หลังจากการประชุมครั้งก่อนหน้า 27 ก.ย.ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 2.25 เป็นร้อยละ 2.50 ต่อปีโดยฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส มีมุมมองว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งสุดท้ายของปีนี้ เนื่องจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง อาจเป็นการขัดขวางการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ รวมถึงการใช้เม็ดเงินมหาศาลในการขับเคลื่อนประเทศที่อาจทำให้เงินเฟ้อขยับขึ้น มีโอกาสล่าช้า

 

 

 

 

ทั้งนี้ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.คุยกับ “ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์” อดีตคณะกรรมการนโยบายการเงินในเรื่องดังกล่าว โดย “ศ.ดร.พรายพล” เชื่อว่า การประชุม กนง. รอบนี้ 29 พ.ย.ที่ประชุมจะมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเช่นกัน

 

 

 

 

“ฟังดูแล้วน่าจะยังคงดอกเบี้ยไว้ที่เดิม เพราะว่าเท่าที่ผ่านมาก็ปรับขึ้นมาบ้าง ก็คิดว่าตอนนี้ ปัญหาเงินเฟ้อก็บรรเทาเบาบางลงไปแล้ว ในขณะที่เศรษฐกิจเอง อย่างที่เราทราบๆกันดี การขยายตัวก็ไม่ค่อยตื่นเต้นเท่าไร ชะลอตัวด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นก็คงต้องหยุดการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นไปก่อน”

 

 

 

 

นอกจากนี้ “ศ.ดร.พรายพล” ยังได้สะท้อนมุมมองถึงประเด็นที่มีการถกเถียงกันว่า เศรษฐกิจไทยขณะนี้ “วิกฤต” หรือ “ไม่วิกฤต” โดยเขายืนยันว่า ไม่ได้วิกฤต แต่ยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยชะลอตัว ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโต นั่นก็คือ การเร่งขับเคลื่อนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 เพราะขณะนี้เรื่องดังกล่าวยังไม่ผ่านสภาเลย

 

 

 

 

“ก็โดยปกติ เอามาตรฐานสากล วิกฤตมันมักจะเกิดขึ้น เมื่อจีดีพีเติบโตติดลบ เป็นอย่างนั้นจริง ซึ่งหลายประเทศก็ทำกัน หลายประเทศถึงขนาดมีคำนิยมด้วยซ้ำไป คำว่าเศรษฐกิจตกต่ำ จีดีพีจะต้องติดลบติดต่อกัน 2 ไตรมาส ถ้าจะเอาคำนิยามประเภทนี้ เราก็จะเห็นว่าจีดีพีก็ไม่ได้ติดลบสำหรับประเทศไทย ฉะนั้นก็ไม่ถึงขั้นวิกฤต แต่ว่าทุกคนก็เห็นด้วย ชะลอตัวแน่นอนอยู่แล้ว แต่ก็ยังไม่ถึงกับตกต่ำ ถ้าจะใช้ภาษาที่เขาใช้กันทั่วโลก วิกฤตคงติดลบมากและต่อเนื่อง”

 

 

 

 

ส่วนกรณีที่รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” จำเป็นที่จะต้องเร่งขับเคลื่อนนโยบายแจกเงิน 1 หมื่นบาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ให้เกิดขึ้นได้เร็วนั้น “ศ.ดร.พรายพล” บอกว่า ก็เพราะมีผลต่อคะแนนนิยมที่ได้หาเสียงไว้ ในช่วงเลือกตั้ง

 

 

 

 

“ก็ไปให้สัญญาเขาไว้ในการเลือกตั้ง ก็ไม่รู้ทำไง ตัวเองก็มาเป็นรัฐบาล ก็ต้องหาเหตุผล หรือคำอธิบายที่จะผลักดันนโยบายที่สัญญาไว้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจมันไม่ดี ชะลอตัวจริงๆ เพียงแต่ว่า เลวร้ายถึงขนาดจะต้องใช้จำนวนเงินอัดฉีดมากถึงขนาดนั้นหรือเปล่า หรือวิธีการเป็นเช่นนั้นหรือเปล่า ก็เป็นอีกประเด็นนึง”

 

 

 

 

จากนี้ต่อไปจะต้องจับตาความคืบหน้าประเด็นการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ตอย่างใกล้ชิด หลังนายกรัฐมนตรี “เศรษฐา” ชี้แจงว่า ดิจิทัลวอลเล็ตยังอยู่ในไทม์ไลน์เดิม แต่ยอมรับช้าไปบ้าง หลังล่าสุดพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ยังไม่ส่งไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกานั่นเอง

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

 

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube