fbpx
Home
|
คลิปข่าวทั่วไป

ฝุ่น PM2.5 ต้นตอสารก่อมะเร็ง

ฝุ่นละอองถือเป็นมลพิษทางอากาศที่เป็นปัญหาหลักในกรุงเทพมหานครและชุมชนขนาดใหญ่ ซึ่งฝุ่นละอองที่อยู่ในบรรยากาศรอบ ๆ ตัวเรานั้น มีขนาดตั้งแต่ 0.002 ไมครอน ไปจนถึงขนาดใหญ่กว่า 500 ไมครอน

 

 

 

 

 

 

โดยปกติแล้วฝุ่นที่มองเห็นด้วยตาเปล่ามีขนาดตั้งแต่ 50 ไมครอนขึ้นไป แต่ฝุ่น PM 2.5 เป็นฝุ่นที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน จึงมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า และขนจมูกไม่สามารถกรองได้ PM2.5 จึงสามารถแพร่กระจายเข้าสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือด และแทรกซึมสู่กระบวนการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรังและมะเร็งได้

 

 

 

ในปี พ.ศ. 2556 องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้ฝุ่น PM2.5 อยู่ในกลุ่มสารก่อมะเร็ง ทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งปอด เพราะฝุ่นPM2.5 สามารถทำหน้าที่เป็นตัวกลางพาสารอื่น ๆ เข้าสู่ปอด เช่น โลหะหนัก อย่าง ปรอท และแคดเมียม

 

 

 

ฝุ่น PM2.5 นั้นมีแหล่งกำเนิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ เช่น การเผาไหม้จากเครื่องยนต์ดีเซลที่ไม่สมบูรณ์ การเผาไหม้จากโรงงานอุตสาหกรรม และโรงไฟฟ้าที่ไม่มีกระบวนการกรองฝุ่น PM2.5 ก่อนออกสู่ชั้นบรรยากาศ การเผาเศษซากวัชพืชทางการเกษตร รวมถึงไฟป่า การเผาไหม้เหล่านี้ทำให้เกิดฝุ่น PM2.5 ลอยขึ้นสูง และถูกกระแสลมพัดออกไป

 

 

 

 

โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว ประเทศไทยจะได้รับความกดอากาศสูงจากทางตอนเหนือแผ่ลงมาปกคลุมไปทั่วพื้นที่ของประเทศ ทำให้รูปแบบการเคลื่อนตัวของชั้นบรรยากาศด้านบนเกิดการเปลี่ยนแปลง พื้นดินคายความร้อนออกมาอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้อุณหภูมิเหนือพื้นดินเย็นกว่าชั้นบรรยากาศด้านบน เนื่องจากมีการคายความร้อนของพื้นผิวโลก

 

 

 

จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผันขึ้น เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตรงข้ามกับเหตุการณ์ของอุณหภูมิปกติในชั้นบรรยากาศ ส่งผลให้เกิดลักษณะคล้ายเพดานห้องที่กักฝุ่นละอองหรือแก๊สมลพิษที่ก่อตัวในระดับพื้นผิวโลกไม่ให้ลอยขึ้น การไหลเวียนและถ่ายเทของอากาศไม่ดีหรือเรียกว่า “อากาศปิด” จึงทำให้เกิดการสะสมของฝุ่นละออง หมอก และควัน ในบรรยากาศมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าปกติ

 

 

 

เมื่อดูจากปัจจัยแวดล้อมทั้งฤดูกาล ความกดอากาศ กิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและนอกประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าวงรอบคุณภาพอากาศของประเทศไทยมีโอกาสเกิดฝุ่นละออง PM2.5 ต่อเนื่องตลอดปี โดยมีแนวโน้มที่จะพุ่งขึ้นในช่วงต้นปี และลดต่ำลงในช่วงกลางปีที่เป็นฤดูฝน

 

 

 

นอกจากนี้ กรุงเทพเป็นเมืองมีอาคารสูงล้อมรอบจำนวนมาก จึงไม่มีที่ให้ลมถ่ายเท และระบายอากาศได้อย่างสะดวกเพียงพอ ส่งผลให้มลพิษ และฝุ่น ควันต่าง ๆ ไม่สามารถระบายออกไปได้ ขณะที่การเผาขยะ เผาไร่อ้อย ไร่ข้าวโพด ในช่วงหน้าหนาว โดยเฉพาะทางภาคเหนือของไทย ก็ส่งให้ค่าฝุ่น PM 2.5 สูงเกินกว่ามาตรฐานปกติด้วย

 

 

 

 

ซึ่งองค์การอนามัยโลกก็ได้ระบุไว้ว่าในภาวะที่เกิดมลพิษทางอากาศควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง แต่ในผู้ที่จำเป็นต้องอยู่กลางแจ้ง ควรสวมใส่หน้ากากอนามัยประเภท N95 ซึ่งหน้ากากชนิดนี้ต่างจากหน้ากากอนามัยที่ใช้กันทั่วไป เนื่องจากสามารถป้องกันฝุ่นขนาด 0.1 – 0.3 ไมครอน ได้ 95% และถ้าเป็นไปได้ ควรลดระยะเวลาในการทำกิจกรรมกลางแจ้ง พร้อมกับสังเกตตนเองอยู่ตลอดว่าหากมีอาการผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์ทันที

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

 

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube